การปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติ ในร่าง รธน.
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือมีหมวดเฉพาะ หมวดที่ 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 257 แบ่งการปฏิรูปประเทศออกเป็น 7 ด้าน ครอบคลุมทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
1.ด้านการเมือง รัฐบาลจะต้องปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักยอมรับความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน
พรรคการเมืองจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของพรรค และต้องกำหนดกลไกความรับผิดชอบของพรรคการเมือง ในการประกาศโฆษณานโยบายตอนหาเสียงโดยที่ไม่ได้ประเมินผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จะต้องจัดให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ต้องปรับปรุงระบบกลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวแต่ต้องเปิดเผยตรวจสอบได้ และต้องมีกลไกป้องกันการทุจริตในทุกขั้นตอนด้วย
3.ด้านกฎหมาย รัฐบาลจะต้องยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ นอกจากนี้จะต้องปฏิรูปการเรียนการสอนวิชากฎหมาย ควบคู่กับคุณธรรมจริยธรรม
4.ด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในทุกขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า การปฏรูปด้านนี้ต้องแล้วสเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
5.ด้านการศึกษา ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนในทุกระดับให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความถนัดของตนเอง ซึ่งมาตรการปฏิรูปการศึกษาต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ แต่งตั้งโดย ครม.
6.ด้านเศรษฐกิจ ต้องปรับปรุงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน รัฐจะต้องส่งเสริมผู้ประกอบการแต่ละขนาด ให้มีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเหมาะสมด้วย
7.อื่นๆ – รัฐต้องจัดให้มีระบบบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งจะต้องจัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
การจัดทำกฎหมายการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 7 ด้านนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี 4 เดือน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
ถ้านับกรอบเวลา 1 ปี 4 เดือนที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นั่นหมายถึง วันที่ 7 สิงหาคม สมมติร่างผ่านประชามติ รัฐบาล คสช.และ ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องเริ่มทำกฎหมายปฏิรูปและแผนทันที เพื่อให้เสร็จตามเวลา คู่ขนานไปกับกระบวนการเลือกตั้งเพื่อมีรัฐบาลใหม่
จากนั้น เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งแล้ว มาตรา 142 และ 162 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศนั้น จะต้องแถลงนโยบาย และเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีต่อรัฐสภา ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่จัดทำไว้ก่อนหน้านี้
ยิ่งกว่านั้นใน บทเฉพาะกาลมาตรา 270 กำหนดให้คณะรัฐมนตรี จะต้องรายงานความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศให้รัฐสภารับทราบทุกๆ 3 เดือน ส่วนวุฒิสภา ก็มีอำนาจดำเนินการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดให้รัฐบาลต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
และหากมีร่างพระราบัญญัติใดเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องผ่านการประชุมร่วมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรด้วย