กรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงทะเลที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้มีนวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหานี้ได้ คือ 'พาราโวลา' นวัตกรรมวัสดุกักเก็บน้ำมันจากน้ำยางพาราที่สามารถใช้ซ้ำได้
แผ่นโฟมสีขาว ล้อมรอบด้วยตาข่าย เป็นผลงานที่ ดร.สุวดี ก้องพารากุล อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คิดค้นขึ้น หลังเล็งเห็นถึงผลกระทบของปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ที่เกิดขึ้นประจำทุกปี
โดยจากสถิติล่าสุดของกรมเจ้าท่า พบว่า ในปี 2556 มีน้ำมันรั่วไหลมากถึง 7 ครั้ง มีปริมาณน้ำมันรวมสูงถึง 70 ตันลิตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ สัตว์ทะเล ทำให้สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศบริเวณโดยรอบเสียหาย
ดร.สุวดี จึงเริ่มต้นงานวิจัยเพื่อคิดค้นวัสดุกักเก็บน้ำมันในปี 2556 โดยเริ่มจากการนำวัสดุใกล้ตัวที่เป็นสินค้าหลักของไทย และมีราคาไม่แพงอย่าง น้ำยางพารา มาศึกษาวิจัยด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนสามารถสร้างนวัตกรรมวัสดุกักเก็บน้ำมันจากน้ำยางพารา ที่ใช้ซ้ำได้ เป็นครั้งแรกของโลก
โฟมชนิดนี้จะแยกน้ำมันทุกชนิดออกจากน้ำ และกักเก็บน้ำมันได้มากกว่า 100 เท่าของวัสดุเริ่มต้น ดูดซับรวดเร็วในเวลาไม่เกิน 3 วินาที โดยน้ำมันที่รีดออกมาจะยังคงคุณสมบัติเดิม ขณะที่โฟมนำกลับมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 100 ครั้ง ต่างจากวัสดุกักน้ำมันของต่างประเทศที่ผลิตจากโพลีเมอร์สังเคราะห์ และไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ
นวัตกรรมชิ้นนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประโยชน์สูงสุด
นวัตกรรม 'พาราโวลา' คว้ารางวัลเหรียญทองจากเวทีสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และรางวัลสิ่งประดิษฐ์ ระดับดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ
ปัจจุบัน 'พาราโวลา' ได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์โดยร่วมมือกับ บริษัทไพร้ซ อินโนเวชั่น จำกัด ในรูปแบบชุดดูดซับน้ำมัน ที่มีความยาวรวม 7 เมตร กักเก็บน้ำมันได้มากถึง 20 ลิตรต่อชุด พร้อมวางจำหน่ายสู่ท้องตลาด โดยจะเริ่มต้นเจาะกลุ่มนิคมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวพันกับน้ำมัน ก่อนพัฒนาเข้าสู่การใช้งานในครัวเรือนต่อไป