ไม่พบผลการค้นหา
ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เมียนมาจะจัดการเจรจาสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ที่อาจเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไปตลอดกาล และถูกมองว่าเป็นการสานต่อสนธิสัญญาปางโหลง ภารกิจที่ล้มเหลวของนายพลอองซาน ปางโหลงในอดีต กับปางโหลง 2 ที่กำลังจะมีขึ้น เกี่ยวพันกันอย่างไร และจะนำพาเมียนมาไปในทิศทางไหน

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เมียนมาจะจัดการเจรจาสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ที่อาจเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไปตลอดกาล และถูกมองว่าเป็นการสานต่อสนธิสัญญาปางโหลง ภารกิจที่ล้มเหลวของนายพลอองซาน ปางโหลงในอดีต กับปางโหลง 2 ที่กำลังจะมีขึ้น เกี่ยวพันกันอย่างไร และจะนำพาเมียนมาไปในทิศทางไหน

สนธิสัญญาปางโหลงหรือความตกลงเวียงปางหลวง ปี 2490 เป็นความตกลงประวัติศาสตร์ที่เรียกได้ว่าทำให้เกิดสหภาพเมียนมา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดแตกหักที่ทำให้เมียนมาอยู่ในสภาพวุ่นวาย เต็มไปด้วยการสู้รบมายาวนานกว่า 60 ปี         

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง อาณานิคมของอังกฤษหลายแห่งเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช ในเมียนมาก็เช่นเดียวกัน อังกฤษยื่นเงื่อนไขว่าหากอาณานิคมพม่าต้องการเป็นเอกราช ก็ควรต้องรวมเป็นประเทศเดียวกัน ระหว่างเขตพม่าแท้ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกและเขตภูเขา ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก นายพลออง ซาน บิดาของนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา จึงได้พยายามเจรจากับบรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ในรัฐฉานและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆอย่างกะฉิ่น ชิน ในดินแดนหุบเขาเพื่อให้รัฐเล็กๆเหล่านี้เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษกับชาวพม่า 
    
การเจรจาบรรลุผลในปี 2490 ณ เวียงปางโหลง มีการทำสนธิสัญญาปางโหลงระหว่าง 3 ฝ่ายหลักๆ ได้แก่ตัวแทนฝ่ายอังกฤษ ฝ่ายพม่า และฝ่ายสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา ประกอบด้วยฉาน กะฉิ่น และชิน โดยมีสาระสำคัญคือการให้ตัวแทนของสมาพันธรัฐเทือกเขาเข้าร่วมรัฐบาลพม่าได้ 1 คน และเลือกรัฐมนตรีช่วยได้ 2 คน รวมถึงการันตีสิทธิในการปกครองตนเอง และการให้ชาวสมาพันธรัฐเทือกเขามีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับชาวพม่าทุกประการ นอกจากนี้ที่ประชุมยังตกลงว่าการรวมตัวระหว่างฝ่ายพม่าและสหพันธรัฐเทือกเขา เป็นไปเพื่อการเรียกร้องเอกราชเท่านั้น หลังจากได้เอกราช สหพันธรัฐสามารถแยกตัวเป็นอิสระได้ 

อย่างไรก็ตาม ข้อความสำคัญที่สุดนี้กลับไม่ได้ระบุลงไปในสัญญา แต่เป็นการรับปากด้วยวาจาโดยนายพลออง ซาน ว่าจะมีการหยิบเงื่อนไขดังกล่าวไปบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ เพื่อให้มีความมั่นคงถาวรกว่าการระบุในสนธิสัญญา
    
แต่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักการตามสนธิสัญญาปางโหลง นายพลออง ซานและคณะรัฐมนตรี กลับถูกลอบสังหารกลางกรุงย่างกุ้ง อู นุ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน และยอมบรรจุเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชของสหพันธรัฐเทือกเขาไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่กำลังโกรธแค้น แต่ตั้งเงื่อนไขว่าการแยกตัวเป็นเอกราชจะทำได้ 10 ปีหลังการปลดแอกจากอังกฤษ และยังต้องได้เสียง 2 ใน 3 จากสภา รวมถึงต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชน
    
ก่อนที่กลุ่มชาติพันธุ์จะได้ใช้สิทธิ์ถอนตัว ก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในพม่า ตามด้วยการรัฐประหารของนายพลเน วิน  มีการจับผู้นำรัฐชายแดนไปคุมขัง ไปจนถึงการลอบสังหารและอุ้มหาย เท่ากับว่าฝ่ายพม่าฉีกสัญญาปางโหลงทิ้งไปโดยปริยาย สิทธิการแยกตัวเป็นเอกราชถูกทำลายไปพร้อมรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร นำมาสู่การต่อสู้ของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อทวงคืนเอกราชที่พวกเขามองว่าถูกโกงไปตั้งแต่เมื่อครั้งการทำสนธิสัญญาปางโหลง 
    
การประชุมสันติภาพที่ถูกขนานนามว่าปางโหลง 2 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเนปิดอว์ ในวันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายนนี้ เป็นความพยายามของนางซูจี ที่จะสานต่อภารกิจที่ล้มเหลวของบิดา และคลี่คลายปมปัญหาความขัดแย้งที่ฉุดรั้งประเทศมากว่าครึ่งศตวรรษ ในปัจจุบันการแยกตัวเป็นเอกราชไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปได้อีกต่อไป แต่จุดหมายที่ใกล้เคียงกว่าก็คือการเปลี่ยนเมียนมาจากสหภาพ ซึ่งหมายถึงมีรัฐเพียงหนึ่งเดียว ปกครองโดยรัฐบาลกลาง เป็นสหพันธรัฐ ซึ่งหมายถึงการให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองแก่กลุ่มชาติพันธุ์ ให้เสรีภาพเท่าเทียมกับชาวพม่าทุกประการ ทำให้คำมั่นสัญญาที่ฝ่ายพม่าทำไว้กับสหพันธรัฐเทือกเขาเมื่อ 69 ปีมาแล้ว เป็นจริงเสียที

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog