ไม่พบผลการค้นหา
พระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น ที่ยังเหลือเค้ารูปทรง ลวดลาย ให้ชื่นชมความงาม มีน้อยแห่งเต็มที เจดีย์ประธานของวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

พระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น ที่ยังเหลือเค้ารูปทรง ลวดลาย ให้ชื่นชมความงาม มีน้อยแห่งเต็มที เจดีย์ประธานของวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

 

วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง เส้นทางเชื่อมต่อกับแควน้อย แควใหญ่ อีกทั้งชุมชนยังสามารถติดต่อกับพื้นที่ชายฝั่งของพม่าได้โดยข้ามเทือกเขาตะนาวศรี นับว่าตัวเมืองตั้งอยู่บนปากทางเข้าสู่การค้าข้ามสมุทรระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน

 

ปติสร เพ็ญสุต (2555) ผู้ศึกษาศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของวัดมหาธาตุแห่งนี้ ให้ข้อมูลว่า หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าพื้นที่ละแวกวัดมีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องนับแต่ยุคทวารวดีเลยทีเดียว

 

เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีการสร้างศาสนสถานในรูปแบบปราสาทขอม เพราะได้รับอิทธิพลพุทธศาสนามหายานจากเขมร ต่อมาในสมัยอยุธยา เมื่อพุทธศาสนาลังกาวงศ์เผยแผ่เข้ามา มีการสร้างพระปรางค์ประธานขึ้นหลังจากปราสาทแบบขอมชำรุดทรุดโทรมไป การสักการะเทวรูปเปลี่ยนเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

 

วัดมหาธาตุ ราชบุรี ผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและแผนผังครั้งใหญ่อย่างน้อย 5 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนสมัยราชธานีกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 6

 

ปรางค์ประธานไม่ได้สร้างคร่อมบนที่ตั้งของปราสาทหลังเก่า  หรือต่อเติมพอกทับของเก่าอย่างที่ปรากฏกับเจดีย์มหาธาตุหลายแห่ง ปราสาทหลังเก่านั้นตั้งอยู่หน้าบริเวณที่เป็นวิหารหลวงทุกวันนี้ ตำแหน่งของปรางค์ประธานในปัจจุบันเป็นผลจากการย้ายศูนย์กลางของศาสนสถาน

 

วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี มีศิลปกรรมอันควรชมมากมาย ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม ในตอนนี้ ขอคัดนำเสนอเฉพาะประติมากรรมในส่วนของงานปูนปั้นประดับปรางค์ประธาน

 

ใจกลางเขตพุทธาวาส ชั้นนอกล้อมรอบด้วยแนวกำแพงศิลาแลง ปรางค์ประธานล้อมด้วยระเบียงคดก่ออิฐ องค์ปรางค์หันสู่ทิศตะวันออก มีวิหารหลวงอยู่ทางด้านหน้า ภายในวิหารเคยมีห้องด้านหน้ากับด้านหลัง แต่ละห้องประดิษฐานพระพุทธรูป ปัจจุบันไม่ปรากฎกำแพงกั้นห้อง พระพุทธรูปทั้งสองถูกชลอเข้าชิดกัน

 

เดิมท้ายวิหารเคยยื่นล้ำแนวระเบียงคด มีประตูทางเข้าสู่พระปรางค์ทางซ้ายและขวา ต่อมามีการปฏิสังขรณ์ใหม่   โดยดัดแปลงท้ายวิหารหลวงเดิมให้เป็นวิหารพระนอน

 

พระปรางค์ประธาน

 

ปัจจุบัน ปรางค์ประธานมีมุขยื่นยาวทางด้านตะวันออก มีปรางค์บริวาร 3 องค์ทางทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศเหนือ

 

สันนิษฐานว่า เดิมปรางค์ประธานไม่มีมุขยื่นยาว เข้าใจว่าเคยมีปรางค์บริวารทางด้านนี้เช่นเดียวกับในทิศอื่นๆ เพิ่งต่อมุขทางด้านตะวันออก พร้อมทำบันไดทางขึ้นสู่คูหาของเรือนธาตุ ในสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากปรางค์ด้านตะวันออกหักพัง ภายในคูหาปรางค์มีจิตรกรรมภาพแถวอดีตพุทธเจ้าและพระสาวก

 

ส่วนยอดของปรางค์ ปั้นปูนประดับที่กลีบขนุน ทั้งมุมประธานและมุมประกอบ เป็นรูปบุคคลในท่ายืน

 

ลวดลายปูนปั้นมีให้ชมมากมาย ที่น่าสนใจอยู่ตรงซุ้มหน้าบรรพ เป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนต่างๆ

 

ที่บรรพแถลงซึ่งเป็นรูปจำลองของเรือนธาตุ ซ้อนชั้นสอบขึ้นสู่ยอดปรางค์ แสดงสัญลักษณ์ของปราสาทหรือวิมาน ก็มีภาพปูนปั้นในสภาพสมบูรณ์มากน้อยต่างๆกัน 

 

ทั้งซุ้มหน้าบรรพ บรรพแถลง และส่วนประดับอื่นๆ ได้รับการซ่อมครั้งใหญ่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน

 

ปูนปั้นประดับปรางค์ด้านทิศตะวันออก

 

ทางตะวันออกของปรางค์ประธานเป็นมุขซึ่งเข้าใจว่าต่อเติมในสมัยหลังรัชกาลที่ 2 ลงมา หน้าบรรพซุ้มคูหาของมุขประดับภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลี

 

ซุ้มคูหาด้านใน ซึ่งอยู่ติดกับเรือนธาตุ เป็นซุ้มลดสองชั้น ชั้นล่างปั้นรูปครุฑยุดนาค ชั้นบนปั้นรูปยักษ์

 

บรรพแถลงชั้นที่หนึ่ง เหลือรูปเทวดาสององค์ยืนพนมมือ นมัสการวัตถุตรงกึ่งกลางซึ่งชำรุดหลุดร่วงไปหมดแล้ว

 

ถัดขึ้นไปเป็นช่องวิมาน อยู่ระหว่างชั้นวิมานที่หนึ่ง และชั้นที่สอง แสดงภาพเทวดาสององค์ในท่าเหาะ กำลังไหว้เจดีย์ตรงกลาง อาจเป็นพระเกศธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

บรรพแถลงชั้นที่สอง  ประดับปูนปั้นภาพบุคคลในท่ายืน ทรงเครื่องอย่างเทวดาหรือกษัตริย์ มือขวาทอดลงข้างลำตัว มือซ้ายยกขึ้นปิดตา เหนือศีรษะปรากฏพระพุทธรูปขนาดเล็ก

 

สันนิษฐานว่าเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนโปรดพกาพรหม ผู้เปี่ยมมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าทรงซ่อนหาแข่งกับพระพรหมองค์นี้ พระพุทธองค์ทรงหาพกาพรหมเจอทุกครั้งไม่ว่าจะซ่อนที่ไหน ครั้นเมื่อพกาพรหมเป็นฝ่ายหาบ้าง พระพุทธเจ้าทรงจำแลงไปอยู่เหนือหน้าผากของพระพรหม หาอย่างไรก็ไม่พบ จึงยอมแพ้ ขอรับพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

 

ช่องวิมานชั้นที่สอง แสดงภาพเมขลาล่อแก้วทางซ้าย ทางขวาเป็นภาพยักษ์รามสูรเงื้อง่ากระบอง กลางภาพเป็นเทพอรชุนเข้าห้ามปราม

 

ถัดขึ้นไปเป็นบรรพแถลงชั้นที่สาม แสดงภาพเทพนม

 

ช่องวิมานชั้นที่สาม แสดงภาพราหูอมจันทร์ ทางซ้ายของหน้ายักษ์เป็นกรอบทรงกลมบรรจุรูปกระต่าย สัญลักษณ์ของพระจันทร์ กรอบทางขวาเป็นรูปนกยูง สัญลักษณ์ของพระอาทิตย์

 

สูงขึ้นไปเป็นบรรพแถลงชั้นที่สี่ แสดงภาพพระพุทธรูปประทับยืน

 

ปูนปั้นประดับปรางค์ด้านทิศเหนือ

 

ปูนปั้นด้านทิศเหนือ หลงเหลือลายประดับเฉพาะที่ชั้นวิมาน 3 ชั้นแรก เหนือขึ้นไปกว่านั้นชำรุดหลุดร่วง

 

บนหน้าบรรพจระนำซุ้มลด แสดงภาพยักษ์กำลังวิ่ง มือขวาถือตรีศูลด้ามยาว มือซ้ายถือวัตถุไม่ทราบชนิด ด้านขวาของยักษ์มีภาพคล้ายเด็ก มือซ้ายถือแส้จามรหรืออาจเป็นพัดโบก ใกล้กันปรากฏรูปงวงช้างกับหัวม้า ปูนปั้นส่วนอื่นชำรุด สันนิษฐานว่าภาพนี้เล่าพุทธประวัติตอนมารวิชัย พญามารพร้อมเหล่าทัพแตกหนีปราชัยแก่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ

 

บรรพแถลงชั้นที่หนึ่ง แสดงภาพบุคคลทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ยกศรเหนือศีรษะ ยกเท้าซ้าย มีฤาษีนั่งบนแท่นหิน มีสตรี 2 นางอยู่ด้านล่าง ภาพชุดนี้อาจเป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติ หรือเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระรามยกมหาธนู

 

ช่องวิมานชั้นที่หนึ่ง แสดงภาพเล่าเรื่องเตมียชาดก พระชาติแรกในทศชาติ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ บำเพ็ญขันติบารมี มิได้หวั่นไหวแม้เมื่อถูกข่มขู่คุกคามด้วยอสรพิษหรือศาสตราวุธ

บรรพแถลงชั้นที่สองแสดงภาพบุคคลทรงเครื่องกษัตริย์กำลังน้าวศร ภาพนี้อาจเล่าเรื่องสุวรรณสามชาดก หรือเรื่องอื่นๆ

 

เหนือภาพบุคคลน้าวศรเป็นช่องวิมานชั้นที่สอง ปูนปั้นเล่าเรื่องมหาชนกชาดก แสดงภาพตอนที่นางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนกขึ้นมาวางไว้บนแท่นศิลากลางสระบัวในราชอุทยานกรุงมิถิลา หลังจากพระมหาชนกประสบเหตุเรือแตกระหว่างเดินทางไปค้าสำเภา แต่ยังคงบำเพ็ญวิริยะบารมี ว่ายน้ำกลางมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน

 

ปูนปั้นประดับปรางค์ด้านทิศใต้

 

ลวดลายประดับทางด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน ยังหลงเหลืออยู่มาก ขณะที่ทางด้านตะวันตกแทบไม่ปรากฏแล้ว

 

ปูนปั้นทางด้านนี้ดูมีลวดลายเด่นชัด แต่บางส่วนคงทำขึ้นในสมัยหลัง

 

หน้าบรรพจระนำซุ้มลด ประกอบด้วยซุ้มด้านนอกและด้านใน ซุ้มด้านนอกประดับภาพเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา  ซุ้มด้านใน ติดองค์ปรางค์ ประดับภาพครุฑยุดนาค

 

เช่นเดียวกับกรอบซุ้มจระนำของด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก เหนือกรอบของจระนำซุ้มลดเป็นแนวใบระกา  ภายในประดับรูปเทวดาพนมมือ ที่ปลายฐานกรอบซุ้มประดับปูนปั้นมกรคายนาคห้าเศียร ตรงช่องว่างระหว่างซุ้มลดมีรูปยักษ์

 

บรรพแถลงชั้นที่หนึ่ง ประดับภาพเล่าเรื่องพระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อสมุทร ปูนปั้นประดับในส่วนนี้คงทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะนิทานคำกลอนของสุทรภู่เรื่องนี้แต่งขึ้นเมื่อช่วงต้นกรุงฯ

 

ช่องวิมานชั้นที่หนึ่ง ประดับปูนปั้นเล่าเรื่องเนมิราชชาดก พระเนมิราชประทับรถทรงของพระอินทร์ เยี่ยมชมนรกขุมต่างๆ ถัดขึ้นไปเป็นบรรพแถลงชั้นที่สอง แสดงภาพเทวดายืนประนมมือในกรอบซุ้มใบระกา

 

ช่องวิมานชั้นที่สอง แสดงภาพบุคคลสามคนกำลังไถนา กลางภาพเป็นบุคคลผู้ชายกำลังถือผาลไถที่เทียมด้วยวัว ทางด้านหลังหรือปีกขวาของภาพเป็นภาพสตรีนางหนึ่งกับบุรุษทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ สตรีหาบคานสาแหรกบนบ่า บุรุษกำลังหยิบสิ่งของในกระจาด ภาพรวมดูคล้ายพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรืออาจเป็นฉากแรกนาจากพุทธประวัติ หรือจากวรรณกรรมรามเกียรติ์

 

ที่ช่องวิมานชั้นที่สาม เล่าเรื่องภูริทัตชาดก พระชาติที่หกของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพญานาคภูริทัต เหลือปูนปั้นเฉพาะทางขวาสุดของภาพ มองเห็นพราหมณ์อาลัมพายน์ มือซ้ายถือมีด แขนขวาคล้องข้องใส่งู กำลังยกขายันจอมปลวก รังแกพญานาคที่จำศีลอยู่ในจอมปลวก แม้ถูกข่มเหง ภูริทัตมิได้โกรธ

 

ปูนปั้นประดับส่วนบนของเรือนธาตุ เรียกว่า ชุดบัวรัดเกล้า เริ่มที่ลายเฟื่องอุบะ ทรงสามเหลี่ยมปลายชี้ลง ตรงส่วนบนของผนังเรือนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นบัวและลวดลายแบบต่างๆ

 

ปูนปั้นประดับส่วนล่างของเรือนธาตุ เรียกว่า ชุดบัวเชิง ปรากฏลายกรวยเชิง ทรงสามเหลี่ยมปลายชี้ขึ้น ตรงส่วนล่างของผนังเรือนธาตุ ถัดลงไปเป็นบัวและลวดลายแบบต่างๆ

 

ในวัดมหาธาตุ ราชบุรี ยังมีศิลปกรรมอื่นๆ อันน่าชื่นชมความงามในเชิงช่างศิลป์ อยู่อีกมาก.

 

เอกสารอ้างอิง

 

ปติสร เพ็ญสุต.  (2555).  ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในเขตพุทธาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี.  วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหา    บัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี

ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี

ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม

ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี

ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี

ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี

ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog