ไม่พบผลการค้นหา
รฟท. เพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าที่ไอซีดี ลาดกระบัง เพื่อขยายตลาดการบริการขนส่งระบบรางของการรถไฟฯ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

รฟท. เพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าที่ไอซีดี ลาดกระบัง เพื่อขยายตลาดการบริการขนส่งระบบรางของการรถไฟฯ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟฯ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคมที่ผ่านมา  ฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟฯ ได้มีการจัดกิจกรรมกลุ่มลูกค้าสัมพันธ์โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และ รับฟังปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้ง ข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้ใช้บริการมาปรับแก้ไขและวางแผนในการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าในอนาคต อีกทั้ง เป็นการสร้างศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

สำหรับ กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของผู้ประกอบการสถานีไอซีดี ลาดกระบังและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ประกอบด้วย บริษัท สยามเซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด  บริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด  บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด  บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด  บริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด การท่าเรือแหลมฉบัง ด่านตรวจพืชลาดกระบัง ด่านตรวจสัตว์น้ำลาดกระบัง และด่านอาหารและยา 

ปัจจุบัน สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ถือเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญและสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมสัมปทาน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2539 จนถึงปัจจุบัน การรถไฟฯได้รับค่าธรรมเนียมสัมปทานเป็นเงิน 5,044 ล้านบาท และ รายได้ค่าระวางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระหว่าง ลาดกระบัง กับท่าเรือแหลมฉบัง 5,213 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งหมด 10,257 ล้านบาท  

ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า เพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ มีแผนในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ และยกระดับมาตรฐานในการบริการ โดยจะมีการดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟทั้งนี้ หากการรถไฟฯ ได้จัดซื้อรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าและเครื่องอะไหล่ตามแผน จำนวน 308 คัน ในวงเงิน 
7,229 ล้านบาท เข้ามาใช้บริการขนส่ง ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งคอนเทนเนอร์ภายในประเทศ ในปริมาณที่สูงขึ้นอีกเท่าตัว จากปัจจุบันขนส่ง 7 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งได้เป็น 15 ล้านตันต่อปี ซึ่งการรถไฟฯ จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ให้สามารถขนส่งตู้สินค้าได้มากถึง 2,000,000 ทีอียูต่อปี ภายใน 5 ปี  

ส่วนรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าเดิม ที่ใช้ในไอซีดี ลาดกระบัง จำนวน 284 คัน จะมีการโอนเพื่อนำไปใช้งานร่วมกับรถจักรดีเซลไฟฟ้า (ใหม่) จำนวน 13 คันที่ ที่เพิ่งสั่งซื้อเข้ามา เพื่อเปิดให้บริการเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ในประเทศ CY ในภูมิภาค – ท่าเรือแหลมฉบัง ในลักษณะเหมาขบวน โดยเน้นการขนส่งสินค้ากลุ่มพลังงาน และปูนซิเมนต์เป็นหลัก และใช้เส้นทางขนส่งส่วนใหญ่จาก CY ต่าง ๆ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ 

สำหรับโครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า 308 คัน ได้มีการประกวดราคาแบบสากล เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 โดยมีบริษัท สยามโบกี้ จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคาด้วยวิธีการยื่นซองแบบสากลในราคารวม 131,446,920.00 หยวน (ประมาณ 722,950,000 บาท) และมีการลงนามการซื้อขายทางการ 
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558  สำหรับรถโบกี้บรรทุกสินค้าที่ส่งมอบให้การรถไฟฯทั้งหมด เป็นแบบล้อเลื่อน 
ขนาดน้ำหนัก 20 ตัน/เพลา ผลิตโดยบริษัท China National Machinery Import & Export Corporation (CMC) จากประเทศจีน

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog