ไม่พบผลการค้นหา
​ถึงแม้ว่ามุสลิมชีอะห์ จะสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 จากชาวมุสลิมทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย แต่มุสลิมกลุ่มนี้ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุด ที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย

ถึงแม้ว่ามุสลิมชีอะห์ จะสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 จากชาวมุสลิมทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย แต่มุสลิมกลุ่มนี้ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุด ที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย
     
เมื่อเสียงอาซานดังขึ้นจากมัสยิดผดุงธรรมอิสลามย่านธนบุรี เป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาของการทำละหมาดประจำวัน ชาวมุสลิมในบริเวณนี้จะเข้ามาทำละหมาดพร้อมกัน 5 ครั้งต่อวัน ที่มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนสถานแห่งล่าสุด ของกลุ่มมุสลิมชีอะห์ในกรุงเทพ

ชาวมุสลิมรอบมัสยิดผดุงธรรม จะละหมาดโดยใช้ดิน กัรบาลา รองหน้าผาก ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของการทำละหมาดของมุสลิมชีอะห์ โดยดินดังกล่าวมาจากเมืองการ์บาลาในอิรัก ที่ชาวมุสลิมชีอะห์ เชื่อว่า อิหม่ามฮูเซ็น หลานชายของนบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลามที่พวกเขานับถือเสียชีวิต

มุสลิมชีอะห์ในประเทศไทย มีเชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิม ที่เก่าแก่ที่สุด ที่เดินทางเข้ามาในสยาม ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานให้เห็นในสมัยปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ขณะนั้นมีการเปิดรับพ่อค้าต่างชาติ จึงทำให้กลุ่มเปอร์เซียที่ชำนาญด้านการค้าและการเดินเรือ เดินทางเข้ามาค้าขายในอยุธยา จนผู้นำของกลุ่มได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางชั้นสูง ทำหน้าที่ปรึกษาราชการด้านค้าขายและการเดินเรือ มีบทบาทสำคัญทำให้การค้าราชสำนักอยุธยาดีขึ้นตามลำดับ

หลังจากเข้ามาในสมัยธนบุรี มีชุมชนแรกเกิดขึ้นในบริเวณคลองบางกอกใหญ่ แต่ตามหลักฐาน ไม่กล่าวถึงการสร้างศาสนสถานของตนเอง แต่กล่าวถึงการใช้ มัสยิดต้นสน หรือ กระฏีใหญ่ ร่วมกัน กับผู้ร่วมศาสนาที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวก่อนหน้านี้ หลักฐานอีกอย่างหนึ่ง ปรากฏให้เห็นในกุโบร์ หรือสุสานบริเวณมัสยิด ที่ฝังร่างผู้เสียชีวิตร่วมกัน 2 นิกาย คือ ซุนนี และ ชีอะห์ 

มุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย เริ่มตั้งชุมชนของตนเองในสมัยรัชกาลที่ 1 บนที่ดินพระราชทาน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ทรงพระราชทานให้แก่อดีตจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย  จึงได้ชักชวนพี่น้องมุสลิมเข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้ และอยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ตั้งศาสนสถานของตนเองขึ้น ที่เรียกว่ากะดี หรือ กุฏี คำในภาษาเปอร์เซีย ใช้เรียกศาสนสถานของมุสลิมชีอะห์ โดยในกรุงเทพมีทั้งหมด 3 กะดี ได้แก่ กุฏีเจ้าเซ็น กุฏีเจริญพาศน์ และกุฏีปลายนา นอกจากนี้ ยังได้ตั้งมัสยิด หรือสุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม เป็นศาสนสถานล่าสุด  เป็นที่มาของคำว่า "สามกะดี สี่สุเหร่า" ในบริเวณนี้ 

ปัจจุบัน ชาวมุสลิมฝั่งธนบุรี ประกอบอาชีพเช่นเดียวกับชาวพุทธ และบางส่วนประกอบอาชีพการท่องเที่ยว บริการนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมประเทศอื่น ที่ต้องการเดินทางเข้ามาในกรุงเทพ ซึ่งมักจะเลือกใช้บริการของชาวมุสลิมด้วยกันเอง เพราะมีความเข้าใจกันด้านภาษา และข้อประพฤติปฏิบัติทางศาสนา 

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ในสื่อต่างๆ จะกล่าวถึงความขัดแย้งหรือความรุนแรง ที่ก่อขึ้นโดยชาวมุสลิมบ่อยครั้ง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านมุสลิมทั่วโลก มุสลิมที่ก่อเหตุเหล่านั้น เป็นเพียงมุสลิมส่วนน้อยเท่านั้น ที่ชาวมุสลิมบางคนบอกว่า พวกเขาไม่ถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นพี่น้องร่วมศาสนา เพราะไม่มีศาสนาไหน สอนให้ฆ่าคน  ซึ่งชุมชนมุสลิมย่านธนบุรี เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม ปราศจากความขัดแย้ง และการแบ่งแยกทางศาสนา  

   

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog