ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ตอบ 'วอยซ์' แก้ปัญหาม็อบชุมนุมไม่ให้สร้างปัญหาให้คนอื่น ด้วยการจัดโซนในพื้นที่ของ กทม.ให้มีการจัดม็อบได้ ต้องมีการอำนวยความสะดวกทั้งเครื่องเสียง-ห้องน้ำให้ ชี้การแสดงออกเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาธิปไตย ย้ำอำนาจ กทม.ต้องเป็นเจ้าบ้านที่เข้มแข็งดึงทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 8 ในนามอิสระ ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' ถึงการแก้ปัญหาม็อบชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ จะทำอย่างไรไม่ให้สร้างปัญหาให้คนที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมว่า ตนมองว่าการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ควรจัดพื้นที่สำหรับการแสดงออกทั้งขนาดใหญ่ เช่น ลานคนเมือง สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง เป็นต้น นอกจากนี้ ทุกเขตควรมีพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก เพื่อให้คนมาแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน นอกจากพื้นที่แบบอนาล็อกแล้ว ควรมีพื้นที่แบบดิจิทัลในการแสดงความคิดเห็นด้วย 

"คนอยากจะมาปราศรัยก็หิ้วลังมา มาปราศรัยที่สวนตรงนี้ กำหนดเป็นพื้นที่ให้แสดงความเห็นที่แตกต่างได้" ชัชชาติ ระบุ

โดย กทม. ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดหาเครื่องเสียง รถสุขา มีการประสานงานขออนุญาตใช้พื้นที่ชุมนุมตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า การแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ปัญหาที่คนรุ่นใหม่อัดอั้นตันใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครรับฟังพวกเขา เชื่อว่าถ้ามีพื้นที่ตรงนี้ สังคมจะดีขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง

ชัชชาติ ผู้ว่า กทม _220407_25.jpg

เมื่อถามถึงข้อจำกัดเรื่องงบประมาณรายจ่ายที่มีข้อจำกัดในปีงบประมาณล่าสุด ชัชชาติ ระบุว่า ตรงนี้สอดคล้องกับนโยบายบริหารจัดการดีของตนเอง ทั้งนี้ งบประมาณ กทม. มีอยู่ 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเงินเดือนบุคลากรของ กทม. ไปแล้วราว 3.2 หมื่นล้านบาท หรือราว 40% สุดท้ายเหลือใช้จริงไม่เท่าไร ดังนั้น สิ่งแรกที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องทำ คือ นโยบายต้องเป็นจริง ไม่ใช่เงินมหาศาล ไม่ใช่เมกะโปรเจ็กต์ ต้องเป็นนโยบายที่ทำน้อย ได้เยอะ เช่น ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ตีเอาว่าต้นกล้าต้นละ 10 บาท อย่างมากจึงจะใช้เงินแค่ 10 ล้านบาท หรือ นโยบาย Open Data เปิดเผยฐานข้อมูลรัฐ ซึ่งเป็นการทำข้อมูลที่มีอยู่แล้วให้เป็นสาธารณะ หรือนโยบายคืนครูให้นักเรียนก็ไม่ได้ใช้เงินอะไร 

ในปีแรกของการทำงานผู้ว่าฯกทม. ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งโครงการที่ใช้งบประมาณเยอะ ถัดมาต้องทบทวนโครงการที่กำลังดำเนินการ หรือมีแผนดำเนินการอยู่ว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่จะเสียไปหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็ตัดออก ถือเป็นการป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วย รวมทั้งการจัดทำงบประมาณแต่ละปีควรอยู่บนฐานแนวคิดเริ่มต้นที่ศูนย์ ไม่ใช่ว่านำงบประมาณปีก่อนหน้ามาบวกเพิ่มอีก 5% ตรงนี้จะทำให้การบริหารจัดการงบเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย หน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.ในฐานะผู้บริหาร คือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด คือใช้น้อยแต่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

สำหรับอำนาจที่จำกัดของ กทม.ในการประสานหน่วยงานต่างๆเพื่อแก้ปัญหาในคนกรุงเทพฯ นั้น ชัชชาติ ระบุว่า นี่เป็นเงื่อนไขที่คนที่อาสามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องยอมรับ เพราะเรารู้ว่าเราไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จะแก้ปัญหานี้ได้ คือ 1.ต้องไม่เล่นการเมือง ทำอะไรต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าจะทำให้การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าเล่นการเมืองเพื่อคะแนนนิยมของตัวเอง จะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ 2. กทม.ต้องเป็นเจ้าบ้านที่เข้มแข็ง รวบรวมทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็น Single-command center และ 3.ต้องใช้เทคโนโลยีในการร้อยเรียงข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีเข้าด้วยกัน การทำงานร่วมกันจึงจะสะดวกมากยิ่งขึ้น

ชัชชาติ อัศวิน หาเสียง ผู้ว่า กทม M_220407_18.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง