รอยเลื่อนแม่จัน ที่จังหวัดเชียงราย รอยเลื่อนมีพลังและขนาดใหญ่ โดยรอยเลื่อนพาดผ่านพื้นที่ชุมชนและป่าไม้ แต่ยังมีอีกสถานที่หนึ่ง ที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ว่ารอยเลื่อนแม่จันเคยขยับครั้งรุนแรงมาแล้วเมื่อหลายพันปีก่อน
ตำแหน่งของรอยเลื่อนแม่จันอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนน้ำมา รอยเลื่อนขนาดใหญ่ในเมียนมาร์ และวางตัวแนวเดียวกับรอยเลื่อนในลาว โดยในสองแนวรอยเลื่อนใกล้กันเคยเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 6.0 ริกเตอร์มาแล้วในรอบ 7 ปี
เมื่อเดินทางย้อนดูรอยเลื่อนแม่จันผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1089 มุ่งหน้าไปที่เวียงหนองหล่ม จุดต้นกำเนิดประวัติศาสตร์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในสมัยเมืองโยนกนาคนครไชยบุรีสรีช้างแสน ตามพงศาวดารล้านนา
วัดป่าหมากหน่อ คือ พื้นดิน 70 ไร่ ล้อมรอบด้วยหนองน้ำขนาดใหญ่ ตามคำบอกเล่า ที่นี่คือบ้านแม่ม่าย ผืนดินแผ่นเดียวที่ไม่จมใต้ธรณีในสมัยพระเจ้ามหาชัยชนะ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินพังถล่มหลังแบ่งปันเนื้อปลาไหลเผือกทั่วทั้งเมือง เหลือเพียงบ้านแม่ม่ายหลังเดียว ตรงตามบันทึกพงศาวดารล้านนา บันทึกไว้ว่า อาณาจักรโยนกนาคนคร สิ้นสลายในพระเจ้ามหาชัยชนะ
สอดคล้องกับข้อมูลสถิติแผ่นดินไหวที่กรมอุตุนิยมวิทยาบันทึกไว้ว่าปี พ.ศ.1003 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมืองโยนกนาคนครไชยบุรีสรีช้างแสน พื้นที่เดิม30,000 ไร่ เหลือปัจจุบัน 70ไร่ ภายใต้พื้นที่นี่พบวัตถุโบราณมากมาย เช่น ภาชนะ ตะเกียง ก้อนอิฐลายอักษรโบราณ และ รูปนกหัสดีลิงค์ และ คน ทั้งยังมีกระดูช้างจำนวนมาก โดยทั้งหมดขุดพบใต้หนองน้ำ ที่เชื่อว่า มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ใต้น้ำ
นอกจากนี้ รอบวัดยังมีแนวกำแพงใต้ดิน ล้อมรอบเป็นแนวยาว แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีผลการพิสูจน์ชัดเจน โดยทางวัดรอกรมศิลปากรเข้ามาศึกษาและพร้อมพัฒนาวัดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์