ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องราวของที่ดินยายเนื่อม ที่กลายมาเป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นมหากาพย์เรื่องยาวนานกว่า 43 ปีมาแล้ว และมีการตรวจสอบกันมาหลายยุคหลายสมัย

เรื่องราวของที่ดินยายเนื่อม ที่กลายมาเป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นมหากาพย์เรื่องยาวนานกว่า 43 ปีมาแล้ว และมีการตรวจสอบกันมาหลายยุคหลายสมัย ล่าสุดกับมติป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย

 
 
มหากาพย์ตำนานที่ดินอัลไพน์ เป็นเรื่องยาวมานานกว่า 43 ปี เริ่มจาก นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา หรือคุณยายเนื่อม เจ้าของที่ดิน ทำพินัยกรรมถวายที่ดิน ให้กับวัดธรรมมิการามวรวิหาร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 แต่ที่ดินดังกล่าวเกือบ 1,000 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในขณะที่วัดธรรมมิการามวรวิหารหรือวัดเขาช่องกระจก ตั้งอยู่ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือว่าอยู่คนละมุมคนละแห่ง
 
 
ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2514 "ยายเนื่อม" เสียชีวิต ได้มีการยกมรดกให้กับวัด จากนั้นในปี 2531 เจ้าอาวาสต้องการขายที่ดิน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่นายเสนาะ เทียนทอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลกรมที่ดิน  ซึ่งตอนนั้นทางวัดแจ้งไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยอ้างว่าต้องการขายที่ดินนำเงินมาจัดตั้งมูลนิธิเพื่อนำเงินมาบำรุงวัด
 
 
ต่อมา ได้มีการดำเนินการให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นผู้จัดการมรดก และทำการโอนมรดกและโอนขายที่ดินให้กับ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์ สปอร์ต คลับ จำกัด ในราคา 142 ล้านบาทโดยพบว่า นางอุไรวรรณ เทียนทอง และน้องชายนายเสนาะเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัท อัลไพน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งในปี พ.ศ.2541 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์ จากนายเสนาะในราคา 500 ล้านบาท 
 
 
และจากนั้นวันที่ 20 ธันวาคม 2544 อธิบดีกรมที่ดินสั่งให้ยกเลิกโฉนดที่แบ่งแยก และเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดก และการโอนขาย แต่นายยงยุทธ ได้ออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนมากที่พักอาศัย หรือมีที่ดินในหมู่บ้านอัลไพน์ จนนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายเสนาะ และได้มีการต่อสู้กันโดยตลอด 
 
 
กระทั่งมีการยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และในช่วงที่นายถาวร เสนเนียม เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ฟื้นเรื่องขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้ง ต่อเมื่อปี 2553 ป.ป.ช. มีมติว่า นายเสนาะ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จึงได้มีการส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) แต่ อสส.สั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากคดีขาดอายุความ ป.ป.ช.จึงได้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่ได้ตัวจำเลยไปศาลภายในกำหนดอายุความ
 
 
จนล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าการกระทำของนายยงยุทธมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งพลันที่ทราบเรื่อง นายยงยุทธมีอาการกังวลในเรื่องดังกล่าวอย่างสังเกตได้
 
 
แม้ว่าจะมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.บางคนออกมาระบุว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช.ไม่ทำให้นายยงยุทธต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย
 
 
แต่การชี้มูลความผิดในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าประหลาด ที่ออกมาในช่วงที่การเมืองกำลังวุ่นวาย ซึ่งไม่เพียงเขย่าขวัญนายยงยุทธ แต่ยังสะเทือนไปถึงนายเสนาะและ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่จะพลิกพื้นความทรงจำเก่าๆ กลับมาให้สังคมได้ระลึกถึงอีกครั้ง 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog