ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยเปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโทนเสียง กับการเลือกตั้ง โดยพบว่า ผู้ที่มีโทนเสียงทุ้มต่ำ

นักวิจัยเปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโทนเสียง กับการเลือกตั้ง โดยพบว่า ผู้ที่มีโทนเสียงทุ้มต่ำ มักจะได้รับเลือกตั้งมากกว่าคนที่มีโทนเสียงบางและแหลม ไม่ว่าคนๆนั้น จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม

 

ผลวิจัยล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Proceedings of the Royal Society B ของอังกฤษ เปิดเผยว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งใดๆ ก็ตาม ที่มีโทนเสียงทุ้มต่ำ จะได้รับการเลือกตั้งมากกว่า คนที่มีโทนเสียงเบาและบาง ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ ได้ทำการทดลองและเก็บข้อมูลของการออกเสียง ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง และนำเนื้อเสียงของแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน แล้วให้คนฟังมาตัดสินว่าจะเลือกใคร โดยคนฟังส่วนใหญ่มักเลือกคนที่มีเสียงทุ้มมากกว่าคนที่มีเสียงบาง



วิธีการที่นักวิจัยนำมาทดลองเพื่อเก็บข้อมูลก็คือ การนำอาสาสมัครผู้หญิงจำนวน 17 คน และชายจำนวน 10 คน มาอัดเสียง โดยให้พูดคำว่า "I urge you to vote for me this November." หรือ ฉันขอให้คุณลงคะแนนเสียงให้ฉันในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้น ก็นำเสียงที่ได้ไปดัดแปลงด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นเสียงสูงและต่ำกว่าระดับเสียงจริง และก็ให้ผู้ฟังมาฟังเสียงที่ดัดแปลงแล้ว ปรากฏว่าคนฟังเลือกคนที่มีเสียงทุ้ม มากกว่าคนที่มีเสียงบาง ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม


ทางด้านของผู้ช่วยศาสตรจารย์คาเซย์ คลอฟสตัด จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐอเมริกา หนึ่งในนักวิจัยที่รับผิดชอบโครงการนี้กล่าวว่า ที่ผ่านมา นักการเมืองจำนวนมาก ต่างก็เข้าใจถึงเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ซึ่งพวกเขาต่างก็ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ในการปรับโทนเสียงของตัวเอง เพราะพวกเขาเชื่อว่า เสียงของพวกเขานั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการส่งสาส์น หรือข้อความไปยังผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง


ขณะที่ รินดี แอนเดอร์สัน นักวิจัยอีกคนหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยดุก มลรัฐนอร์ธ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ก็แสดงความเห็นว่า ผลวิจัยดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดอย่างชัดเจนว่า เสียงเป็นตัวสื่อถือข้อมูลและสาระสำคัญที่สุด มากกว่าการสื่อสารในลักษณะอื่นๆ และสิ่งนี้อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมผู้หญิงถึงไม่ค่อยก้าวขึ้นมามีบทบาทในวงการการเมืองมากนัก เมื่อเทียบกับผู้ชาย


ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยกำลังเตรียมการที่จะนำผลวิจัยดังกล่าวมาทดลองกับการเลือกตั้งจริง เพื่อพิสูจน์สมมติฐานของพวกเขา และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผลการวิจัยนี้มากยิ่งขึ้น

 

Produced by VoiceTV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog