เอ่ยถึงโบราณสถานในเมืองลพบุรี ผู้คนมักนึกถึงพระปรางค์สามยอด ศาสนสถานในศิลปะขอม ไม่ไกลจากปรางค์สามองค์ เป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ปรางค์องค์แรกๆในศิลปะไทยปรากฏขึ้นที่นี่
ปรางค์ประธาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี สร้างขึ้นก่อนราชธานีกรุงศรีอยุธยาราว 100 ปี นับเป็นปรางค์แบบไทยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เป็นแบบอย่างแก่การสร้างเจดีย์ทรงปรางค์นับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา
ปรางค์ประธานสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในพระอารามที่เป็นศูนย์กลางของนคร ปรากฏขึ้นด้วยคตินิยมเดียวกับการประดิษฐานพระมหาธาตุไว้ใจกลางเมืองสำคัญของแว่นแคว้นโบราณทุกยุคสมัย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี สร้างขึ้นเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 หรือประมาณพ.ศ.1800 ก่อนพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 1893
สันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อลพบุรีพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมขอมแล้ว มีบันทึกในจดหมายเหตุจีนว่า ระหว่างพ.ศ. 1832-1842 เมืองลพบุรีส่งทูตไปเจริญไมตรีกับจีนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง นั่นย่อมแสดงถึงความมีอิสระของนครแห่งนี้ (สันติ เล็กสุขุม 2555, 304)
ภายในวัด นอกจากปฐมปรางค์ในศิลปะไทยแล้ว ยังมีเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์อีกหลายองค์ (สันติ เล็กสุขุม 2553,193-231)
ปรางค์ประธาน
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี มีเจดีย์ประธานเป็นทรงปรางค์ ยังมีเค้าของปราสาทขอม ทั้งรูปแบบสัดส่วนและลวดลายปูนปั้นประดับ
ลวดลายที่ปรากฏในปัจจุบัน มีทั้งงานคราวสร้างและงานคราวซ่อม วัดสำคัญแห่งนี้ผ่านการปฏิสังขรณ์ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย
ปรางค์มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ส่วนล่างเป็นชุดฐาน ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุ และส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่น
ชุดฐานขององค์ปรางค์ก่อบนฐานซ้อนลดหลั่น 3 ฐาน เป็นชุดฐานที่ไม่สูงนัก เช่นเดียวกับปรางค์ขอมทั่วไป ก่อนที่ชุดฐานของปรางค์ไทยจะยืดสูงในสมัยหลัง
เรือนธาตุมีลวดลายประดับที่ซุ้มบรรพแถลง ที่ส่วนล่าง และที่ส่วนบน ของผนังเรือนธาตุ
ส่วนยอดประกอบด้วยรูปจำลองของเรือนธาตุ ที่เรียกว่า บรรพแถลง ซ้อนลดหลั่นกัน อันแสดงความหมายของปราสาท
ปรางค์แห่งนี้มีตรีมุขยื่นออกไปทางตะวันออก ปีกทั้งสองข้างของปรางค์ยังคงเหลือส่วนฐานอาคารซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งของปรางค์ปีกในแนวเหนือ-ใต้
ที่ซุ้มบรรพแถลงของเรือนธาตุทางทิศใต้ มีปูนปั้นแสดงภาพพระพุทธองค์และสาวก ประทับนั่งในเรือนแก้ว ที่ผนังส่วนบนของเรือนธาตุประดับด้วยลายเฟื่องอุบะ คือ รูปมาลัยดอกไม้ทรงสามเหลี่ยมปลายชี้ลง ดูคล้ายแขวนเรียงเป็นราว
เหนือจากลายฟื่องอุบะบนยอดผนัง เป็นลวดลายประดับแบบต่างๆบนชุดลวดบัวรัดเกล้า
เสากรอบซุ้มประตูยังหลงเหลือลวดลายปูนปั้น ส่วนล่างของผนังเรือนธาตุประดับลายกรวยเชิง
ประตูซุ้มซ้อนด้านทิศใต้ของตรีมุข ยังเหลือลวดลายประดับรุ่นสร้างปรางค์อยู่ตรงทับหลังกรอบประตู ลายกรวยเชิง ลายเฟื่องอุบะ และที่ชุดลวดบัวรองรับเสากรอบประตู
บนแผ่นสี่เหลี่ยมในตำแหน่งของทับหลังปราสาทแบบขอม มีรูปเล่าเรื่องกฤษณาวตาร แต่ถูกทับซ้อนด้วยรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ด้านทิศเหนือของตรีมุข มีลวดลายประดับที่กรอบซุ้มของหน้าบรรพชั้นซ้อน
ปรางค์หมายเลข 16 ค.
ภายในวัดแห่งนี้ มีเจดีย์รายจำนวนมาก หลากหลายรูปแบบ แต่ละองค์มีชื่อเรียกพร้อมหมายเลขกำกับ
นักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่า ปรางค์หมายเลข 16 ค.สร้างขึ้นในคราวเดียวกับปรางค์ประธาน
ที่ลวดบัวรัดเกล้าตรงส่วนบน และที่ลวดบัวเชิงตรงส่วนล่างของเรือนธาตุ รวมทั้งเสาซุ้มประตู มีลายปูนปั้นประดับ
เจดีย์หมายเลข 1 ข.
ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์ประธาน ใกล้กับกำแพงวัด มีเจดีย์ยอดทรงกลีบมะเฟือง เรียกชื่อว่า เจดีย์หมายเลข 1 ข. โดดเด่นด้วยปูนปั้นรูปเทวดายืนประนมกร เรียงรายอยู่ตอนล่างของส่วนบน
ส่วนเศียรของรูปเทวดาถูกคนร้ายลักลอบกะเทาะเอาไป กรมศิลปากรปั้นพระพักตร์ขึ้นใหม่แทนของเดิม โดยอาศัยแบบจากภาพถ่ายเก่า
เจดีย์หมายเลข 6 ข.
เจดีย์รายอีกองค์หนึ่ง เรียกชื่อว่า เจดีย์หมายเลข 6 ข. ตั้งอยู่ใกล้กับกำแพงแก้วทางด้านเหนือ มีส่วนยอดเป็นทรงกลีบมะเฟืองเช่นกัน ต่างกันตรงส่วนฐานที่มีจระนำประดับ ทำให้องค์นี้มีสัดส่วนสูงกว่า
ภายในจระนำตรงส่วนเรือนธาตุ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ด้านทิศใต้เป็นพระยืน ปางแสดงธรรม (พระกรขวาตั้งแต่ข้อศอกชำรุดหักหาย)
ด้านทิศเหนือเป็นปางลีลา บ่งบอกแรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัย กรมศิลปากรปั้นพระพักตร์ขึ้นใหม่แทนของเดิมที่ถูกโจรกะเทาะเอาไป (ไม่ปรากฏในภาพ)
เจดีย์ทรงระฆังหมายเลข 5 ข.
เจดีย์รายองค์นี้อยู่ทางด้านเหนือของวัด ก่อบนชุดฐานสูง ผนังของฐานส่วนล่างประดับปูนปั้นรูปพระสงฆ์สาวกพนมมือ
เศียรของรูปพระสงฆ์ถูกคนร้ายกะเทาะเอาไปทั้งหมด
เจดีย์ทรงระฆังในผังแปดเหลี่ยม หมายเลข 14 ข.
เจดีย์ราย หมายเลข 14 ข. เป็นทรงระฆังในผังแปดเหลี่ยม
ส่วนกลางของเจดีย์เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำ 3 ชั้น เหมือนลวดบัวถลาในศิลปะสุโขทัย ถัดลงมาเป็นลายดอกไม้ ลายวงกลมแบบจีนสลับด้วยลายดอกไม้สี่กลีบ
ใต้องค์ระฆังมีจระนำซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงต่อกันโดยรอบ
ถ้าสนใจชมปรางค์ไทยองค์แรกๆที่พัฒนาจากปราสาทแบบขอม พร้อมเจดีย์รูปทรงแปลกตา เชิญทอดทัศนา ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี.
เอกสารอ้างอิง
สันติ เล็กสุขุม. (2553). งานประดับก่อนและหลังสถาปนาราชธานีกรุงศรีอยุธยา : วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี. ใน พัฒนาการของลายไทย : กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
สันติ เล็กสุขุม. (2555). สถาปัตยศิลป์ไทยโบราณ : ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี. ใน คุยกับงานช่างไทยโบราณ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา
ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี