ไม่พบผลการค้นหา

Thailand

รู้จัก 'โรคชอบขโมยของ'
Jan 25, 2017
( Last update Jan 25, 2017 04:25 )
เคลปโตเมเนีย (Kleptomania) เป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ถูกกล่าวถึงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1816 ในฐานะความผิดปกติในการควบคุมความต้องการของตนเองจากสิ่งยั่วยุ

แก้ไขเมื่อ 12:51

คนไทยจำนวนมากประหลาดใจกับข่าวที่บุคคลระดับรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถูกตำรวจญี่ปุ่นจับในเกียวโต ระหว่างการเดินทางไปประชุมเรื่องสิทธิบัตรกับรัฐบาลญี่ปุ่น ฐานขโมยภาพวาดจากโถงทางเดินของโรงแรมญี่ปุ่น ทั้งที่ภาพดังกล่าวราคาเพียง 15,000 เยน หรือ 4,600 บาทเท่านั้น 


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่บุคคลที่มีชื่อเสียง หรือมีฐานะร่ำรวย มีสถานะทางสังคมสูง ถูกจับได้ว่าขโมยของที่ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรมากนัก ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวที่สตรีในแวดวงไฮโซคนหนึ่งขโมยของในห้างสรรพสินค้า และแฟนของเธอก็ยอมรับว่าเธอป่วยเป็นโรค "เคลปโตเมเนีย" หรือโรคชอบลักเล็กขโมยน้อย



ทีมข่าววอยซ์ทีวี ได้ติดต่อสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต โดยได้อธิบายลักษณะอาการของโรคเคลปโตเมเนียไว้ดังนี้ 

เคลปโตเมเนีย (Kleptomania) เป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ถูกกล่าวถึงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1816 ในฐานะความผิดปกติในการควบคุมความต้องการของตนเองจากสิ่งยั่วยุ

ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีพฤติกรรมแตกต่างจากนักลักเล็กขโมยน้อยทั่วไป คนเป็นโรคจะขโมยโดยไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หรือตั้งเป้าไว้ว่าจะขโมยอะไร เป็นการทำแบบปัจจุบันทันด่วนตามแรงยั่วยุในขณะนั้น ที่สำคัญก็คือผู้ป่วยเคลปโตเมเนีย ลักขโมยของเพียงเพราะต้องการ "ขโมย" และเสพ ไม่ได้ต้องการผลประโยชน์จากสิ่งของเหล่านั้น ทำให้บ่อยครั้งเราจะพบว่าผู้ป่วยลักขโมยสิ่งของที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร เช่นแก้วน้ำ จานชาม ผ้าเช็ดตัว หรือแม้แต่รีโมทโทรทัศน์

ผู้ป่วยยังสามารถมีอาการทางจิตอื่นๆร่วมด้วยได้ เช่น โรคจิตหวาดระแวง ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หรือพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม

สาเหตุของเคลปโตเมเนียอาจเกิดจากความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมอง คล้ายกับอาการโรคซึมเศร้า โรคแพนิค แต่ก็อาจเกิดจากปมในวัยเด็กได้เช่นกัน เช่นเด็กบางบนขโมยของเพื่อสร้างความอับอายให้กับผู้ปกครอง เนื่องจากต้องการแสดงออกว่าไม่พอใจพ่อแม่ของตนเอง

สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วย ทำได้ทั้งการให้ยาเพื่อควบคุมการหลั่งสารเคมีในสมอง และการรับการบำบัดจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา โดยต้องโน้มน้าวให้ผู้ป่วยกลับมายอมรับกฎกติกา กฎหมายในสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้กำลังใจผู้ป่วยว่าสามารถหายจากอาการนี้ได้หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ประณามว่าผู้ป่วยเป็นคนไร้ศีลธรรมหรือละเมิดกฎหมาย


ภาพ: AFP

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog