ไม่พบผลการค้นหา
ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหาร เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน และทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาทางออกได้

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหาร เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน และทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาทางออกได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะ โดยเชิญนักวิชาการ  ของไทยและกัมพูชา มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 

เวทีเสวนาเรื่อง "ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา: ปัญหาและทางออก" ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มีการถกเถียงกัน ถึงสาเหตุ สภาพของปัญหา และแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งไทย-กัมพูชา จากข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหารและเขตแดนโดยรอบ 


นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ความขัดแย้ง 2 ประเทศ  เกิดขึ้นจากลัทธิชาตินิยม โดยนักการเมืองทั้ง 2 ประเทศ  จงใจหยิบประเด็น เขาพระวิหารขึ้นมาปลุกกระแสชาตินิยม เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง  และเพิ่มคะแนนนิยมให้กับตัวเอง โดยเฉพาะในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  เป็นนายกรัฐมนตรี


นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์  ยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้ง และการแย่งชิงดินแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน  จึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือปลุกกระแสชาตินิยม  จนกระทบความสัมพันธ์ 2 ประเทศ นายชาญวิทย์  จึงเสนอให้ทั้ง 2 ฝ่าย  รู้จักเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง เลือกจำประวัติศาสตร์ในแง่ดี และลืมประวัติศาสตร์ในแง่ลบ ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน

 

ในเวทีเสวนา  ยังเสนอทางออกของปัญหา โดยยกกรณีประเทศเยอรมนีและโปแลนด์ ประกาศให้อุทยานมุสเคา เป็นมรดกโลกร่วมกัน และเป็นมรดกของยุโรป  ซึ่งประเด็นนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มรกต เจวจินดา ไมเออร์  เสนอให้ไทยและกัมพูชา  ทำแบบเดียวกันในกรณีของปราสาทพระวิหาร เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในอาเซียน


ขณะที่นายพู โสธิรัก อดีตเอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศญี่ปุ่น เสนอว่า การแก้ปัญหา มี 3 แนวทาง ได้แก่ การเจรจาทวิภาคี  ผ่านกลไกที่มีอยู่ เช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมหรือเจบีซี ซึ่งจำเป็นต้องหาข้อตกลงที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย  แนวทางที่ 2 คือ กลไกในระดับภูมิภาค หรือกรอบอาเซียน ซึ่งทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะไทย ควรยอมให้อาเซียนเข้ามามีบทบาทมากกว่านี้



ส่วนแนวทางสุดท้าย คือ กลไกระดับนานาชาติ โดยเฉพาะสหประชาชาติและศาลโลก ซึ่งไทยและกัมพูชาควรเคารพและปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก เพื่อยุติข้อขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน 

 

สำหรับ แนวโน้มการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ เชื่อว่า รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้จัดให้ปัญหาไทย - กัมพูชา เป็นนโยบายเร่งด่วน และอาจประวิงเวลาไม่ให้กระแสชาตินิยมกลับมาทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาล  เหมือนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

 

Produced by VoiceTV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog