ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของยุคดิจิตัล ทำให้นิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ขณะที่นิตยสารสัญชาติอังกฤษเล่มหนึ่ง มีแนวทางที่น่าสนใจในการสร้างแบรนด์เพื่อดึงดูดกลุ่มคนอ่านให้เหนียวแน่น
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารและหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและเทศต่างพยายามปรับตัวเข้ากับ ความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากในโลกดิจิตัล ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในภาวะถดถอย จะมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไป สาเหตุมาจากสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยมน้อยลงมาก จนแทบไม่มีเม็ดเงินจากการโฆษณา สวนทางกับการอ่านบนโลกออนไลน์ทั้งจากเว็บไซต์ อีแมกกาซีน อีบุ๊ก และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในบรรดานิตยสารที่ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ นิตยสาร โมโนเคิล ดูจะมีแนวทางในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้น่าสนใจเป็นพิเศษ
โมโนเคิลเป็นนิตยสารที่โดดเด่นเล่มหนึ่งทั้งรูปลักษณ์และเนื้อหา ซึ่งครอบคลุมสถานการณ์ทั่วโลก ทั้งแง่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การออกแบบ การเดินทาง และแฟชั่น แต่นำมาจัดวางเลย์เอาต์ในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและสบายตา มีรูปถ่ายเป็นเอกลักษณ์
ผู้ก่อตั้งนิตยสารเล่มนี้คือ ไทเลอร์ บรูเล อดีตนักข่าวชาวแคนาดาที่ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษ ด้วยหน้าที่การงานที่ต้องเดินทางอยู่บ่อยๆ และใช้เวลาอยู่ในสนามบินเป็นส่วนใหญ่ บรูเลเริ่มถามตัวเองว่าทำไมไม่มีนิตยสารดีๆ ไว้อ่านระหว่างเดินทาง บรูเลรู้สึกว่านิตยสารที่เขาพบเห็นล้วนน่าเบื่อ จึงคิดอยากทำนิตยสารดีๆสักเล่ม ที่มีทั้งสาระที่เล่าเรื่องราวความเป็นไปของโลกและความทันสมัยไปพร้อมๆกัน
ปี 2007 นิตยสาร โมโนเคิล เล่มแรก จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมี นายบรูเล เป็นบรรณาธิการบริหาร โมโนเคิล ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งไลฟ์สไตล์ที่มีระดับ โดยมียอดพิมพ์จำหน่ายราว 80,000 เล่ม ใน 70 ประเทศทั่วโลก และมีมูลค่าการตลาดราว 115 ล้านดอลลาร์ นิตยสาร โมโนเคิล ยังเติบโตสู่การเป็นแบรนด์ ซึ่งครอบคลุมธุรกิจหลายประเภท เช่น รายการวิทยุ 24 ชั่วโมง, ร้านค้าแนวไลฟ์สไตล์ใน 6 เมืองทั่วโลก, และยังมีร้านกาแฟแบรนด์โมนาเคิล ที่เป็นที่นิยมในกรุงลอนดอน และกรุงโตเกียว
จุดที่น่าสนใจที่สุดของนิตยสาร โมนาเคิล คือเรื่องของแบรนด์ เพราะ โมนาเคิล มีแบรนด์ ที่ชัดเจนมาก จนสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการมีกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน บรูเลเคยบอกว่ากลุ่มคนอ่านของเขาคือ คนรุ่นใหม่ที่มองโลกแบบโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้การพัฒนาสินค้าอื่นๆเพื่อต่อยอดจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า น้ำหอม สมุดจด แว่นตา ซึ่งถูกออกแบบมาขายให้กับกลุ่มคนอ่าน ในตอนแรกๆ ก็เริ่มต้นที่การขายทางออนไลน์ แต่กลายเป็นว่าสินค้าได้รับความนิยมมาก จนต้องสร้างเป็นร้านค้าแนวไลฟ์สไตล์ ขึ้นมา
ขณะที่นิตยสารทั่วไปกำลังดิ้นรนหาเม็ดเงินโฆษณาสินค้าที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ โมนาเคิลก้าวข้ามนิตยสารอื่นๆ ด้วยการหาโฆษณาจากรัฐบาลในประเทศต่างๆ ซึ่งก็ได้ผลดีเยี่ยม เนื่องจากรัฐบาลแต่ละประเทศมีงบประมาณมหาศาลสำหรับการโปรโมตการท่องเที่ยวและดึงดูดนักลงทุน รวมทั้งเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีนานาชาติ ซึ่งก็ทำให้ โมนาเคิล มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ นอกจากนี้การได้รับงานจากรัฐบาลต่างๆทั่วโลก ก็สร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัทใหญ่ๆระดับโลกสนใจมาลงโฆษณาเพิ่มขึ้น
บรูเลยังบอกว่าการที่ โมนาเคิล เป็นนิตยสารอิสระที่ไม่ได้มีสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่เป็นเจ้าของ หรืออยู่ใต้เงานิตยสารที่โด่งดังเล่มอื่นๆ ทำให้เขามีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ โดยที่ไม่มีแรงกดดันจากฝ่ายการตลาดที่ต้องคิดถึงเม็ดเงินโฆษณาเป็นหลัก
ขณะที่นิตยสารหัวใหญ่ทั่วโลกต่างมีอีแมกกาซีนกันหมดแล้ว โมนาเคิล กลับไม่ทำอีแมกกาซีน ซึ่งบรูเลเชื่อมั่นว่าคนที่ชื่นชอบการอ่านนิตยสารก็จะยังคงอ่านนิตยสารที่ตีพิมพ์ออกมาอยู่ ไม่ใช่การอ่านแบบดิจิตัล เขาเชื่อมั่นและศรัทธาในสิ่งพิมพ์มากและตั้งใจให้นิตยสารเป็นเหมือนของสะสมหายาก ด้วยการใส่ใจการออกแบบหน้าปก กราฟฟิค เลย์เอาท์ และ ภาพถ่ายในนิตสารมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่การอ่านนิตยสารบนโลกออนไลน์ทำไม่ได้
ภาพ:monocle.com