ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ เสนอรัฐชะลอการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะแรก 3.5 กิโลเมตร ชี้ไม่คุ้มค่าและเสี่ยงขาดทุน แต่ควรเดินหน้าก่อสร้าง เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ก่อน

นักวิชาการ เสนอรัฐชะลอการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะแรก 3.5 กิโลเมตร ชี้ไม่คุ้มค่าและเสี่ยงขาดทุน แต่ควรเดินหน้าก่อสร้าง เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ก่อน 

ในงานเสวนา "รถไฟความเร็วสูง:ความคุ้มค่าระยะยาว บนการก่อสร้างระยะสั้น" นายสามารถ ราชพลสิทธิ์  ผู้เชี่ยวชาญการขนส่งและจราจร มองว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร ที่จะเริ่มก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตร เป็นระยะทางสั้น ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเมื่อสร้างเสร็จ จะยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้จริง  จึงเกรงว่าจะซ้ำรอยโครงการโฮปเวล

พร้อมแนะ ควรก่อสร้างในเส้นทางนี้ต่อเนื่องไปถึงหนองคาย หรือรวมระยะทาง 600 กิโลเมตร เชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาวและจีน เพื่อช่วยลดการขาดทุนจากการใช้บริการของนักท่องเที่ยวจีนและลาว เข้ามาชดเชยรายได้ส่วนนี้ 

ขณะที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุ รัฐบาลควรเลือกก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เฉพาะเส้นทาง กรุงเทพฯ  - เชียงใหม่ ก่อน เพราะประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเดินทาง ประมาณ 6-7 ล้านคนต่อปี โดยต้องกำหนดราคาให้แข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำได้ ที่กิโลเมตรละไม่เกิน 3 บาท 
 
ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีรถไฟทางคู่อยู่แล้ว ซึ่งใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากบริหารจัดการให้ดี ก็ยังไม่จำเป็นต้องสร้างรถไฟความเร็วสูง ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง ควรทบทวนแผนก่อสร้างอีกครั้ง เพราะต้องใช้งบประมาณสูง เสี่ยงต่อการลงทุน  รัฐควรจัดตั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงโดยเฉพาะ และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพียงระบบเดียว เพื่อช่วยลดต้นทุนการบำรุงรักษาในอนาคต

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุ การพิจารณาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ต้องผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีแต่ละประเทศ ซึ่งมีทั้งของจีนและญี่ปุ่น เชื่อว่าจะไม่ปัญหาการเชื่อมต่อและการบำรุงรักษา  

ด้านนายธนินท์  เจียรวนนท์  ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ยอมรับกลุ่มซีพี สนใจร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ - ระยอง  ขณะนี้ กำลังศึกษาข้อมูลและจัดทำรายละเอียดโครงการ คาดจะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือนนี้ แม้โครงการมีโอกาสขาดทุนสูง แต่จะช่วยกระจายความเจริญสู่ชนบท

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog