ไม่พบผลการค้นหา
สิ้น "หมอประสพ"บุคคลสำคัญทางวงการประสาทวิทยา จากไปในวัย 92 ปี สาเหตุจากไตวายเรื้อรังและติดเชื้อในกระแสเลือด ตั้งบำเพ็ญกุศลศาลา 7 วัดมกุฏฯ

สิ้น "หมอประสพ"บุคคลสำคัญทางวงการประสาทวิทยา จากไปในวัย 92 ปี สาเหตุจากไตวายเรื้อรังและติดเชื้อในกระแสเลือด ตั้งบำเพ็ญกุศลศาลา 7 วัดมกุฏฯ

 

วันนี้ (5 มิ.ย.) เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการรับแจ้งข่าวการเสียชีวิตของ ศ.นพ.ประสพ รัตนากร เสียชีวิตที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต ร่วมด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ทั้งนี้เป็นการเข้ารักษาตัวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา สิริรวมอายุ 92 ปี โดยทางญาติได้เคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาลในเวลา 13.00 น. ไปยังวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ศาลา 7 และจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเวลา 17.30 น. ของวันที่ 6 มิถุนายน 2555
    

สำหรับประวัติของ ศ.นพ.ประสพ รัตนากร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปริญญาโททางจิตเวชศาสตร์และประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาเพิ่มเติมด้านจิตวิทยา ประสาทวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศ ได้รับประกาศนียบัตรแพทย์เฉพาะทางประสาทวิทยาและจิตวิทยาเป็นคนแรกของประเทศ และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน

ศ.นพ.ประสพ เป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งโรงพยาบาลประสาททั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ของประเทศ และเผยแพร่ความรู้ด้านจิตวิทยาสู่สาธารณชนด้วยรายการ "ใจเขาใจเรา" ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ต่อเนื่องกันมากว่า 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2493 จนถึงปัจจุบัน เป็นผู้ร่วมบุกเบิกก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และก่อตั้งสมาคมวิชาชีพทางสุขภาพจิต ประสาทวิทยา จิตเวชศาสตร์ และสังคมวิทยา เป็นผู้ริเริ่มงานด้านสุขภาพผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

 

นอกจากนี้ ยังได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในผลงานด้านสุขภาพจิต จิตวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย รวมทั้งได้รับการสดุดีจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นนักสุขภาพจิตชุมชนในรอบ 50 ปีด้วย

 

ขณะที่สถาบันประสาทวิทยา หรือโรงพยาบาลประสาท พญาไท ได้ยกย่อง ศ.นพ.ประสพ ในฐานะผู้ก่อตั้ง โดยระบุว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความชํานาญทางด้านประสาทวิทยาและจิตเวช รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ อันลํ้าลึกและยาวไกล ได้เล็งเห็นความสําคัญของโรคทางระบบประสาท และความทุกข์ยากของผู้ป่วยที่ยังไม่มีสถาน พยาบาลเฉพาะทางสําหรับดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ จึงได้ดําเนินการก่อตั้ง "โรงพยาบาลประสาท พญาไท" บนพื้นที่ 5 ไร่ ประกอบด้วยตึกอํานวยการ ตึกผู้ป่วยในขนาด 30 เตียง บ้านพักแพทย์ พยาบาลและพนักงานเท่านั้น ได้เปิดดําเนินการ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2500 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้การบําบัดรักษาผู้ป่วย ที่ทนทุกข์ทรมานจากโรค ระบบประสาท สมอง และสภาวะทางอารมณ์ ควบคู่กันไปกับการศึกษาค้นคว้าและวิจัย.

 

Source : m-culture (Image)

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog