ไม่พบผลการค้นหา
สัมภาษณ์เจ้าของ “สาธรยูนีค” ตึกร้างที่มิวเซียมสยามจัดให้เป็นสัญลักษณ์ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

สัมภาษณ์เจ้าของ “สาธรยูนีค” ตึกร้างที่มิวเซียมสยามจัดให้เป็นสัญลักษณ์ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ก่อนปี 2540 ตึกสาธรยูนีคกำลังเร่งก่อสร้างด้วยเงินลงทุน 1,800 ล้านบาท หากไม่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ตึกนี้จะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญกลางกรุงเทพฯ หลังรัฐบาลลอยตัวค่าเงินบาทและสั่งปิด 56 สถาบันการเงิน เจ้าของสาธรยูนีค เปิดเผยตึกที่ไม่มีปัญหาทางธุรกิจ กลับถูกนำไปรวมกับ NPA (ทรัพย์สินด้อยคุณภาพหรือทรัพย์สินรอการขาย) อย่างไม่เป็นธรรมและเสียโอกาสทางธุรกิจมา 20 ปี  หากต้องแก้ปัญหาตึกร้างเวลานี้ต้องใช้เงินถึง 3,000 ล้านบาท

สัมภาษณ์ นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ กรรมการบริหารบริษัท สาธรยูนีค จำกัด เจ้าของโครงการ สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ในโอกาสที่ตึกแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

-มิวเซียมสยามจัดให้ “สาธรยูนีค” เป็นสัญลักษณ์วิกฤตต้มยำกุ้ง
 
ได้รับการติดต่อจากมิวเซียมสยามขออนุญาตใช้ตึกเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้งและใช้เป็นสถานที่เสวนาเปิดแถลงข่าวในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งก็ได้อนุญาตให้มิวเซียมสยามใช้ตึกเป็นสัญลักษณ์และจัดแถลงข่าวเพราะเห็นด้วยกับจุดประสงค์ที่ต้องการเตือนความจำให้สังคมไทยทราบว่า เราได้เคยผ่านเหตุการณ์ช็อคประเทศ มาถึง 20 ปีแล้ว

-ก่อนจะกลายเป็นตึกร้าง
  
ตึกนี้ เปิดตัวปี2534 เริ่มสร้างปี 2535 สร้างมาเรื่อยๆ และหยุดสร้างครั้งแรกปี 2536 สถาบันการเงินหยุดปล่อยเงินกู้ไประยะหนึ่ง เพราะคุณพ่อ(อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ) ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการจ้างวานฆ่านายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา เมื่อคุณพ่อได้รับการประกันตัว ทางสถาบันการเงินจึงได้ปล่อยเงินกู้มาสร้างต่อและลูกค้าก็ผ่อนจ่ายมาเยอะถึง 50% ของราคาแต่ละยูนิต ขณะที่ปกติโครงการอื่น ลูกค้าผ่อนเพียง 30% 

ส่วนคดีที่เคยถูกกล่าวหาซึ่งส่งผลให้ตึกหยุดสร้างในครั้งแรก คดีความได้จบลงเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553  ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับศาลชั้นต้น ยกฟ้องคุณพ่อ 

ตึกสาธรยูนีคสร้างด้วยเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,800 ล้านบาท เซ็นสัญญากู้เงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม็กซ์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 640 ล้าน ซึ่งเป็น 60 % ของเงินลงทุน เบิกมาแล้วเพียง 441 ล้าน ยังเหลืออีก 199 ล้านบาทที่ยังไม่ได้รับ ก็เกิดเหตุการณ์รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทและสั่งปิด 56 สถาบันการเงิน ส่งผลให้ไทยแมกซ์ซึ่งเป็น 1 ใน 56 สถาบันการเงินถูกรัฐบาลปิดลงในปี 2540


  
สาธรยูนีค หยุดสร้างตอนรัฐบาลมีคำสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ การก่อสร้างหยุดทันที ทั้งที่ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% ซึ่งตามกฎหมายปฏิรูปสถาบันการเงิน ถ้าดูสภาพของโครงการนี้ รัฐควรจะต้องช่วยสนับสนุนให้สร้างไปจนเสร็จ เหมือนรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ช่วย AIG ** คือช่วยให้ผ่านไปเพราะจะไปถึงฝั่งอยู่แล้ว แต่นี่ไปลากมากลางทะเลเพราะกลัวว่าของอื่น ๆ ที่อยู่กลางทะเลจะขายไม่ออก คือเอาสาธรยูนีคไปคละกับทรัพย์สินด้อยคุณภาพอื่น ๆ แล้วคละขายยกตะกร้ายกเข่งกับ NPA (Non-Performing Asset) ทรัพย์สินด้อยคุณภาพ เพราะถ้าทรัพย์สินเหล่านั้นอยู่โดดๆ ภาครัฐก็คงเกรงว่าจะขายไม่ออก ต้องมีของดีๆ มาผสม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตึกนี้ตึกเดียว คงจะมีอีกเยอะ ถ้าตอนนั้นไม่หยุดสร้าง ไม่น่าจะเกิน 6 เดือนสาธรยูนีคสร้างก็จะเสร็จสมบูรณ์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บรรดาลูกค้า500 กว่ารายไปได้

ก่อนจะหยุดสร้าง มีการติดตั้งบันไดเลื่อนไปแล้ว มีการนำเครื่องลิฟท์พร้อมสมองกลราคาหลายล้านติดตั้งไปเรียบร้อย คือทั้งหมดใกล้เสร็จแล้ว แต่หลังจากหยุดชะงัก ลิฟท์ก็ถูกขโมยไปในช่วง 10 ปีแรกที่หยุดสร้าง เราเข้าไปเคลียร์ เห็นอะไรพังก็ต้องรื้อ ทิ้ง ขายเป็นเศษเหล็ก ปัจจุบันกรรมสิทธิ์เป็นของบริษัทสาธรยูนีค ซึ่งครอบครัวถือหุ้นใหญ่
** ปี 2551 ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ให้บริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป  หรือ AIG กู้ 85,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันปัญหาการล้มละลาย 

-ทางออกเพื่อจบปัญหา

ตอนนี้อยู่ระหว่างแก้ปัญหา เรื่องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่อีกทางออกหนึ่งหากจะจบปัญหาได้ทันทีคือ ต้องขายตึกให้บุคคลที่ 3 ในราคา 3,000 ล้านบาท แล้วเอาเงินมาแบ่งชดใช้ให้เจ้าหนี้ทุกราย ที่ผ่านมามีคนติดต่อเยอะแต่หลายคนอยากซื้อราคาถูก ขณะที่เราจำเป็นต้องใช้หนี้โดยคำนึงถึงลูกค้าที่ผ่อนกับเราตั้งแต่ตอนสร้างตึก จึงไม่ได้ตัดสินใจเลือกกระบวนการฟื้นฟูซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันทั่วโลก คือ เป็นกระบวนการที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทุก ๆ ฝ่ายรู้สึกว่ามันยุติได้ แต่เป็นธรรมหรือเปล่านี้อีกเรื่องหนึ่ง 

มองว่า กระบวนการที่มีการทำแผนฟื้นฟู สร้างหนึ้สินล้นพ้นตัว แล้วใช้กลไกทางอำนาจของระบบยุติธรรมบังคับให้ทุกฝ่ายลดมูลหนี้ลง ด้วยวิธีนี้โดยทั่วไปที่ทำกันก็มักจะเป็นการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหนี้รายใหญ่ เอารัดเอาเปรียบเจ้าหนี้รายย่อย ผ่านกระบวนการตามกฎหมาย ดังนั้น ด้วยวิธีที่เป็นกระแสหลักที่มักจะทำกันในวงการธุรกิจในช่วงหลังวิกฤตินั้น จึงทำให้ การใช้หนี้อาจจะไปไม่ถึงลูกค้าเพราะเพียงแต่ใช้หนี้เจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น บริษัทก่อสร้างและสถาบันการเงินซึ่งเรียกดอกเบี้ยเงินก็คงจะหมดแล้ว สิ่งที่คิดว่าควรจะเป็นตอนนี้คือ จ่ายเงินคืนให้ลูกค้า 500 กว่าราย จาก 600 กว่ายูนิต ซึ่งบางคนคนซื้อหลายห้องในตอนนั้น แม้จะไม่ได้ห้อง ไม่ได้ดอกเบี้ย แต่อย่างน้อยก็ต้องการให้เขาได้เงินคืน เท่ากับเงินที่เขาจ่ายมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

-ลูกค้า “สาธรยูนีค” ที่เคยจ่ายเงินมาแล้วส่วนใหญ่มองอย่างไร

ลูกค้า 90 % อยากจบตามที่เราเสนอ ทุกคนก็รอมานาน เหตุที่รอ เพราะเห็นกรณีอื่นๆ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เยอะมากที่ผู้คนไม่ได้อะไรเลย คือตึกก็หายไปเลย แต่สำหรับตึกสาธรยูนีคนี้ยังมีความหวัง ส่วนจะพอใจหรือไม่นั้น คิดว่า 90 % คงจะพอใจ เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์คล้ายแบบนี้เกิดขึ้น แล้วลูกค้าโครงการมักจะไม่ได้อะไรเลย เนื่องจากกระบวนการตามกฎหมาย ถ้าไปจนสุดทาง จะขายทอดตลาดหรืออะไรก็แล้วแต่ เงินทั้งหมดที่ได้จะต้องไปสู่เจ้าหนี้ที่มีหล���กประกันก่อนเป็นลำดับแรก เต็มจำนวน ส่วนที่เหลือจึงสามารถมาเฉลี่ยให้เจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเงินไปถึงเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน ก็หมดแล้ว อาจไม่พอด้วยซ้ำ จะเป็นอย่างนี้ตลอด ทุกกรณี ทุกตึก มีบางโครงการจะเข้า “ฟื้นฟู” มหากาพย์ พอๆ กับสาธรยูนีค  แต่มี 4-5 พันยูนิต ยืนพรายอยู่นาน ตึกถูกรื้อหายไป แม้แต่เศษเหล็กที่จะเอามาขายแบ่งคนละแสนสองแสนก็ไม่มี

-คดีความที่ยังต้องต่อสู้

สาเหตุที่สาธรยูนีคยังคงยืนร้างอยู่ได้  ไม่ถูกกระบวนการทางธุรกิจและกระบวนการยุติธรรมจัดการไป  ก็เพราะว่าหลังรัฐปิด 56 สถาบันการเงิน การได้รับเงินกู้ไม่เต็มจำนวนเป็นเหตุให้เราต้องไปฟ้องว่าสถาบันการเงิน  ซึ่งถูกรัฐสั่งปิดไปแล้วในฐานะที่ผิดสัญญา ในขณะที่สถาบันการเงินดังกล่าวก็ไม่มีตัวตนอีกต่อไปแล้ว เพราะรัฐปิดไปแล้ว แต่ทรัพย์สินซึ่งก็คือที่ดินและตึกสาธรยูนีค เป็นสินทรัพย์หลักประกันที่ถูกหน่วยงานภาครัฐที่ชื่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. เหมาเอารวมไปอยู่กับทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 56 บริษัท พร้อมกับสินทรัพย์หลักประกันอื่น ๆ ของทั้ง 56 บริษัทอีกเป็นจำนวนมาก 

หลังจากรัฐปิด 56 สถาบันการเงิน เราก็ต้องไปดำเนินการฟ้องบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ผิดสัญญาเงินกู้ ที่สัญญาว่าจะให้กู้600 กว่าล้าน แต่ปล่อยเงินแค่ 441 ล้านแล้วปิดไปทำให้เราเสียหาย แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไม่มีตัวตนแล้ว คดีจึงต้องไปตกอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูซึ่งเป็นของรัฐ ในขณะที่หน่วยงานที่เรียกว่า ปรส. ได้ดำเนินการเอาทรัพย์สินหลักประกันของเราไปขายเป็นเข่ง ในแบบลดราคาให้กับกองทุนทั้งต่างประเทศและในประเทศตามที่เคยเป็นข่าวโด่งดังมาเป็นสิบปี 

การดำเนินการทั้งหมดมีช่องโหว่ที่มีการละเมิดกฎหมายที่รัฐร่างขึ้นมาเอง ทั้งในเรื่องการชำระบัญชีก่อนและหลังเพื่อให้สามารถแยกแยะหนี้ดีและหนี้เสีย ทั้งในเรื่องการประมูลซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริษัทกองทุนรวมสามารถเข้าประมูลโดยยกเว้นภาษีให้ แต่ในทางปฏิบัติ กลับขายไปให้เอกชนแล้วและให้บรรดาเอกชนผู้ประมูลไปจดจัดตั้งบริษัทกองทุนรวม เข้ามารับสมอ้างสวมสิทธิ์ในการชนะประมูลในทรัพย์สินเหล่านั้น ทำให้รัฐสูญเสียภาษีไปเป็นหมื่น ๆ ล้านตามที่เคยเป็นข่าวมาเป็นสิบปีแล้วเช่นกัน และบรรดาองค์กรที่รัฐตั้งขึ้นหลังวิกฤต2540 ความจริงเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายเฉพาะ ที่เรียกว่าพระราชกำหนด แม้มีข้อกฎหมายกำกับควบคุม ในทางปฏิบัติแต่กลับไม่กระทำ และเนื่องจากเป็นองค์กรของรัฐ จึงทำให้มีความลำบากที่จะสู้คดี เพราะกระบวนการยุติธรรมมักจะปิดประตู

ขณะที่บริษัทกองทุนรวม ทันทีที่ชนะประมูลเป็นเจ้าหนี้รายใหม่ก็ดำเนินการฟ้องเรียกเงินคืนจากเราแทนสถาบันการเงินที่ปิดไปแล้ว กล่าวหาว่าเรากู้แล้วไม่ผ่อนชำระ เขาก็ดำเนินคดีเพื่อที่จะขายตึกทอดตลาด เราก็พยายามฟ้องเขาว่าเขาซื้อหนี้มามิชอบ เช่นเดียวกับการฟ้องกองทุนฟื้นฟู ในฐานะคู่สัญญาเดิม แล้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทำให้เราเสียหาย 

นอกจากนั้น เราไปฟ้องหน่วยงานของรัฐอีกหน่วยงาน คือ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แต่การดำเนินการเรียกร้องหาความยุติธรรมในประเทศนี้ก็ยากลำบากเพราะรัฐยืนทมึนเป็นกำแพงสูงมาก 

ปีที่แล้วมีข่าว ผู้บริหาร ปรส. ถูกพิพากษาจำคุก แต่รอลงอาญา 3 ปี (นายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 74 ปี อดีตประธาน ปรส. และนายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขาฯ ปรส.) ซึ่งกรณีนั้น ป.ป.ช. ฟ้องเอง ไม่ใช่เอกชน ซึ่งถ้าเอกชนฟ้องเองก็ยากอย่างที่บอก 

พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ และ สาธร ยูนีค ทาวเวอร์

 

-บทเรียน 20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 

เหตุการณ์หลังวิกฤตเศรษฐกิจมีอะไรน่าเรียนรู้มากกว่าตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าจะผ่านรัฐบาลขั้วไหน สีฟ้า สีแดง หรือ สีเขียว สลับกันมาเป็นรัฐบาลกันคนละ 2 รอบแล้ว ฝ่ายอำนาจถ้าไม่มาแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเรื่องแบบนี้ก็มักจะไม่มีใครอยากยุ่ง จึงไม่เคยมีใครอยากจะเข้ามาแก้ไขหรือเยียวยา

ฉะนั้น รัฐไทยไม่เคยเหลียวแล 20 ปีผ่านไปก็ยังเป็นอย่างนั้น ตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี40 คนชอบพูดว่า มันรุนแรงมาก  เพราะว่ามีคนยิงตัวตาย ผูกคอตาย 

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าคนที่เขาฆ่าตัวตายก็เพราะธุรกิจเขาล้มละลาย ตกงาน หรือเป็นหนี้ หากแต่หลังจากนั้นมาสองทศวรรษ หลังจากได้เรียนรู้สภาพหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เห็นหน่วยงานของรัฐที่ได้กระทำต่อประชาชน เห็นความเอารัดเอาเปรียบของผู้มีอำนาจในการแย่งชิงทำลายผู้อื่น เห็นกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่ชอบเอามือซุกหีบเพราะไม่อยากกวนของเสียที่ตกตะกอนให้ฟุ้งออกมา 

ผมกลับมีความคิดใหม่ว่าบรรดาคนที่เป็นหนี้คนที่ล่มจมทางเศรษฐกิจ เขาคงไม่ฆ่าตัวตายกันหรอก พวกเขาก็มีพ่อแม่มีลูกเมีย มีลูกน้องต้องดูแล การเป็นหนี้การล้มเหลวทางธุรกิจถ้าเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตายแล้ว   คงไม่มีนักธุรกิจในโลกนี้เหลืออยู่เป็นแน่ แต่ผมมีความเชื่อว่าการที่ผู้คนฆ่าตัวตายเพราะเขาไม่ได้รับความยุติธรรม และความอยุติธรรมที่ถูกยัดเยียดให้นั้นไม่ได้มาจากนายจอร์จ โซรอส หรือกองทุนต่างประเทศ แต่มันมาจากรัฐไทยนี่แหละ บรรดาคนไทยด้วยกันที่มุ่งทำลายกันเพื่อความมั่งคั่งส่วนตัวโดยใช้อำนาจไม่เป็นธรรม


ข้อมูลพื้นฐาน

  • วิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทย ที่นำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้งทยอยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2539 หลังธนาคารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ  BBC ถูกฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยข้อมูลการทุจริตภายในธนาคาร โดยมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ลูกค้าแห่ถอนเงินจนธนาคารต้องปิดกิจการ 
  • ตลอดปี 2540 สถาบันการเงินทยอยปิดกิจการระหว่างเดือมิถุนายน ถึงสิงหาคมรวม 58 แห่ง  
  • 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จากเดิมประมาณ 25.60 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 28.75 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง (ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบ Basket เป็น Managed Float)
  • สิงหาคม 2540  ประเทศไทยขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF   
  • ตุลาคม 2540  ประกาศจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน เพื่อดำเนินการกับสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 58 แห่ง ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ  มีเพียง 2 แห่ง คือ บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จ ากัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสเม้นท์จ ากัด (มหาชน)ที่สามารถเปิดดำเนินกิจการใหม่ได้ ส่วนที่เหลือ 56 แห่งเข้ากระบวนการขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชี

 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

บทความที่เกี่ยวข้อง :'สาธรยูนีค' ตึกร้างที่ไม่เคยร้าง สัญลักษณ์ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง

*ขอบคุณภาพตึกสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ จากมิวเซียมสยาม

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog