ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางบก ปรับเงื่อนไขการรับจดทะเบียนรถตุ๊กตุ๊ก กำหนดเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 125 ซีซี ส่วนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ขนาดมอเตอร์ต้องไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ เพื่อความเหมาะสมและความปลอดภัยในการนำมาใช้งานบนท้องถนน

กรมการขนส่งทางบก ปรับเงื่อนไขการรับจดทะเบียนรถตุ๊กตุ๊ก กำหนดเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 125 ซีซี ส่วนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ขนาดมอเตอร์ต้องไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ เพื่อความเหมาะสมและความปลอดภัยในการนำมาใช้งานบนท้องถนน

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ปรับลดขนาดเครื่องยนต์ของรถยนต์สามล้อนั่งส่วนบุคคล และรถยนต์สามล้อบรรทุกส่วนบุคคล ที่สามารถนำมาจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จากเดิมกำหนดให้รถสามล้อส่วนบุคคลต้องมีเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) โดยปรับลดขนาดเครื่องยนต์ขั้นต่ำที่สามารถนำมาจดทะเบียนได้เป็นไม่ต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) และกำหนดเพดานขั้นสูงไม่เกิน 660 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานและเทคโนโลยีการผลิตรถในปัจจุบัน ทั้งนี้ รถยนต์สามล้อที่จะนำมาจดทะเบียนต้องมีความมั่นคงแข็งแรง และไม่ดัดแปลงมาจากรถจักรยานยนต์ (รถสกายแลป) โดยมีขนาดตัวรถกว้างไม่เกิน 2 เมตร ยาวไม่เกิน 4 เมตร และสูงไม่เกิน 2 เมตร กรณีเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่ต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) แต่ไม่เกิน 660 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) และต้องมีกำลังสุทธิของเครื่องยนต์ (Net Power) ไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ กรณีที่เป็นรถที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังพิกัดต่อเนื่องสูงสุดของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ โดยทั้งสองกรณีต้องสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักรถรวมบรรทุกตามที่ผู้ผลิตกำหนดด้วยความเร็วสูงสุดได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที นอกจากนี้ สีของรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลต้องแตกต่างจากสีของรถยนต์รับจ้างสามล้ออย่างชัดเจน และต้องพ่นข้อความระบุการเป็นรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลด้วย

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล เป็นรถที่ได้รับผ่อนผันการงดรับจดทะเบียน จึงมีการควบคุมการจดทะเบียนรถไว้เป็นพิเศษ โดยผู้ขอจดทะเบียนจะต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น และความสม่ำเสมอในการใช้รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล และจะพิจารณาอนุญาตให้จดทะเบียนได้ตามจำนวนที่มีความจำเป็นต้องใช้รถอย่างแท้จริงเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้นำรถยนต์ที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลไปใช้เพื่อการรับจ้าง สำหรับรถของส่วนราชการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชนและหน���วยงานอื่นของรัฐ ที่มิได้ใช้รถในทางการค้าหรือหากำไร มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือโรงเรียนที่ต้องมีรถไว้ใช้เพื่อประกอบการศึกษา หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สภากาชาดไทย หรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล องค์การระหว่างประเทศ หรือทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประจำอยู่ประเทศไทย วัด มูลนิธิ มัสยิด หรือมิซซัง นายทะเบียนสามารถอนุญาตให้จดได้นิติบุคคลละไม่เกิน 10 คัน นับรวมที่จดทะเบียนไว้เดิมแล้ว หากมีความจำเป็นต้องการจดทะเบียนรถเกินกว่า 10 คัน หรือกรณีรถของนิติบุคคลอื่นนอกจากที่กล่าวข้างต้น รวมถึงกรณีการขอจดทะเบียนรถยนต์สามล้อของบุคคลธรรมดา ต้องได้รับเห็นชอบจากอธิบดีกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ โดยผู้ขอจดทะเบียนสามารถยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อขอความเห็นชอบการจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานขนส่งทุกแห่ง ประกอบด้วย หนังสือชี้แจงการใช้รถ แผนที่การใช้รถ ภาพถ่ายกิจการ และภาพถ่ายรถ หลักฐานประจำตัวเจ้าของรถ ได้แก่ ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน และภาพถ่ายหรือสำเนาทะเบียนบ้าน หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หลังจากได้รับความเห็นชอบแล้วจึงดำเนินการจดทะเบียนรถได้ตามขั้นตอน ซึ่งในปัจจุบันมีรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกจำนวนทั้งสิ้น 1,640 คัน (สะสม ณ วันที่ 21 มกราคม 2560) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0 2271 8888 ต่อ 2313


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog