ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนา เรื่องครอบครัวจุดเริ่มต้นของพลังการยอมรับและทลายความเกลียดชัง ต่อคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องในวันรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหาร (Transgender Day of Remembrance) พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องสร้างความเป็นธรรมทางเพศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเสวนาเรื่องครอบครัวจุดเริ่มต้นของพลังการยอมรับและทลายความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศเนื่องในวันรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหาร (Transgender Day of Remembrance)

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) ดำเนินงานบนฐานคิดการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับกลุ่มคนในสังคมที่ถูกละเลย ทอดทิ้ง หลงลืม บุคคลข้ามเพศ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเลย การเข้าไม่ถึงสิทธิและโอกาสด้านสุขภาวะ หรือเรียกได้ว่าต้องการกระบวนการที่สอดคล้องต่อปัญหาและความต้องการเฉพาะในการสร้างเสริมสุขภาวะ ซึ่งการเข้าไม่ถึงสิทธิและโอกาสด้านสุขภาวะอาจเริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว เมื่อครอบครัวขาดความรู้ ความเข้าใจในเด็กและเยาวชน บุคคลข้ามเพศ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจนำมาซึ่งความ   ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ไม่สนับสนุน ส่งผลต่อการขาดโอกาสในการเข้าถึงสุขภาวะที่ดีในที่สุด

ข้อมูลจาก Journal of Child and Adolescent Psychiatric Nursing (2010) พบว่าเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงกว่าเด็กทั่วไปถึง 8 เท่า และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่า 6 เท่า แนวทางลดปัญหาในเรื่องนี้ คือ การสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนจะช่วยลดอาการซึมเศร้า เพิ่มการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และส่งเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ โดย สสส.ได้สนับสนุนการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้เครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถลดความตึงเครียดและสร้างเสริมความเข้าใจภายในครอบครัวได้ โดยอยู่ระหว่างจัดเวทีถอดชุดประสบการณ์ในการดูแลบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศใน กทม.และต่างจังหวัด เพื่อทำเป็น ชุดคู่มือในการดูแลบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะมีคำแนะนำในการเริ่มต้นให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเรื่องสุขภาวะที่ถูกต้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ เมษายน 2563

ผศ.ดร. รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กิจรรมรณรงค์ครั้งนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ซึ่งในปีนี้ผู้จัดได้เล็งเห็นความสำคัญของสถานการณ์การฆ่าสังหารที่เกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างทางเพศสภาพในคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยมีการจัดกิจกรรมเวทีเสวนาในปีนี้เนื่องด้วยทางมูลนิธิฯเองได้ดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ ทีได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เนื่องจากเห็นว่าในประเทศไทยยังขาดช่องว่างในการทำงานกับครอบครัวของกลุ่มคนข้ามเพศ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นกิจกรรมในครั้งนี้เราจึงมุ่งให้ความสำคัญกับครอบครัวของคนข้ามเพศ คนที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อร่วมกันสะท้อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของเด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อร่วมกันหาจุดร่วมให้ครอบครัวเข้าใจ เคารพและยอมรับเด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายครอบครัว และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายที่ทำงานด้านครอบครัว ด้านเด็ก ด้านการพิทักษ์สิทธิ์คนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการร่วมลดความเกลียดชังและการจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงเพื่อนพี่น้องคนข้ามเพศและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกฆ่าสังหาร เพื่อเป็นสนธิสัญญาทางใจในการเติมพลังให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะที่ดีกับน้องๆคนข้ามเพศ คนที่มีความหลากหลายทางเพศและครอบครัวของพวกเขา

เสวนาวันรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหา.jpg

ในกิจกรรมเสียงสะท้อนรำลึกเพื่อเปลี่ยนแปลง (Remembrance to Changes)เนื่อง ในวันรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหาร (Transgender Day of Remembrance) เวทีเสวนา หัวข้อครอบครัวจุดเริ่มต้นของพลังการยอมรับและทลายความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีผู้ตัวแทนผู้ปกครองของคนข้ามเพศคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนได้แก่ คุณรณิศร ปิยะปภากรกูล คุณแม่ของคุณคุณเต็งหนึ่ง คณิศ ปิยะปภากรกูล , คุณพ่ออารี ระมิงค์วงศ์ คุณพ่อของลูกสาวข้ามเพศและตัวแทนจากเครือข่ายผู้ปกครองที่มีบุตรหลานข้ามเพศ และหลากหลายทางเพศ และคุณมณฑา สาช่อฟ้า คุณแม่ของลูกสาวข้ามเพศผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ไปจนถึงคุณอัจฉราภรณ์ ทองแฉล้ม ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ โดยคุณจิตติมา ภาณุเตชะ เป็นดำเนินรายการ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเห็นว่า ในสังคมไทยควรให้ความสำคัญและตระหนักถึงสิทธิของเด็ก เยาวชนคนข้ามเพศและมีความหลากหลายทางเพศ สร้างระบบบริการที่เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวของเด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ภายในงานมีการอ่านแถลงการณ์ทางตัวแทนจากคนข้ามเพศคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว เครือข่ายและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกคนข้ามเพศ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีข้อเรียกร้องต่อสถาบันทางสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศ ดังนี้

1. สถาบันการแพทย์จะต้องหยุดระบุว่า เด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นภาวะของ การเบี่ยงเบนทางเพศ ภาวะความเจ็บป่วยทางจิต การปรับเปลี่ยนร่างกาย การทำศัลยกรรมไม่ใช่การบำบัดรักษาเป็นการสนับสนุนทางการแพทย์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับ และการระบุ ว่าเด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นภาวะความเจ็บป่วยนั้นเป็นการสร้างความเกลียดชัง สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ปกครอง พร้อมทั้งการต้องระบบบริการทางการแพทย์ที่เป็นมิตรและเข้าใจเด็กเยาวชนคนข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งนี้เพื่อลดการสร้างอคติทางเพศ

2. สถาบันทางการศึกษาต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตให้สอดคล้องตามอัตลักษณ์ทางเพศของเด็ก ไม่สร้างความแปลกแยกให้กับเด็กข้ามเพศและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเพราะจะนำมาซึ่งเหตุแห่งการกลั่นแกล้งรังแก บ่มเพาะความรุนแรง ฝังรากลึกของความเกลียดชัง

3. องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัวจะต้องมีความละเอียดอ่อนทางเพศ (Gender Sensitivity) เข้าใจว่าการทำงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมของเด็กข้ามเพศ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่การชี้นำ แต่คือการทำให้เด็กข้ามเพศ และเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศรู้เท่าทัน เพื่อเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่ทัดเทียมกับเด็กคนอื่นๆ พร้อมทั้งเด็กคนอื่นๆในสังคมจะสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่นำมาซึ่งการเข้าใจและยอมรับคนข้ามเพศ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทลายความเกลียดชังที่ฝังรากลึกมานาน

4. รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายจะต้องเห็นถึงช่องว่างทางนโยบายที่ขาดระบบข้อมูล ความรู้ ระบบบริการที่มีการสนับสนุนครอบครัวที่มีบุตรหลานข้ามเพศ หลากหลายเพศ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงและพัฒนาเด็กอย่างมีสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ บนพื้นฐานของการคำนึงประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก

5. รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนและผลักดันกฎหมายเพื่อให้เกิดพิทักษ์ รับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม คนข้ามเพศ ในเรื่องกฎหมายรับรองเพศสภาพ กฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านามบุคคล กฎหมายจดทะเบียนสมรส เป็นต้น เพื่อลดความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ

และหลังจากอ่านแถลงการณ์ ในช่วงสุดท้ายของงาน คือ การจุดเทียนและยืนสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงเพื่อนคนข้ามเพศ คนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เสียชีวิต เราหวังว่าคนข้ามเพศ คนที่มีความหลากหลายทางเพศที่จากเราไป อันเนื่องมาจากการเกลียดชัง อคติ การสูญเสียดังกล่าวจะสร้างการเรียนรู้ให้สังคมไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีรายต่อไป เพราะไม่มีผู้ใดที่สมควรถูกพรากซึ่งสิทธิในการมีชีวิตอยู่ เพียงเพราะมีความแตกต่างทางเพศสภาพ มาร่วมสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับคนทุกกันเถอะ

เสวนาวันรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหา_0.jpg