ไม่พบผลการค้นหา
นีล ยูเลวิช ช่างภาพ AP เจ้าของภาพ "ฟาดเก้าอี้" ในตำนาน ให้สัมภาษณ์พิเศษในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ เปิดหมดเปลือกวินาทีที่เขาเข้าไปถ่ายภาพศพที่ถูกเก้าอี้ฟาดในสนามหลวง พร้อมแสดงความเห็นถึงรอยยิ้มอำมหิตของบรรดาไทยมุง ที่สะเทือนใจคนทั่วโลก

นีล ยูเลวิช ช่างภาพ AP เจ้าของภาพ "ฟาดเก้าอี้" ในตำนาน ให้สัมภาษณ์พิเศษในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ เปิดหมดเปลือกวินาทีที่เขาเข้าไปถ่ายภาพศพที่ถูกเก้าอี้ฟาดในสนามหลวง พร้อมแสดงความเห็นถึงรอยยิ้มอำมหิตของบรรดาไทยมุง ที่สะเทือนใจคนทั่วโลก

 

"คนอื่นๆถูกดึงดูดด้วยภาพของคนไทย แม้แต่เด็ก ที่กำลังยิ้มให้กับภาพที่เลวร้ายตรงหน้า แต่คุณรู้มั้ย ในไทยและอีกหลายที่ในเอเชีย รอยยิ้มอาจเป็นการอำพรางความอึดอัดใจก็ได้"

นีล ยูเลวิช

ช่างภาพเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ปี 1977

 

บทสัมภาษณ์พิเศษ นีล ยูเลวิช อดีตช่างภาพผู้ถ่ายภาพชุดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 1977ไปครอง สัมภาษณ์โดยสำนักข่าว AP ในวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ

 

คุณเห็นอะไรในวันที่ 6 ตุลาฯ?

 

จริงๆผมเป็นคนที่ไปถึงช้า นักข่าว AP อยู่ที่นั่นตั้งแต่เช้ามืด เช่นเดียวกับช่างภาพ AP ที่เป็นคนไทย พวกเขาสอบถามจากแหล่งข่าวหลายแหล่งว่าเกิดอะไรขึ้น นักข่าวย้อนกลับไปที่สำนักงานเพื่อเขียนข่าว เพราะคิดว่าสถานการณ์ไม่น่ามีอะไรแล้ว เขาโทรหาหัวหน้าสำนักงาน หัวหน้างานก็เลยให้โทรตามตัวผม ตอน 7 โมงเช้า ไม่ได้บอกผมเลยว่ามันเกิดเหตุการณ์ตลอดคืน ผมรีบคว้าอุปกรณ์แล้วก็นั่งแท็กซี่ไปธรรมศาสตร์ ตอนนั้นสถานการณ์ก็ปะทุอีกครั้ง แถวนั้นไม่มีคนของ AP เลย กองกำลังติดอาวุธบุกเข้าไปข้างใน ม็อบอยู่ข้างนอกรั้ว ส่วนนักศึกษาฝ่ายซ้ายอยู่ในมหาวิทยาลัย ตามตึก พวกกองกำลังกึ่งทหารและกลุ่มติดอาวุธระดมยิงเข้าไปในห้องเรียน มีศพเต็มไปหมด ในที่สุดนักศึกษาก็ยอมจำนน ทหารบังคับให้พวกเขานอนกับพื้นสนามฟุตบอลกลางมหาวิทยาลัย

 

 

ที่มาที่ไปของภาพแขวนคอเป็นอย่างไร?

 

ผมกำลังจะออกจากตรงนั้น ผมคิดว่า “มันจบแล้ว ฉันต้องออกจากที่นี่ก่อนจะมีใครมายึดฟิล์มไป” พอมาถึงประตูมหาวิทยาลัย ก็สังเกตเห็นความสับสนวุ่นวายที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ 2 ต้นในสนามหลวง ผมเดินไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง และเห็นผู้ชายคนหนึ่งใช้เก้าอี้ฟาดไปที่หนึ่งในร่างที่แขวนอยู่เหนือหัว ถัดไป 2 ต้นก็มีอีกร่างแขวนอยู่ พวกเขาน่าจะตายแล้วตอนนั้น 

 

 

บรรยากาศในตอนนั้นเป็นอย่างไร?

 

เหมือนมีงานเฉลิมฉลอง อย่างที่คุณเห็นในภาพนั้นแหละ คนกำลังยิ้มอยู่ มันเกือบจะเหมือนเป็นพิธีกรรมอะไรบางอย่าง มันวุ่นวายมาก ไม่มีใครห้ามผมไม่ให้ถ่ายรูป ไม่มีใครสนใจผมเลย

 

 

ไม่มีใครมองมาที่คุณ พูดกับคุณ สบตากับคุณเลยหรือ?

 

ไม่ ตอนที่ผมไปที่ต้นไม้ต้นแรก ที่เก้าอี้ถูกใช้ฟาดศพ ผมมองไปรอบๆประมาณ 15-20 วินาที เพื่อดูว่ามีใครสังเกตหรือมองผมอยู่รึเปล่า แต่ไม่มีใครมองเลย ผมเลยรีบถ่าย 2-3 รูป แล้วเดินออกมา

 

มันเป็นช่วงเวลาของการไม่มีตัวตน

 

 

คุณคิดว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

 

ความวุ่นวายของสถานการณ์ ผมไม่ได้อยู่ในเรดาร์ของใครเลยจริงๆ

 

 

นอกจากความโหดเหี้ยมที่ชัดเจนนี้ มีอะไรอีกมั้ยที่โดดเด่นออกมาในวินาทีที่เกิดเหตุการณ์นั้น?

 

ความไม่สอดคล้องกันของการถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เลวร้ายนี้ จากฉากแขวนคอ แล้วผมก็เดินไปอีกแค่ 100 หลา นั่งแท็กซี่กลับไปที่สำนักงาน เหมือนออกจากระหว่างเขาวัวเขาควายในชั่วเสี้ยวนาที

 

คุณมีปฏิกิริยายังไงกับเรื่องทั้งหมดนี้?

 

ตอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ผมอยู่ฝั่งกลุ่มติดอาวุธ เพียงเพราะว่าพวกนั้นเป็นฝ่ายยิง ผมไม่อยากอยู่ฝั่งตรงข้ามพวกเขาแน่ พอเหตุการณ์เริ่มนิ่ง ผมก็เดินไปอีกฝั่งเพื่อหามุมใหม่ในการถ่ายภาพ พอเริ่มยิงกันอีกครั้ง ผมก็เลยพบว่าตัวเองติดอยู่ในแนวปะทะ จริงๆก็ไม่ใช่แนวปะทะหรอก เพราะเกือบจะไม่มีการยิงตอบโต้มาจากฝั่งนักศึกษาเลย มีแต่กระสุนที่ทะลุทะลวงเข้าไปในชั้นเรียนที่นักศึกษานั่งอยู่ ตอนนั้นผมหมอบราบลงกับพื้น คิดว่าตายไปแล้วซะอีก มันยิงกันมั่วมากจนผมคิดว่าจะต้องโดนยิงในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้า สักพักพอการยิงเริ่มซาลง ผมเลยขยับไปตรงที่ปลอดภัยขึ้น

 

 

 และนั่นเป็นช่วงเวลาที่คุณไปเจอฉากนั้นหรือเปล่า?

 

ฉากแขวนคอน่ะหรือ? เปล่า นั่นมันนอกมหาวิทยาลัย หลังจากนักศึกษายอมจำนน และผมคิดว่า “ฉันต้องไปแล้ว มีโอกาสสูงเกินไปที่จะถูกยึดฟิล์ม” ผมไปถึงรั้วมหาวิทยาลัย แล้วถึงเห็นความวุ่นวายที่ใต้ต้นไม้

 

 

คุณแค่เดินไป ถ่ายรูป 2-3 รูป แล้วก็เดินออกมา?

 

มันเป็นช่วงเวลาแค่ไม่ถึง 10 วินาที เดิน 15 วินาทีจากประตูมหาวิทยาลัยถึงต้นไม้

 

 

แล้วกล้องคุณก็ไม่มีระบบเลื่อนฟิล์มอัตโนมัติด้วย?

 

กล้องที่ผมใช้วันนั้นไม่มีตัวหมุนฟิล์ม เป็นกล้องนิคอนธรรมดาๆ ค่อนไปทางราคาถูกด้วย ผมรู้ดีว่าภาพที่ผมถ่ายค่อนข้างย้อนแสงและฟิล์มถูกแสงไม่ค่อยเยอะ แต่ผมคิดว่าสามารถแก้ไขได้ตอนล้างฟิล์ม ผมจะไม่เรื่องมาก มันเป็นเวลาที่ต้องรีบถ่ายและรีบออกจากตรงนั้นให้เร็วที่สุด

 

 

คุณถ่ายมาทั้งหมดกี่รูป?

 

 ตรงที่แขวนคอน่ะหรือ? ผมคิดว่าประมาณ 3-5 รูปต่อศพ สำหรับ 2 ศพที่ถูกแขวนอยู่

 

 

มีรายละเอียดอะไรที่โดดเด่นออกมามั้ย?

 

ตอนที่ผมผ่านประตูมหาวิทยาลัยออกมา ซึ่งมันวุ่นวายมากและผมถ่ายรูปหลายอย่าง แต่ที่ประตูมีนักท่องเที่ยวเยอรมันแก่ๆกลุ่มหนึ่งที่มีกล้องถ่ายหนัง 8 มม. และดูเหมือนว่าเขากำลังสนุกสนานกันมาก ผมตะโกนบอกพวกเขาว่า “คุณ รีบออกจากตรงนี้นะ มันอันตรายมาก” เขาไม่สนใจผม แค่พูดว่า “ผมรู้ดี” มีโรงแรมอยู่ฝั่งตรงข้ามสนามหลวง เห็นได้ชัดว่าเขามาจากโรงแรมนั้น

 

 

 คุณอธิบายภาพถ่ายเหมือนกับตอนที่คุณเห็นมันจริงๆได้มั้ย?

 

นักศึกษาฝ่ายขวา-ขวาตามความเห็นผมนะ เขามาจากกลุ่มกระทิงแดง เขาทุบตีหนึ่งในศพที่แขวนอยู่เหนือหัวด้วยเก้าอี้พับ ผมมองอยู่ประมาณ 20 วินาที เพื่อจะดูว่าคนมองมาที่ผมรึเปล่า และผมก็คิดว่า “นี่มันน่าประหลาดใจเหลือเกิน รีบถ่ายแล้วรีบไปเถอะ”

 

 

คุณอธิบายได้มั้ยว่าทำไมมัน “น่าประหลาดใจ”?

 

 เก้าอี้ไง ตีศพด้วยเก้าอี้ แล้วยังเรื่องที่คนทุกคนยืนล้อมดู แต่คุณรู้มั้ย ในช่วงที่วุ่นวายแบบนั้น ผมจำได้แต่รายละเอียดหลักๆ รายละเอียดอื่นๆผมมาดูเอาจากฟิล์มทีหลัง ในสถานการณ์ที่อันตราย จำเป็นต้องทำอะไรที่พื้นฐานที่สุด ทำสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน นั่นก็คือการถ่ายรูปคนตีศพด้วยเก้าอี้ ผมมาสังเกตรายละเอียดอื่นๆ เช่นเด็กที่ยืนยิ้มอยู่ ในห้องล้างฟิล์มตอนหลัง

 

 

คนในสำนักงาน AP มีปฏิกิริยายังไง?

 

พวกเขาไม่เชื่อเลย ผมเดินเข้าไปแล้วบอกว่า “มีอย่างน้อย 2 คนถูกแขวนคอ และอีกมากตายอยู่ในมหาวิทยาลัย” คนจาก AP 2 คนที่ผมพูดถึงก่อนหน้านี้กลับมาออฟฟิศแล้วในช่วงสถานการณ์สงบ แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้เห็นอย่างที่ผมเห็น ผมเลยพูดกับหัวหน้าสำนักงาน เดนิส เกรย์ ซึ่งเป็นนักข่าวที่ดีมาก ผมเคยร่วมงานกับเขาในเวียดนาม เขาถามผมละเอียดมาก ผมบอกว่า “ผมเห็นทั้งหมด แต่ไม่มีเวลาพูดตอนนี้ ผมต้องรีบล้างฟิล์ม แล้วคุณค่อยดูเอาจากรูป” สิ่งสำคัญที่สุดในใจผมตอนนั้นก็คือรีบเอารูปออกจากไทยไปให้ได้ ก่อนที่รัฐบาลจะตัดขาดการติดต่อกับโลกภายนอก

 

 

 คุณตระหนักมั้ยว่ามันจะกลายเป็นภาพประวัตศาสตร์ที่เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์นี้?

 

ผมตระหนักว่าภาพมันสำคัญมาก ผมตระหนักว่ามันเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุดของโลกในวันนั้น แต่เรื่องที่มันกลายเป็นสัญลักษณ์ ประวัติศาสตร์เป็นตัวพิสูจน์เอง

 

 

คุณคิดยังไงเมื่อมองภาพนั้นในวันนี้?

 

 ผมไม่มีความคิดใหม่อะไรเกี่ยวกับมัน เพราะผมอยู่กับมันมานานมาก มันเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิตผม ซึ่งเป็นชีวิตที่น่าสนใจและมีความหมายมาก ผมเลยไม่มีความคิดพิเศษอะไรเกี่ยวกับมัน คนอื่นๆถูกดึงดูดด้วยภาพของคนไทย แม้แต่เด็ก ที่กำลังยิ้มให้กับภาพที่เลวร้ายตรงหน้า แต่คุณรู้มั้ย ในไทยและอีกหลายที่ในเอเชีย รอยยิ้มอาจเป็นการอำพรางความอึดอัดใจก็ได้ มันก็เลยยากที่จะตัดสินว่ารอยยิ้มนั้นหมายความว่ายังไง

 

 

นั่นเป็นสิ่งที่คุณคิดได้ทันทีหลังจากถ่ายภาพรึเปล่า?

 

ผมคิดนะ แต่ไม่ได้คิดมากอะไร เพราะผมอยู่ในเอเชียมานาน และผมรู้ว่ารอยยิ้มมีความหมายหลายอย่าง รวมถึงความไม่สบายใจอย่างใหญ่หลวง

 

 

คุณประหลาดใจแค่ไหนที่ผ่านไป 40 ปี ไม่มีใครในรูปเลยที่ได้รับการระบุตัวตน?

 

ไม่ได้แปลกใจอะไรมาก ผมแปลกใจมากกว่าที่หลังจากภาพนี้และเรื่องราวทั้งหมดถูกปกปิดไว้มานาน เมื่อมันกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง คนไทยและนักวิชาการจำนวนมากยังรู้สึกประทับใจกับภาพนี้ และยกให้มันเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์

 

 

จากสัญชาตญาน คุณพอเดาได้มั้ยว่าคนในภาพเป็นใคร?

 

พวกเขาเป็นนักศึกษาฝ่ายขวา ส่วนใหญ่เป็นเด็กอาชีวะ เป็นสมาชิกของกลุ่มกระทิงแดง ในมหาวิทยาลัย นักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นการรวมตัวของหลายกลุ่ม มันเกิดขึ้นหลังสงครามเวียดนาม หลายคนกังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม จะเกิดขึ้นในไทยด้วย ผมว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลฝ่ายขวามีปฏิกิริยารุนแรงขนาดนี้

 

 

แล้วใครเป็นเหยื่อ?

 

ผมไม่รู้ว่าใครเป็นเหยื่อ แต่รู้ว่าเป็นนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่หลบหนีออกมาจากมหาวิทยาลัย แต่กลับเข้าไปในเงื้อมมือของกลุ่มกระทิงแดง จน 2 คนโดนแขวนคอ คุณรู้ใช่มั้ยว่าพูลิตเซอร์ไม่ได้ให้รางวัลภาพเดียว แต่เป็นภาพชุด 12 ภาพ หนึ่งในภาพนั้นเป็นภาพตำรวจ 2 คนไล่จับนักศึกษาที่กำลังวิ่งหนีอย่างหวาดกลัวออกจากมหาวิทยาลัย และมีนักศึกษาฝ่ายขวาคนหนึ่งยืนขวางอยู่ กำลังจะต่อยเข้าที่หน้าของเขา นักศึกษาสองกลุ่มแตกต่างกัน ฝ่ายซ้ายอยู่ในมหาวิทยาลัย ส่วนเด็กอาชีวะฝ่ายขวาอยู่นอกมหาวิทยาลัย

 

 

ทำไมภาพนี้ยังคงโดนใจคนแม้ผ่านมา 40 ปีแล้ว?

 

ผมคิดว่าคนไทยมองภาพนี้ในฐานะเครื่องชี้วัดทางการเมืองและลักษณะประจำชาติของพวกเขา คนไทยส่วนใหญ่มองว่าตนเองสุภาพอ่อนโยน แต่นี่คือภาพตรงข้ามอย่างสุดขั้ว มันยังเป็นภาพสะท้อนของการเมืองไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งช่วงที่ทหารเข้มแข็งและอ่อนแอ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คุณรู้มั้ยว่าไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ประเทศนี้จึงมีประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเองมาก 

 

 

แสดงว่านี่เป็นภาพสะท้อนว่าอะไรๆก็สามารถผิดพลาดและบานปลายจนเกินควบคุมได้?

 

แน่นอน และทุกวันนี้เราก็ยังอยู่ในภารกิจการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น และเพราะอะไร

 

 

เกี่ยวกับวันครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ

 

ผมแปลกใจนิดหน่อยกับเรื่องนี้นะ คุณเห็นบทความของวารสารศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่ไปสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ธงชัยมั้ย ผมกลับไปที่วิสคอนซิน เมดิสัน มหาวิทยาลัยเก่าของผม เพื่อจัดนิทรรศการภาพถ่ายที่คณะวารสารศาสตร์ และผมได้รับการแนะนำให้รู้จักกับชายที่ชื่อธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งอยู่ที่คณะประวัติศาสตร์ เขาเป็นนักศึกษาฝ่ายซ้ายในตอนนั้น เขาหนีออกจากมหาวิทยาลัยแต่ถูกจับ และติดคุกอยู่ 2 ปี หลังจากเขาออกจากคุก ก็กลับมาเรียนและอุทิศตัวให้กับการทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น ตอนนั้นเขาสอนที่วิสคอนซิน

 

 

เขารู้จักเหยื่อมั้ย?

 

เขายังพยายามระบุว่าใครเป็นเหยื่อ เขาไม่รู้จักเหยื่อ มีนักศึกษาฝ่ายซ้ายเยอะในวันนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัย

 

ที่ถูกฆ่าน่ะหรือ?

 

ผมเดาว่ามี 40-60 คนที่จมน้ำ ถูกยิง และ 2 หรือ 3 คนถูกแขนคอ บางคนบอกว่า 3 แต่ผมเห็น 2 คน

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog