รายงานพิเศษ ชุด คุกไทยทำลายคน ได้นำเสนอถึงปัญหาการทำร้ายร่างกายระหว่างนักโทษ การทำร้ายผู้คุม อาชญากรรมซ้ำซ้อน และการก่อจราจลในเรือนจำ ซึ่งทั้งหมด ล้วนมีต้นเหตุจากปัญหาคนล้นคุก
รายงานพิเศษ 'คุกไทยทำลายคน' ตอนที่ 1
วอยซ์ทีวีนำเสนอรายงานพิเศษ ชุด คุกไทยทำลายคน ได้นำเสนอถึงปัญหาการทำร้ายร่างกายระหว่างนักโทษ การทำร้ายผู้คุม อาชญากรรมซ้ำซ้อน และการก่อจราจลในเรือนจำ ซึ่งทั้งหมด ล้วนมีต้นเหตุจากปัญหาคนล้นคุก
จากภาพยนต์ หรือสารคดี ที่เผยให้เห็นการใช้ชีวิตของผู้ต้องขังภายในรั้วราชทัณฑ์หรือคุกไทย ทั้งที่นอน ที่กิน ล้วนสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และชัดเจนที่สุด เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผู้ต้องขังทั่วประเทศ จากกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 224,810 คน ขณะที่เรือนจำทั่วประเทศทั้ง 143 แห่ง มีศักยภาพรับผู้ต้องขังได้ 105,000 คน แสดงว่า มีจำวนผู้ต้องขังล้นคุกถึง 119,864 คน และแน่นอนว่า พื้นที่ใช้สอยของผู้ต้องขังแต่ละคนย่อมไม่ถึง 1 เมตร แม้กรมราชทัณฑ์จะกำหนดมาตรฐานไว้ที่คนละ 2.25 ตารางเมตร ส่วนมาตรฐานคณะกรรมการของยุโรปเพื่อป้องกันการทรมาน หรือ CPT กำหนดไว้ที่ 4 ตารางเมตร
อดีตผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เกือบ 1 ปี ในฐานความผิดพระราชกําหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ช่วงการชุมนุมทางการเมือง 2553 แต่สุดท้ายศาลชั้นต้นยกฟ้อง ได้ยืนยันถึงความแออันในเรือนจำที่เขาต้องทนอยู่ โดยในแต่ละวันต้องนอนเบียดกับเพื่อนผู้ต้องขังหลากคดีถึงขั้นไหล่ชนกัน ไม่สามารถขยับตัวได้ และเหตุการณ์ที่นอนหายจะเกิดขึ้นเมื่อลุกเข้าห้องน้ำ
คุณภาพชีวิตผู้ต้องขังไทย สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องคุกไทย 2554 ของ ดร.แดนทอง บรีน ประธานสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และคณะ ที่ได้ศึกษาเรื่องโทษประหารชีวิตและ สำรวจสภาพคุกในไทย ตั้งแต่ปี 2548 นำเสนอภาพรวมว่า ประเทศไทยมีปัญหาหลักคือ ผู้ต้องขังล้นคุก โดยติดอันดับ 25 ของโลก เฉลี่ย 331 คนต่อประชากร 100,000 คน เทียบกับประเทศที่มีผู้ต้องขังมากที่สุดอันดับ 1 คือสหรัฐอเมริกา เฉลี่ย 743 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่จีน เฉลี่ย 123 คนต่อประชากร 100,000 คน
ความแออัดนับเป็นสาเหตุของปัญหาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคติดต่อ เช่น วัณโรค โรคผิวหนังและยอดฮิตในหมูผู้ต้องขังคือโรคหิค หรือที่ภาษาคุกเรียกว่า "ตะมอย" เนื่องจากห้องน้ำและที่อาบน้ำไม่ถูกสุขลักษณะ ประกอบกับการดูแลด้านการพยาบาลไม่เพียงพอ ในงานวิจัยระบุชัดเจนถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ต้องขัง และสำคัญที่สุดคือ อาหารการกิน ซึ่งงบประมาณแผ่นดินที่กรมราชทัณฑ์ได้รับ ค่าอาหารต่อผู้ต้องขังเฉลี่ย 1 คน ต่อ 1 วัน อยู่ที่ 33 บาท
จากปัญหาที่อยู่แออัด นำไปสู่ความรุนแรงและความขัดแย้งทั้งผู้ต้องขังในเรือนจำ หรือผู้ต้องขังกับผู้คุม หลายปัญหาลุกลามถึงขั้นก่อจราจล ในหลายต่อเรือนจำ ล้วนมีและเมื่อสอบสวนหาสาเหตุแล้ว กลับพบว่าต้นตอของปัญหาล้วนมาจากการเรียกร้องเพียงเพื่อให้ได้มซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นคน แม้พวกเขาจะได้ชื่อว่าผู้กระทำผิด หรืออยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์ความผิด
ดังคำพูดของเนลสัน มันเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 2536 ที่ว่า เราจะไม่รู้จักประเทศหนึ่งประเทศใดอย่างแท้จริง หากไม่เคยเข้าไปยังคุกของชาตินั้น ไม่ควรตัดสินประเทศหนึ่งประเทศใดจากการปฏิบัติต่อชนชั้นสูง แต่ต่อชนชั้นต่ำ