ไม่พบผลการค้นหา
พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องร่วมกันยื่นญัตติร่างแก้ รธน. 5 ประเด็น ชูแก้ที่มานายกฯ-ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ เตรียมยื่นประธานรัฐสภา 16 มิ.ย. ประกาศย้ำต้องดันผ่าน พ.ร.บ.ประชามติก่อน

วันที่ 14 มิ.ย. 2564 ที่พรรคเพื่อไทย หัวหน้าและแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงข่าวเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน เตรียมเสนอ 5 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ เรียกร้องให้ประธานรัฐสภา บรรจุวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ค้างการพิจารณาอยู่ให้เสร็จก่อนที่จะพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำหากไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติก่อนสะท้อนถึงอำนาจรัฐบาลเหนือกว่าอำนาจรัฐสภา

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22-23 มิ.ย. 2564 รัฐสภาต้องจัดให้มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติให้เสร็จก่อนแล้วค่อยพิจารณาญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ทั้งหมด 5 ร่าง โดยญัตติที่เห็นพ้องเสนอร่วมกันคือการแก้ไขมาตรา 272 ที่มาของนายกรัฐมนตรี

ส่วนญัตติเสนอแก้ตามมาตรา 256 สิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบบการเลือกตั้ง ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อำนาจ สว. และการนิรโทษกรรม นั้นพรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอ และไม่ปิดกั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านลงชื่อร่วมเสนอญัตติดังกล่าวก็ยินดี

โดยทั้ง 5 ญัตติ ขณะนี้ร่างเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอต่อประธานรัฐสภา ในวันพุธ ที่ 16 มิ.ย.นี้

ฝ่ายค้าน พิธา สมพงษ์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ E8BCE88B-FECB-4741-B14B-F77226139678.jpegฝ่ายค้าน พิธา สมพงษ์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 4AA9625F-542F-4AC4-8421-4640BAD3102C.jpegฝ่ายค้าน วันมูหะมัดนอร์ สมพงษ์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 4E84E1FD-EF31-4739-B56F-50AB556F0EA6.jpeg

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำว่า ไม่ต้องการร่วมสังฆกรรมการเสนอแก้รายมาตราของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และอยากให้การประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ประชามติก่อนที่จะพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยัน เห็นด้วยกับทุกญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย แต่เห็นว่าโจทย์ใหญ่ในตอนนี้คือต้องเร่งแก้มาตรา 272 ก่อน เพราะเป็นต้นตอของวิกฤติในตอนนี้ 

เช่นเดียวกับ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เห็นว่าเป้าหมายหลักของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ไพบูลย์ คือ การปิดช่องทางการเสนอแก้ทั้งฉบับ การสร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะการคงระบบการเลือกตั้งที่ยังได้เปรียบ การเปิดช่องให้ สส. ฝ่ายรัฐบาลแทรกแซงข้าราชการ เพื่อผลประโยชน์ พร้อมกล่าวย้ำว่า การประชุมร่วมรัฐสภา ควรพิจารณาเรื่องที่ค้างและเป็นเรื่องที่สำคัญก่อน ดังนั้น จึงไม่อยากเห็นประธานรัฐสภาตอบสนองความต้องการของรัฐบาล

สอดคล้องกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ มองว่า การจะพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เพราะรัฐบาลขอมาเป็นวาระพิเศษนั้นไม่ถูกต้อง หากรัฐบาลขอเป็นกรณีพิเศษได้ เท่ากับว่ารัฐบาลมีอำนาจเหนือกว่ารัฐสภา จึงอยากให้ประธานรัฐสภา รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีบรรจุวาระตามขั้นตอน เพราะทั้งหมดเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา พร้อมขอให้ประชาชนติดตามการแก้ไขรัฐอย่างใกล้ชิด และร่วมผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการแก้ไขวิกฤติประเทศ ไม่ใช่แก้เฉพาะพรรคการเมือง หรือรัฐบาล หากประชาชนไม่สนใจ ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาอาจจะไม่สำเร็จ เพราะเสียงของพรรคฝ่ายค้านในสภาอาจจะแก้ไขไม่ได้ เนื่องจากการโหวตเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. ด้วย