ไม่พบผลการค้นหา
เรารู้กันอย่างคร่าวๆ ว่าการชุมนุม Bersih 3.0 คือการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย แต่เรามักไม่รู้ข้อเรียกร้องที่แท้จริงของพวกเขา

 

เรารู้กันอย่างคร่าวๆ ว่าการชุมนุม Bersih 3.0 คือการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย แต่เรามักไม่รู้ข้อเรียกร้องที่แท้จริงของพวกเขา 
 
 
กลุ่มผู้ประท้วงในชุดเสื้อสีเหลืองเหล่านี้ ออกมาเดินขบวนกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีจัตุรัสเมอร์เดกาเป็นเป้าหมายของการรวมตัว เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้งในประเทศมาเลเซีย
 
 
แม้ว่ารัฐสภาของมาเลเซียจะเพิ่งผ่านกฎหมายหลายฉบับว่าด้วยการปฏิรูปการเลือกตั้ง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็มองว่า ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของการเลือกตั้งในมาเลเซีย อย่างการความไม่เป็นกลางของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการโกงบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คณะจัดงานจึงได้จัดการเดินขบวนขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพิ่มเติมจากเดิมอีก 3 ข้อ 
 
 
คือให้คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออก เนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน  ให้ปฏิรูปการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ซึ่งจะมีขึ้นภายในปี 2556 และให้เชิญผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งที่ 13 ด้วย
 
 
สำหรับข้อเรียกร้องเดิมที่มีอยู่แล้วตั้งแต่การเดินขบวนครั้งที่สอง ได้แก่
 
 
1. จัดการทำบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งขึ้นใหม่ เพื่อป้องกันการผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผี
 
2. ปฏิรูปการลงคะแนนทางไปรษณีย์อย่างโปร่งใส เพื่อให้คนที่ไม่สามารถมาลงคะแนนด้วยตัวเองในวันเลือกตั้ง มีช่องทางในการลงคะแนนเสียง
 
3. ให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
 
4. กำหนดระยะเวลาให้ผู้ลงสมัครหาเสียงอย่างน้อย 21 วัน เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังนโยบายและพิจารณาถี่ถ้วนว่าจะลงคะแนนเสียงให้ใคร จากพรรคใด
 
5. กำหนดให้สื่อมวลชนทุกแขนงรายงานการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา และเสนอข่าวให้ทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน
 
6. ให้สถาบันสาธารณะ เช่น ตุลาการ อัยการ หน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชันของมาเลเซีย ตำรวจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง คงความอิสระและเป็นกลางในช่วงการเลือกตั้ง
 
 
7. ยุติการคอร์รัปชัน 
 
 
8. ยุติการเล่นการเมืองแบบสกปรก
 
 
นอกจากในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียแล้ว การประท้วง Bersih 3.0 ในวันนี้ ยังมีขึ้นพร้อมกันใน 85 เมือง 35 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อังกฤษ สวีเดน รวมถึงประเทศไทย
 
 
อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจารณ์ว่าการเดินขบวนในครั้งนี้ว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน และกลายเป็นเสมือนการประท้วงที่จัดขึ้นโดยพรรคฝ่ายค้าน แต่คณะกรรมการผู้จัดงานยืนยันว่า การเดินขบวนครั้งนี้เกิดขึ้นจากการริเริ่มของเอ็นจีโอ 84 องค์กร และจะไม่มีพรรคการเมืองใดแย่งชิงความจริงนี้ได้
 
 
Produced by Voice TV
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog