ภาพบุคคลส่องกล้องดูสุริยุปราคา ภายในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สะท้อนความสนใจปรากฏการณ์บนท้องฟ้า มองผ่านเทคนิควิทยาของโลกตะวันตก
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น อุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ นับเป็นวัดขนาดเล็กมาก มีเนื้อที่ราว 2 ไร่ครึ่ง
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของวัดราชประดิษฐ์ฯ คือ สีมาประดิษฐานบนกำแพงรอบวัด เขตพัทธสีมาจึงกินแดนครอบคลุมทั่วทั้งพระอาราม เรียกว่า มหาสีมา ดังนั้น พระวิหารหลวงจึงใช้เป็นพระอุโบสถได้
แผนผังวัดย้อนกลับไปใช้อย่างสมัยสุโขทัย คือ มีเจดีย์เป็นประธานของวัด มีวิหารหลวงอยู่ด้านหน้า พระเจดีย์นั้นเป็นทรงระฆังอย่างสมัยอยุธยา ซุ้มประตูวัดก็เป็นแบบอยุธยา
วิหารหลวง ซึ่งเรียกเป็นพระอุโบสถตามลักษณะการใช้งานได้ด้วยนั้น สร้างตามแบบไทยประเพณี หลังคาลดชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก
ที่ชายคามีปีกนก มีเสารองรับปีกนกเป็นเสากลม ประดับบัวหัวเสา มีมุขโถงทั้งด้านหน้าและหลังอาคาร เสารองรับหลังคามุขเป็นเสาเหลี่ยม
ทั้งหน้าบันประธานและหน้าบันมุข ทำเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฏ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4 อยู่เหนือพระแสงขรรค์ ตั้งอยู่บนพาน ขนาบข้างด้วยฉัตร ที่หน้าบันประธานนั้น มีรูปช้างรองรับฐานของตราประจำพระองค์ หมายถึงช้างเผือก 6 ช้างที่มีอยู่ในรัชสมัย รอบตรานั้นเป็นลายกระหนกเปลว ส่วนที่ตับล่างเป็นรูปเทวดา
พื้นผิวด้านนอกของตัวอาคาร รวมทั้งเจดีย์ประธาน หุ้มด้วยหินอ่อน
ประตูหน้าต่างของวิหารเป็นแบบไทยประเพณี ทำซุ้มประตูหน้าต่างเป็นทรงยอดมงกุฏ รองรับด้วยเสามีฐานสิงห์ ตัวเสาย่อมุมประดับบัวแวงที่หัวเสา ด้านหน้าอาคารมี 3 ประตู ประตูประธานอยู่กลาง ด้านหลังมี 2 ประตู
ภายในพระวิหารหลวง พระประธานประดิษฐานบนแท่นบุษบก เหนือช่องประตูหน้าต่างประดับซุ้มลายพฤกษาสีทองประดับกระจกสี
บนฝาผนังมีจิตรกรรม เหนือประตูหน้าต่างเป็นภาพเทพเทวดา ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน
พระประทาน มีนามว่า พระพุทธสิหังคปฏิมากร จำลองจากพระพุทธสิงหิงค์ ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่ฐานพระประดิษฐานกล่องศิลาบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 4
เบื้องหน้าซุ้มบุษบก มีพระพุทธนิรันตราย ภายในครอบแก้ว
จิตรกรรมที่โดดเด่นที่สุด คือ ภาพบุคคลกำลังส่องกล้องดูดาว ข้างบานประตูวิหาร เชื่อกันว่าเป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 4 ทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411
ภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน เขียนขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งโปรดเกล้าฯให้บูรณะซ่อมแซมวัดราชประดิษฐ์ฯ
พระราชพิธีสิบสองเดือนเป็นข้อกำหนดในกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ระบุพระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์ที่ต้องทรงประกอบในแต่ละเดือนภายในรอบปี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง
ภาพเขียนชุดนี้นับว่าทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะสะท้อนฉากวัง วัด เวียง วิถีผู้คนตั้งแต่เจ้านายถึงสามัญชน
ภายในวัดยังมีศิลปกรรมน่าชมอีกหลายอย่าง ด้านหลังพระวิหารหลวงมีเจดีย์ใหญ่ นามว่า ปาสาณเจดีย์ มีระเบียงคดล้อมรอบ
ข้างพระวิหาร มีปราสาทยอดปรางค์แบบขอม ทั้งสองด้าน มีขนาดและรูปทรงใกล้เคียงกัน
ปราสาททั้งสองสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังหนึ่งเป็นปราสาทพระไตรปิฎก อีกหลังเป็นปราสาทพระบรมรูป
ใกล้กับพระวิหารหลวง มีการเปรียญ เรียกว่า พระที่นั่งทรงธรรม ชั้นล่างเป็นตึกแบบตะวันตก หลังคาเป็นทรงโรงแบบไทย มีเครื่องลำยองประดับ
หน้าบันของการเปรียญเป็นไม้แกะสลัก ส่วนบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฏ ส่วนล่างเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ล้อบด้วยใบคะแคนธัส พื้นเป็นลายพุดตานใบเทศ
ภายในการเปรียญมีบรรยากาศอย่างตะวันตก หน้าต่างโค้งแบบโรมัน เสาอาคารประดับบัวหัวเสาแบบโครินเธียน เพดานตกแต่งด้วยลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก
ศิลปวัตถุอันงดงามภายในพระที่นั่งทรงธรรม คือ บุษบกธรรมาสน์ หลังคาเป็นซุ้มยอดมงกุฏประดับดอกไม้ไหว.
แหล่งข้อมูล
เอกสารแจกในงานฉลอง 150 ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 7-14 มิถุนายน 2558.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา
ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี