ชาวบ้านเขตบางขุนเทียน เตรียมยื่นอุทธรณ์ เพราะยังเห็นว่าศาลปกครองกลางไม่ได้นำหลักฐานของฝ่ายผู้ร้องมาพิจารณา และไม่เคยลงพื้นที่เกิดเหตุ จึงไม่เห็นข้อเท็จจริง
เจ้าพนักงานที่ดินเขตบางขุนเทียน ยืนยันว่า การออกโฉนดที่ดิน เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และไม่ได้ออกโฉนดทับลำรางสาธารณประโยชน์ตามที่ถูกฟ้อง
ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา กรณีผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนธนบุรี 3 เขตบางขุนเทียน รวม 14 คน ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่ และกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ปล่อยให้ บริษัท นครหลวงการเคหะและที่ดิน จำกัด ถมดินรุกล้ำเข้าในลำรางสาธารณประโยชน์ รวมทั้งเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียนที่ 2 ออกโฉนดที่ดินทับลำรางสาธารณะฯ ทำให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้นได้รับความเดือนร้อน
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินฯ ให้แก่ บริษัท ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับรูปถ่ายอากาศและผลการรังวัด ก็พบว่า ที่ดินตามโฉนดไม่ทับลำรางสาธารณะฯ ตามฟ้อง ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อกล่าวหาว่า ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ละเว้นต่อหน้าที่นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นจริงตามฟ้อง เนื่องจากสภาพลำรางสาธารณะฯ มีลักษณะตื้นเขิน และมีต้นไม้ขึ้นขวางทางน้ำ แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี สำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้ทยอยขุดลอกคลอง ตามคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกคำบังคับเพิ่มเติม
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ชาวบ้านบางขุนเทียน ต่างไม่พอใจคำพิพากษา เนื่องจากหลักฐานภาพถ่ายปรากฎชัดเจนว่า มีการถมดินลงในลำรางสาธารณะฯ จนกลายเป็นที่ดินใหม่
นอกจากนี้ ศาลยังให้น้ำหนักกับหลักฐานของหน่วยงานรัฐมากกว่าของชาวบ้าน จึงเตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิากษา
ด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน และเจ้าพนักงานที่ดินฯ ซึ่งมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ ปฎิเสธให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เนื่องจากไม่มีอำนาจตามระเบียบของหน่วยงาน แต่เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่า การออกโฉนดที่ดินรวม 5 แปลงให้กับ บริษัท นครหลวงการเคหะและที่ดิน จำกัด ไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่รุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ เนื่องจากรังวัดที่ดินตามขั้นตอนของกฎหมาย และสามารถตรวจสอบได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ลำรางสาธารณะฯ แคบลง อาจเกิดจากการตื้นเขินตามธรรมชาติ เนื่องจากลำรางสาธารณะฯ สายนี้ เชื่อมต่อกับคลองสี่บาทเพียงฝั่งเดียว ส่วนอีกฝั่งเป็นทางตัน ทำให้น้ำไม่ไหลต่อเนื่องทั้งสาย
คดีข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐคดีนี้ ถือเป็นคดีแรกที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ก่อตั้งแผนกนี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554