สรุปสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ นครศรีธรรมราช ถูกน้ำท่วมทุกอำเภอ มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ตรัง ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมากที่สุดเหตุถนนเสียหายหลายสาย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันประเมินความเสียหาย 1-1.5 หมื่นล้าน
ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559 หลายจังหวัดในภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสม ประกอบกับน้ำป่าไหลหลากทำให้หลายพื้นที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
จังหวัดที่น้ำท่วมหนักที่สุด - ยอดเสียชีวิตมากสุด
วันที่ 10 มกราคม 2560 ตามรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่เสียหายหนักที่สุด เสียหายรวม 23 อำเภอ รวม 154 ตำบล 1,284 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 125,202 ครัวเรือน คิดเป็น 359,459 คน นอกจากนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชยังเป็นจังหวัดที่มียอดผู้เสียชีวิตรวมมากที่สุดด้วยคือ 6 ราย
จังหวัดที่เส้นทางสัญจรคมนาคมเสียหายหนักสุด
จังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่ถูกตัดขาดเรื่องการสัญจร เพราะถนนเสียหาย 5 แห่ง
1. ทล.419 ตรัง – กันตรัง พื้นที่ อ.กันตรัง กม.130 - 134 ระดับน้ำสูง 100 ซม. ใช้ ทล.4261 ป่าเตียว – ทุ่งค่าย
2. ทล.419 ถ.วงแหวนรอบเมืองตรัง พื้นที่ อ.เมืองตรัง กม.2 - 5 ระดับน้ำสูง 45 ซม.เส้นทางเลี่ยง ปิดการจรจร ใช้ ทล.4046 แทน
3. ทล.4236 ถ.แพรก – ลำนาว พื้นที่ อ.ห้วยยอด กม.11 ระดับน้ำสูง 90 ซม. ไม่มีทางเลี่ยง
4. ทล.4258 บ้านซา – ควนชัน พื้นที่ อ.ห้วยยอด กม.10 – 11 ระดับน้ำสูง 90 ซม. ไม่มีทางเลี่ยง
5. ทล.4347 ตลาดฉุ้น – บ้านซา พื้นที่ อ.ห้วยยอด กม.1 – 2 ระดับน้ำสูง 55 ซม. เส้นทางเลี่ยง ใช้ ทล.4 และ ทล.4258 แทน
ประธาน กกร. ประเมินความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 หมื่นล้าน
สำหรับตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ ตามที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประเมินความเสียหายของน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ว่าอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จะไม่กระทบต่อการขยายตัวของภาพรวมเศรษฐกิจมหาภาค เนื่องจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้เกิดขึ้นเป็นบางพื้นที่และคาดว่าจะคลี่คลายได้ในระยะสั้นผ่านการร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน และเส้นทางคมนาคมต่างๆ แต่ไม่สร้างความเสียหายหรือกระทบกับเครื่องจักรหรือระบบการผลิตของภาคธุรกิจ ซึ่งการขนส่งสินค้าของภาคเอกชนอาจล่าช้าไปบ้าง แต่ได้มีการเลี่ยงเส้นทางไปยังถนนสายอื่น และคาดว่าภายในสัปดาห์นี้เส้นทางคมนาคมต่างๆจะกลับมาใช้ได้ตามปกติ
ด้านการท่องเที่ยว หลางจังหวัดที่เกิดน้ำท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่จุดท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ในปีนี้การท่องเที่ยวอาจชะลอตัวจากนโยบายปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ คาดเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวจะขยายตัว 10% มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.77 ล้านล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 34.4 ล้านคน จากปีก่อนมีจำนวนนักท่องเที่ยว 32.6 ล้านคน
ในขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยสมาคมธนาคารจะหารือกันเพื่อหามาตรการช่วยเหลือด้านการเงินกับธุรกิจที่ถูกน้ำท่วมในเร็ววันนี้
สรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในวันที่ 10 ม.ค.
สรุปน้ำท่วม 12 จังหวัด ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 1,105,731 คน เสียชีวิตแล้ว 25 ราย กรมชลฯ ยืนยันเขือนไม่แตก แค่น้ำล้นสปิลเวย์
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ฝนที่ตกหนัก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 111 อำเภอ 663 ตำบล 4,993 หมู่บ้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ถึงวันที่ 10 ม.ค. ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ยังคงมีสถานการณ์ใน 11 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 92 อำเภอ 556 ตำบล 4,299 หมู่บ้าน
อ่านเพิ่มเติม