เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงการต่อสู้ของภาคประชาชน ไม่เพียงในไทยเท่านั้น แต่เกาหลีใต้ก็มีการรำลึกพฤษภาทมิฬในวันนี้เช่นกัน ต่างกันแต่ว่าการเมืองภาคประชาชนในเกาหลีมีพลังพอที่จะนำตัวผู้บงการการปราบปรามประชาชนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
18 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแห่งการรำลึกถึงวีรชนกว่า 300 รายที่เสียชีวิตในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารของนายพลชุนดูฮวอน เผด็จการที่ครองอำนาจหลังการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีพักจองฮี ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมุดหมายด้านประชาธิปไตยครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในเกาหลีใต้
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬฯของเกาหลีใต้ถูกจดจำในฐานะเหตุการณ์ 5.18 หรือวันที่ 18 เดือน 5 แต่อันที่จริงสถานการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงภายในวันเดียว ความวุ่นวายทางการเมืองในเกาหลีใต้ช่วงปี 1975 ถึง 1980 พุ่งสูงถึงขีดสุด อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตกะทันหันของประธานาธิบดีพักจองฮีที่ครองอำนาจอย่างเผด็จการยาวนานกว่า 16 ปี สุญญากาศทางการเมืองเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่ถูกกดขี่มานานกลับมาคึกคัก ทั้งในกลุ่มกรรมาชีพ และนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย มีการเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นประชาธิปไตย ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร และบานปลายไปถึงการปฏิรูปการเมือง ถอนรากถอนโคนระบอบเผด็จการ
การประท้วงที่นำโดยนักศึกษาปัญญาชนลุกลามไปทั่วประเทศ แต่แทนที่จุดปะทะหลักจะอยู่ที่กรุงโซล เมืองหลวง ผู้ชุมนุมในโซลกลับเลือกไม่ต่อสู้แบบเด็ดขาดเพราะกลัวการถูกล้อมปราบโดยทหารที่ตรึงกำลังหนาแน่น ขณะที่ในเมืองควังจู นักศึกษาประชาชนชุมนุมต่อเนื่องและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศในวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 ทำให้แกนนำการประท้วงหลายคนถูกจับ หนึ่งในนั้นคือคิมแดจุง ผู้ต่อมากลายเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้
การจับกุมแกนนำทำให้ผู้ชุมนุมยิ่งโกรธแค้นและหลั่งไหลออกมาสู่ท้องถนนในควังจูในเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม จนทหารตัดสินใจใช้กำลังปราบปราม มีทั้งการใช้กระบองติดเข็มเหล็ก ดาบปลายปืน และกระบองสั้น แต่ผู้ชุมนุมกลับยิ่งเพิ่มความโกรธแค้นและต่อสู้กับทหารด้วยก้อนหินและอาวุธเท่าที่หาได้ ชาวเมืองบุกยึดสถานที่ราชการและตั้งป้อมรับมือทหาร การคุมเชิงดำเนินไปนานหลายวันโดยทหารไม่ยอมเจรจากับผู้ประท้วง สุดท้ายการชุมนุมก็จบลงด้วยการถูกล้อมปราบในวันที่ 26 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ราย และบาดเจ็บหลายพันคน โดยทหารอ้างว่าเป็นการปราบแก๊งจลาจลป่วนเมืองติดอาวุธ ที่ถูกชักใยโดยคอมมิวนิสต์และสายลับเกาหลีเหนือ
หลังจากเหตุการณ์นั้น นายพลชุนดูฮวอนได้ครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ มีการปูนบำเหน็จทหารที่สร้างผลงานปราบปรามประชาชน และจับกุมสื่อที่รายงานการล้อมปราบในควังจู แต่ผลจากการกระทำอันโหดเหี้ยมของทหารทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตที่ควังจูอย่างหนักหน่วงตลอดทศวรรษที่ 1980 และทำให้เกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในปี 1987 ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องยอมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนความผิดของนายพลชุนดูฮวอน ทั้งการรัฐประหาร ทุจริตคอรัปชั่น และการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 5.18 ที่ควังจู
ในช่วงแรกดูเหมือนว่าการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชาชนจะไม่สำเร็จ เพราะคณะกรรมการพบว่าไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับใดเอาผิดบรรดานายทหารระดับสูงเหล่านี้ได้ทั้งในคดีรัฐประหารและเข่นฆ่าประชาชน แต่สุดท้ายก็มีการเรียกร้องให้ออกกฎหมายพิเศษสำหรับทำคดีเหตุการณ์ 5.18 โดยเฉพาะ เพื่อสร้างบรรทัดฐานว่าไม่มีกฎหมายใดสามารถปกป้องเผด็จการผู้สร้างความเสียหายต่อชาติและเข่นฆ่าประชาชนได้
หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในควังจู 16 ปี ในที่สุดนายพลชุนดูฮวอน ก็ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาก่อกบฏจากการทำรัฐประหาร และคอรัปชั่น แต่ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนายโรแตวู ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากชุน ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี ทั้งคู่ถูกจำคุกอยู่ 2 ปี ก่อนจะได้รับการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม นายโรแตวูยังถูกตัดสินให้ชดใช้หนี้ให้แก่ประเทศเป็นเงิน 235 ล้านดอลลาร์จากการทุจริตคอรัปชั่นในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งปัจจุบันเขายังคงต้องผ่อนใช้หนี้อีกกว่า 21 ล้านดอลลาร์