ไม่พบผลการค้นหา
ในขณะที่อังกฤษกำลังยุ่งกับการประชามติ Brexit ชาวอังกฤษอีกส่วนก็เข้าไปสร้างความวุ่นวายในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มหกรรมบอลยูโรมีแต่เหตุแฟนบอลตีกัน เรื่องนี้สะท้อนสภาพการเมืองและสังคมยุโรปอย่างไร

ในขณะที่อังกฤษกำลังยุ่งกับการประชามติ Brexit ชาวอังกฤษอีกส่วนก็เข้าไปสร้างความวุ่นวายในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มหกรรมบอลยูโรมีแต่เหตุแฟนบอลตีกัน เรื่องนี้สะท้อนสภาพการเมืองและสังคมยุโรปอย่างไร 

การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ที่ฝรั่งเศสผ่านพ้นไปเกือบ 1 สัปดาห์ โดยไม่สามารถเรียกได้เลยว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่นและชื่นมื่น แต่แทนที่ปัญหาจะเกิดจากปัจจัยที่รัฐบาลกังวลอย่างเหตุก่อการร้าย น้ำท่วม หรือการประท้วงจากสหภาพแรงงาน เรื่องที่กลายเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลกกลับกลายเป็นการปะทะกันอย่างต่อเนื่องและรุนแรงระหว่างแฟนบอล โดยเฉพาะอังกฤษกับรัสเซีย ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองมาร์กเซย และเมืองลีลล์ 2 ใน 10 เมืองที่ใช้เป็นสถานที่แข่งขันฟุตบอลยูโร

แน่นอนว่าสาเหตุที่แฟนบอลอังกฤษกับรัสเซียมีปัญหามากกว่าชาติอื่นๆ เป็นเพราะทั้ง 2 ประเทศขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องการมีแฟนบอลหัวรุนแรงชาตินิยมสุดโต่ง ฝั่งอังกฤษก็คือกลุ่มแฟนบอลที่ถูกขนานนามว่าฮูลิแกน ส่วนฝั่งรัสเซีย ก็มีแฟนบอลกลุ่มอัลตรา ที่ดุดันและนิยมใช้ความรุนแรงไม่แพ้กัน

นอกจากนี้ แฟนบอลอังกฤษยังเข้ามาชมการแข่งขันบอลยูโรปีนี้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้งมาร์กเซยและลีลล์อยู่ไม่ไกลจากชายแดนอังกฤษมากนัก เดินทางได้สะดวกง่ายดายเพียงข้ามช่องแคบอังกฤษ จึงไม่แปลกที่เมื่อมีแฟนบอลหัวรุนแรงแออัดหนาแน่นกันอยู่ในสองเมืองเล็กๆ การปะทะกนถึงขั้นจลาจลจึงพร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ 

แต่ปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในเหตุรุนแรงและการทำร้ายกันของแฟนบอล ก็คือการเมืองและสภาพสังคมที่ตึงเครียดของยุโรป สถานการณ์ระหว่างอังกฤษกับอียูไม่ดีนักอยู่แล้ว จากการทำประชามติ Brexit ที่อังกฤษจะตัดสินใจอยู่หรือไปจากอียู การถกเถียงกันในเรื่องนี้ปลุกเร้ากระแสต่อต้านยุโรปและชาตินิยมสุดโต่งให้เข้มข้นรุนแรงขึ้นในอังกฤษ เมื่อมาเจอกับแฟนบอลรัสเซีย ที่มีความชาตินิยมสูงมาก และมีประเด็นการเมืองขัดแย้งกับสหภาพยุโรปอยู่แล้วจากการถูกคว่ำบาตรในกรณีการผนวกรวมยูเครนโดยไม่ชอบธรรม การกระทบกระทั่งกันจึงเกิดขึ้นและบานปลายได้ง่าย

นอกจากอังกฤษและรัสเซีย สถานการณ์ทั่วไปในชาติอื่นๆของยุโรปก็ไม่ได้ดีกว่ากันนัก ฝรั่งเศสและเยอรมนี ต่างก็เผชิญกับกระแสขวาสุดโต่งที่โหมกระพือขึ้นมาจากวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยและความหวาดกลัวภัยก่อการร้าย ยังไม่นับสภาพเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำเรื้อรัง ทำให้ความตึงเครียดในสังคมมีสูง ความหวาดระแวงชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น และความอดทนต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็ลดน้อยลงอย่างมาก

เหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนของสังคมยุโรปปัจจุบัน ที่คุณค่าประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิเสรีภาพ ถูกท้าทายด้วยความเกลียดกลัวภัยคุกคามต่างๆ จนน่าสงสัยว่าในอนาคตอันใกล้ โฉมหน้าของยุโรปจะกลายเป็นเมืองจลาจลแบบมาร์กเซยและลีลส์ในช่วงบอลยูโรหรือไม่ 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog