ไม่พบผลการค้นหา
นักดาราศาสตร์เคยพบแต่ดาวนิวตรอนเท่านั้นที่ปล่อยรังสีเป็นห้วงๆขณะหมุนเร็วจี๋ เรียกกันว่า พัลซาร์ ล่าสุดเจอพัลซาร์สายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่ดาวนิวตรอน แต่เป็นดาวแคระขาว

นักดาราศาสตร์เคยพบแต่ดาวนิวตรอนเท่านั้นที่ปล่อยรังสีเป็นห้วงๆขณะหมุนเร็วจี๋ เรียกกันว่า พัลซาร์ ล่าสุดเจอพัลซาร์สายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่ดาวนิวตรอน แต่เป็นดาวแคระขาว

 

ทีมวิจัยนำโดยนักดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอร์ริค ประเทศอังกฤษ ค้นพบพัลซาร์ชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อน ที่น่าแปลกคือ พัลซาร์ดวงนี้เป็นดาวแคระขาว

 

นับแต่มีการค้นพบพัลซาร์ (pulsars) เมื่อคริสตทศวรรษ 1960 วัตถุกึ่งดาวซึ่งปล่อยรังสีเป็นห้วงๆขณะหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงจำพวกนี้ มีแต่ดาวนิวตรอน

 

ดาวฤกษ์ที่มีมวลต่างกันจะมีเส้นทางพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกัน และมีบั้นปลายชีวิตผิดแผกกัน เช่น การระเบิดซูเปอร์โนวา หลุมดำ ดาวนิวตรอน ดาวแคระขาว ดาวยักษ์แดง และอื่นๆ

 

ดาวนิวตรอนเป็นบั้นปลายของชีวิตดาวฤกษ์ที่มีมวลมหาศาล เมื่อสิ้นอายุขัย ดาวแบบนี้จะเหลือแต่อนุภาคนิวตรอนเกาะกลุ่มกันแน่น แม้มีขนาดเล็ก แต่ดาวนิวตรอนมีมวลมหาศาล ขณะที่ดาวแคระขาวเป็นบั้นปลายของชีวิตดาวฤกษ์ที่มีมวลต่ำ

 

พัลซาร์ดาวแคระขาวที่เพิ่งค้นพบดวงนี้ มีชื่อว่า เออาร์ สโก (AR Sco หรือ AR Scorpii) ปรากฏตัวอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง ห่างจากระบบสุริยะของเรา 380 ปีแสง

 

พัลซาร์ดังกล่าวอยู่ในระบบดาวคู่ คือ มีดาวฤกษ์อีกดวงเป็นดาวสหาย นักนิจัยพบว่า สหายของมันเป็นดาวแคระแดง

 

ลำของรังสีที่ดาวแคระขาวดวงนี้ปล่อยออกมาให้ตรวจจับได้เป็นห้วงๆตามการหมุนรอบตัวเองของมันนั้น ส่งผลต่ออนุภาคในสนามแม่เหล็กของดาวสหายของมัน ทำให้เจ้าดาวแคระแดงสว่างและสลัวสลับกันไปทุกๆ 2 นาที

 

เออาร์ สโก มีขนาดพอๆกับโลก แต่มีมวลมากกว่าถึง 2 แสนเท่า ดาวสหายของมันมีมวลราว 1 ใน 3 ของดวงอาทิตย์ของเรา

พัลซาร์ดาวแคระขาวดวงนี้โคจรรอบดาวสหายทุกๆ 3.6 ชั่วโมง และหมุนรอบตัวเองทุกๆ 2 นาที ทั้งสองอยู่ห่างกันประมาณ 3 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์

 

เมื่อลำกระแสแม่เหล็กไฟฟ้าจากพัลซาร์พุ่งเข้าใส่ดาวแคระแดง อนุภาคอิเล็กตรอนในชั้นบรรยากาศของดาวสหายจะถูกเร่งความเร็วจนเกือบเท่าความเร็วแสง

 

รายงานตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy.

 

 

Photo: MARK A. GARLICK / European Southern Observatory

Video: nemesis maturity

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog