ไม่พบผลการค้นหา
พลิกปูมข่าวอีกครั้ง ใครควรรับผิดชอบ หลังมีข่าวกกต.จ่อเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท ฟ้องกปปส.ฐาน ‘ขัดขวางการเลือกตั้ง’ ควบฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยข้อหา ‘ปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้ง’

พลิกปูมข่าวอีกครั้ง ใครควรรับผิดชอบ หลังมีข่าวกกต.จ่อเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท ฟ้องกปปส.ฐาน ‘ขัดขวางการเลือกตั้ง’ ควบฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยข้อหา ‘ปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ทักท้วงแล้ว’

 

ในวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ มติชน อ้างรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ที่ประชุมกกต.มีมติให้ฟ้องทางอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (กปปส.) ที่ได้ “ขัดขวางการเลือกตั้ง” เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557

 

พร้อมกันนั้น กกต.จะฟ้องร้องทางแพ่งกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ “ปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่มีการทักท้วงกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว”  โดยจะเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท แล้วแต่ว่าศาลจะให้ฝ่ายไหนจ่ายเท่าใด ข่าวบอกว่า “ถ้าผิดทั้งสองฝ่าย ต้องจ่ายคนละครึ่ง”

 

ในขณะนี้ กกต.ยังไม่แถลงยืนยันหรือปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว

 

ความล้มเหลวของการจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นผลจากการกระทำของฝ่ายใดบ้าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง แม้กระทั่งองค์กรตุลาการ มีส่วนรับผิดชอบด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด หากย้อนพินิจการเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่าย สังคมอาจตอบคำถามนี้ได้ไม่ยาก

 

ที่มาของคำถามคาใจ

 

รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภาผู้แทนราษฎร ประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อ 9 ธันวาคม 2556  โดยพระราชกฤษฎีกายุบสภากำหนดให้มีการลงคะแนนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

 

การจัดการเลือกตั้งประสบอุปสรรคจากการขัดขวางของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครส.ส. ไปจนถึงการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง

 

 

ท้ายที่สุด ในวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้วยคำวินิจฉัยว่า การออกเสียงไม่ได้มีขึ้นในวันเดียวกันทั่วประเทศ เหตุเพราะใน 25 เขตเลือกตั้งของภาคใต้ไม่มีการจัดการเลือกตั้ง

 

ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน นับแต่ประกาศวันเลือกตั้ง จนถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งโมฆะเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. เรียกร้องต่างกรรมต่างวาระ ขอให้รัฐบาลเลื่อนการลงคะแนนออกไป อีกทั้งไม่ขยายเวลารับสมัครส.ส.ที่ไม่สามารถสมัครได้ อันเนื่องจากถูกกลุ่มต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง

 

ถึงวันนี้ กกต.เรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้เงินที่ใช้จ่ายไปกับการจัดการเลือกตั้ง คำถามที่ตามมาในทันที คือ ใครบ้างควรรับผิดชอบกับการเลือกตั้งที่ล้มเหลว

 

รายงานชิ้นนี้จะย้อนรอยวิกฤตการเมือง ซึ่งก่อตัวขึ้นหลังจากสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 จนกระทั่งถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

 

ในวิกฤตที่ผ่านมา มีตัวละครเกี่ยวข้องหลายฝ่าย หลายองค์กร งานนี้ ใครผิด ใครถูก ตรงไหน อย่างไร สังคมคือผู้ตัดสิน

 

 

นิรโทษกรรม

 

สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงขึ้นในทันทีเมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556  พรรคฝ่ายค้านวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามที่จะลบล้างโทษจำคุกของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร (AFP, 1 November 2013)

 

กลไกรัฐสภาพยายามดับชนวนวิกฤตทางการเมือง วุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ไม่รับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไว้พิจารณา และวุฒิสภาจะส่งร่างกฎหมายนี้กลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร (มติชน, 11 พฤศจิกายน 2556) ขณะที่ทางสภาผู้แทนฯแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะยุติการผลักดันการนิรโทษ

 

ทว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหว นำมวลชนออกสู่ท้องถนน คลื่นต่อต้านรัฐบาลภายในเมืองหลวงขยายตัวในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีคนเข้าร่วมนับแสนคน (Bangkok Post, 25 November 2013) เป้าหมายของการประท้วงดูจะเปลี่ยนจากการคัดค้านร่างกฎหมายเป็นการขับไล่รัฐบาล

 

กปปส.ชูธง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’

 

เจตนาของผู้ประท้วงดูจะชัดเจนขึ้นเมื่ออดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศจัดตั้ง “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือกปปส. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยประกาศเป้าหมายที่จะยึดอำนาจจากรัฐบาล (Bangkok Post, 30 November 2013)

 

 

ก่อนหน้าวันนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเพียงหนึ่งวัน ในวันที่ 8 ธันวาคม พรรคประชาธิปัตย์นำส.ส.ของพรรคลาออกทั้งหมด โฆษกพรรค นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อธิบายว่า เป็นการประท้วงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และประชาชนไม่ยอมรับสภาชุดนี้ภายหลังการออกกฎหมายนิรโทษกรรม (AP, 8 December 2013)

 

เมื่อกระแสต่อต้านพุ่งสูง ในวันที่ 9 ธันวาคม นายกรัฐมนตรีแถลงในเวลา 8.40 น. ว่า ตนตัดสินใจที่จะขอพระราชทานทูลเกล้า�� ถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย  พร้อมกับเชิญชวนทุกกลุ่มทุกพรรคการเมืองใช้เวทีการเลือกตั้งเป็นที่นำเสนอทางเลือกต่างๆให้กับประชาชน (ครอบครัวข่าว 3, 9 ธันวาคม 2556) ต่อมาในเวลา 18.45 น. นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 (ไทยรัฐ, 10 ธันวาคม 2556)

 

‘ประชาภิวัฒน์’

 

อย่างไรก็ดี กลุ่มต่อต้านรัฐบาลในนาม กปปส. ยังคงจัดการชุมนุม ค่ำวันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ประกาศในพื้นที่ชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาล “ใช้สิทธิมวลมหาประชาชนเรียกคืนอำนาจการปกครองแผ่นดินกลับคืนมายังประชาชน...อันเป็นการประชาภิวัฒน์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”  พร้อมกับประกาศว่า “กปปส.จะยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศ จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ทุกประการ”  (ไทยโพสต์, 10 ธันวาคม 2556)

 

ในวันรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ วิงวอนทั้งน้ำตา ขอให้ผู้ประท้วงเลิกปิดถนน ขอให้ทุกฝ่ายเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่ดูจะไม่เป็นผล  กลุ่มกปปส.ยืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลพ้นจากการทำหน้าที่รักษาการ เพื่อเปิดทางแก่การ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” โดยในระหว่างนั้นประเทศต้องปกครองโดย “สภาประชาชน” ซึ่งแต่งตั้งจาก “คนดี” (Reuters, 10 December 2013)

 

 

วันเดียวกัน นายสุเทพอ่านประกาศกปปส. ฉบับที่ 1/2556 อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หลังจากสภาผู้แทนฯพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งตุลาการชี้ว่า “เป็นการกระทำที่ทำให้รัฐบาลได้มาซึ่งอำนาจ ด้วยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”

 

เลขาธิการกปปส. อ้างว่า ในเมื่อศาลตัดสินเช่นนั้นแล้ว ถือได้ว่ารัฐบาลจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้รัฐบาลตกเป็นโมฆะ แม้นายกฯประกาศยุบสภาไปแล้ว ก็ไม่ส่งผลให้รัฐบาลรักษาการต่อไปได้ ถือได้ว่าประเทศอยู่ในภาวะสุญญากาศ ไม่มีนายกรัฐมนตรี จึงชอบที่จะจัดนายกฯที่ประชาชนยอมรับเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฏฐาธิปัตย์ (มติชน, 11 ธันวาคม 2556) ต่อมา นายสุเทพอ่านประกาศฉบับที่สอง ระบุว่า จะดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีโทษฐานเป็นกบฏ เพราะขัดคำสั่งฉบับที่ 1 ที่ไม่ยอมลาออก (มติชน, 11 ธันวาคม 2556)

 

กกต.ขอให้เลื่อนเลือกตั้ง

 

ในวันรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ 23 ธันวาคม ผู้ชุมนุมรวมตัวที่หน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ปิดทางเข้าออกสถานที่รับสมัคร (Bangkok Post, 24 December 2013) รัฐบาลพยายามหาทางออกด้วยการเสนอจัดตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ” ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 499 คน คัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติจำนวน 2,000 คน เพื่อทำงานปฏิรูปโดยอิสระ คู่ขนานกับรัฐบาลชุดใหม่ แต่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยืนยันนายกรัฐมนตรีต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูป (Reuters, 25 December 2013)

 

เมื่อถึงกำหนดนัด 34 พรรคการเมืองจับสลากหมายเลขพรรคสำหรับใช้ในการหาเสียง ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ในวันที่ 26 ธันวาคม ผู้ชุมนุมพยายามบุกเข้าไปในศูนย์ เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน ตำรวจเสียชีวิตเพราะถูกยิง 1 นาย

 

แม้ภายในศูนย์มีการจับสลากตามนัดหมาย แต่ต่อมาประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายศุภชัย สมเจริญ อ่านแถลงการณ์ของกกต.  เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลื่อนตั้งออกไป โดยอ้างว่า หากเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป อาจเป็นต้นเหตุของความไม่สงบ ความโกลาหล การจลาจล และการสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. สำทับว่า “หากไม่ได้รับการตอบสนอง กกต.รายบุคคลจะพิจารณาใช้สิทธิและอำนาจส่วนบุคคล ตัดสินใจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อแก้ไขและคลี่คลายปัญหา” 

 

ข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้งของกกต.สวนทางกับท่าทีของรัฐบาล รองนายกรัฐมนตรี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ชี้แจงในวันเดียวกันว่า กำหนดวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 นั้น เป็นวันที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภา ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใด ให้อำนาจรัฐบาลในการเลื่อนวันเลือกตั้ง (ไทยโพสต์, 27 ธันวาคม 2556)

 

ต่อกรณีถ้อยแถลงของนายสมชัย สื่อมวลชนตีความว่า กกต.อาจลาออกเป็นรายบุคคล หรือยกทีมลาออก ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปได้ (กรุงเทพธุรกิจ, 27 ธันวาคม 2556)

 

 

หน้าที่ของใคร

 

 หลังจากกกต.เสนอให้รัฐบาลเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ตามกฎหมายทำได้หรือไม่

 

นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือตอบกลับในวันที่ 27 ธันวาคม ว่า เป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งในวันที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภา ขณะนี้ มีบุคคลขัดขวางการดำเนินการของกกต. ซึ่งกกต.สามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งได้ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงวันลงคะแนนเลือกตั้งนั้น ตามกฎหมายเลือกตั้งแล้ว อาจทำได้เฉพาะเมื่อเกิดจลาจล เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นๆที่ทำให้ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ อำนาจวินิจฉัยในกรณีนี้เป็นของกกต. (ไทยโพสต์, 28 ธันวาคม 2556)

 

กกต.ไม่ขยายวันรับสมัคร

 

ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนไหวส่งท้ายปี ด้วยการขัดขวางการรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขต ส่งผลให้ผู้สมัครใน 28 เขตของ 8 จังหวัดภาคใต้ไม่สามารถเดินทางเข้ายื่นเอกสารสมัครลงเลือกตั้งได้ (มติชน, 29 ธันวาคม 2556)

 

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้กกต.ขยายวันรับสมัครสำหรับเขตที่มีการขัดขวาง เพื่อให้มีผู้สมัครส.ส.ครบทุกเขตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายภุชงค์ นุตราวงศ์ แถลงว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. จะมีขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา (New York Times, 3 January 2014) อย่างไรก็ตาม กกต.จะไม่ขยายวันรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขต โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่มีกฎหมายรองรับ (มติชน, 3 มกราคม 2557)

 

ขอให้เลื่อน 3 เดือน

 

นอกจากไม่ขยายวันรับสมัครแล้ว กกต.ยังคงย้ำข้อเรียกร้องเดิม ขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ออกไป ในวันที่ 10 มกราคม 2557 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยผลการประชุมกกต. ว่า ที่ประชุมมีมติทำหนังสือเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุหลายประการ เช่น ไม่มีผู้สมัครส.ส.ใน 28 เขตของ 8 จังหวัด มีแนวโน้มขัดขวางการเลือกตั้ง ส่วนราชการไม่สนับสนุนส่งคนมาเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้กกต.ทบทวนการจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.เพราะเกรงว่าจะไม่คุ้มกับเงิน 3,885 ล้านบาท (มติชน, 11 มกราคม 2557 ; Nation, 11 January 2014)

 

วันต่อมา  ประธานกกต. นายศุภชัย สมเจริญ ยืนยันอีกครั้งว่า รัฐบาลควรกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะถึงมีการเลือกตั้งก็ไม่ได้ส.ส.ครบ 500 คนอย่างแน่นอน ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกิจการเลือกตั้ง เสนอให้กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่เป็นวันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งยังอยู่ในกรอบเวลา 180 วันหลังการยุบสภาเมื่อ 9 ธ.ค.2556  (ไทยโพสต์, 12 มกราคม 2557

 

ชัตดาวน์กรุงเทพ

 

ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยืนยันให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ในวันที่ 13 มกราคม กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยกระดับการชุมนุมด้วยการ “ชัตดาวน์กรุงเทพ” (AFP, 13 January 2014 ; ไทยรัฐ, 14 มกราคม 2557)  ในภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ผู้ชุมนุมบุกยึดศาลากลางจังหวัด 12 แห่ง มุ่งกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งรักษาการ (AFP, 20 January 2014)

 

 

เมื่อเผชิญกับการเข้ายึดย่านธุรกิจสำคัญของเมืองหลวง และสถานที่ราชการ ในวันที่ 21 มกราคม รัฐบาลจึงประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มีกำหนด 60 วัน (AFP, 21 January 2014)

 

ศาลรธน.บอก ‘เลื่อนได้’

 

ในขณะที่รัฐบาลยืนกรานตามความเห็นของนักกฎหมาย ว่า ไม่มีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปตามข้อเสนอของกกต.และข้อเรียกร้องของกลุ่มกปปส.  ในวันที่ 24 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสามารถเลื่อนออกไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ “ตามสถานการณ์ความจำเป็นที่เกิดขึ้น” และเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องปรึกษาหารือกับกกต.ในการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ (AFP, 24 January 2014 ; ไทยโพสต์, 25 มกราคม 2557

 

 

เมื่อถึงวันออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 มกราคม ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเข้าขัดขวางการลงคะแนนในกรุงเทพและหลายจังหวัดภาคใต้ เจ้าหน้าที่เลือกตั้งไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ในคูหา ส่งผลให้มีการปิดหน่วยลงคะแนนกว่า 80 แห่ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เผยว่า มีประชาชนไม่สามารถออกเสียงได้ประมาณ 440,000 คน (AFP, 26 January 2014)

 

‘สมชัย’ ย้ำให้เลื่อน

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าวันเลือกตั้งตามพ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎรสามารถเลื่อนได้ เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯกับประธานกกต.ที่จะปรึกษากัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายจัดเวทีหารือขึ้นในวันที่ 29 มกราคม แม้มีข้อสรุปให้เดินหน้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่มีรายงานว่า ฝ่ายรัฐบาลพยายามผลักดันให้เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ขณะที่ฝ่ายกกต.ยังคงย้ำข้อเสนอให้เลื่อน

 

ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีเสนอให้กกต.กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่สำหรับหน่วยเลือกตั้งที่ไม่อาจจัดลงคะแนนเลือกตั้งได้ รวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป 120 วัน โดยอ้างว่าหากเดินหน้าเลือกตั้ง อาจจะไม่สามารถประกาศรับรองส.ส.125 คน หรือไม่ครบ 95% ทำให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ (ข่าวสด, 29 มกราคม 2557)

 

 

การเตรียมการจัดเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถูกขัดขวาง มวลชนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล นำโดยพระพุทธอิสระ เข้าปิดกั้นการขนส่งหีบบัตรเลือกตั้งที่สำนักงานเขตหลักสี่ในวันที่ 1 ก.พ. เกิดการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อแดงผู้สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง มีผู้บาดเจ็บหลายราย ในเหตุการณ์นี้ ชายติดอาวุธหลายคน หนึ่งในจำนวนนี้ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า “มือปืนป๊อปคอร์น”  มีการใช้อาวุธปืน (ไทยรัฐ, 2 กุมภาพันธ์ 2557)

 

 

สถานการณ์ในวันเลือกตั้งใหญ่เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเข้าขัดขวางการลงคะแนน คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า หน่วยเลือกตั้งราว 10,000 แห่งจากทั้งหมดเกือบ 94,000 แห่งไม่สามารถเปิดลงคะแนน ทำให้ประชาชนนับล้านไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ (AFP, 2 February 2014)

 

ศาลห้ามขวางผู้ชุมนุม

 

คำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ถูกนำขึ้นฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเป็นคดีละเมิด แกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม

 

ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ศาลแพ่งสั่งรัฐบาล ห้ามใช้กำลังจัดการกับผู้ประท้วง หลังจากก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ตำรวจพยายามเข้าเคลียร์พื้นที่ในย่านภูเขาทอง ปะทะกับผู้ประท้วง ส่งผลให้ตำรวจถูกยิงเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 24 นาย มีพลเรือนเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บกว่า 60 คน ตำรวจยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ใช้เพียงกระสุนยาง และโทษว่ามีคนจ้องยั่วยุให้เกิดสถานการณ์รุนแรง ขณะตำรวจนายหนึ่งพยายามจะเตะระเบิดให้ออกห่างจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังนั่งปักหลักใช้โล่กำบังตนในพื้นที่ชุมนุม (AFP, 19 February 2014)

 

แม้ศาลแพ่งไม่ได้เพิกถอนการประกาศพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามคำร้องขอของโจทก์ คือ นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. แต่ศาลสั่งห้ามรัฐบาลดำเนินการ 9 ข้อ เช่น ห้ามสลายการชุมนุม ห้ามยึดอายัดเคมีภัณฑ์ ห้ามสั่งรื้อถอนสิ่งกีดขวาง ห้ามสั่งปิดเส้นทางคมนาคม ห้ามสั่งห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามสั่งห้ามเข้าอาคาร ห้ามสั่งห้ามเข้าออกพื้นที่ชุมนุม (มติชน, 20 กุมภาพันธ์ 2557)

 

‘ตลก.’ สั่งโมฆะเลือกตั้ง

 

ภายหลังคำสั่งดังกล่าวของศาลแพ่ง เมื่อผู้ชุมนุมถอยร่นเข้าไปในสวนลุมพินีและมีจำนวนลดลง คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพในวันที่ 19 มีนาคม 2557 โดยให้ใช้กฎหมายความมั่นคงแทน (Reuters, 18 March 2014)

 

ในที่สุด การเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะด้วยคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างเหตุผลที่ว่า เนื่องจากใน 25 เขตเลือกตั้งของภาคใต้ไม่มีการจัดการเลือกตั้ง การออกเสียงเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์จึงถือได้ว่ามิได้เป็นวันเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้  ดังนั้น พ.ร.ฎ.ยุบสภา พ.ศ.2556 ในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มติชน, 22 มีนาคม 2557) โดยสรุปก็คือ ศาลสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จัดให้มีการลงคะแนนในวันเดียวกันทั้งประเทศ

 

เพราะเหตุใด การออกเสียงจึงไม่สามารถจัดให้มีขึ้นในวันเดียวได้ สื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักให้ภูมิหลังไว้ว่า ก่อนหน้านั้น ผู้ประท้วงเข้าขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ใน 28 เขตเลือกตั้ง และขัดขวางการดำเนินการเลือกตั้ง จนทำให้ต้องปิดหน่วยลงคะแนนประมาณ 10% ส่งผลให้บางเขตจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งทดแทนในวันอื่นๆ (AFP, 21 March 2014 ; Wall Street Journal, 21 March 2014)

 

กรณีเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ประสบความล้มเหลว ใครควรมีส่วนรับผิดชอบ แค่ไหน อย่างไร สาธารณชนพึงพินิจ.

 

Photos:  AFP

 

 

 

 

 

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog