"หมออั้ม" เผย กรณีเลือดสีชมพู"ที่มีการแชร์ในโซเชียลฯ คือภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เกิดได้หลายสาเหตุ สามารถพบในโรคโลหิตจาง และโรคเลือดอื่นๆได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากการรับประทานยา เพียงสาเหตุเดียว
จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพเลือดของคนไข้รายหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสีชมพู พร้อมระบุข้อความว่า คนไข้รายนี้รับประทานยาดีท็อกซ์ลดความอ้วนติดต่อกันนาน 2 เดือน จากนั้นได้มารักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง รวมถึงมีอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ภาพของยาที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไป ซึ่งมีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด เช่น สารสกัดจากฟักทอง , มะขามแขก , พริกไทยดำ , สมอไทย ฯลฯ สรรพคุณยาช่วยขับเมือกมัน ไขมันส่วนเกิน ช่วยให้รูปร่างสมส่วน ลดไขมันหน้าท้อง ไขมันพอกตับ ขับสารพิษต่างๆ และช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ซึ่งล่าสุดคนไข้รายดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว
นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และความงามผิวพรรณ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่อง "เลือดสีชมพู" ที่เป็นข่าวหากจะให้ยืนยันว่าเกิดจากการรับประทานอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในทันทีนั้น คงจะสรุปแบบนั้นตามข่าวไม่ได้เพราะต้องมีข้อมูล มีการตรวจสอบ ผลจากห้องทดลองหรือแม้กระทั่งการชันสูตรฯ ที่ชัดเจนหากเป็นตามภาพข่าว และข้อมูลที่ลงแชร์กันต้องบอกว่า สาเหตุของการเกิดเลือดสีชมพูนั้น เป็นได้หลายกรณี
เบื้องต้น เลือดสีชมพูที่เห็น ไม่น่าจะใช่เลือดที่ดูดจากคนไข้โดยตรงแต่อาจพบได้ในขั้นตอนของการเตรียมเลือด การจัดเก็บตัวอย่างเลือดโดยเฉพาะการปั่นเลือดให้แยกชั้น เป็น เลือด และ น้ำเลือดโดยปกติ ในคนปกติ เวลาเราเก็บตัวอย่างเลือดเมื่อปั่นให้แยกชั้น จะพบว่า เม็ดเลือดและองค์ประกอบอื่นๆ จะรวมกันอยู่ก้นหลอด คล้ายวุ้นสีแดงเข้มและมีน้ำเลือด หรือ พลาสมา ลอยตัวเป็นน้ำใสๆ แยกชั้น อยู่ด้านบน
แต่กรณีที่เราพบว่าเลือดเป็นสีชมพูนั้นจริงๆต้องบอกว่า มันคือ "เม็ดเลือดแดง" ที่เปราะและแตกออก
ไปผสมกับชั้นพลาสมา หรือน้ำเลือดที่มีสีขาวใสจนสีของเม็ดเลือดแดง ดูจางลง คล้าย "สีชมพู"โดยภาวะแบบนี้ ทางการแพทย์ เกิดจาก "ภาวะเม็ดเลือดแดงเปราะแตก"หรือ เม็ดเลือดไม่แข็งแรง พบในโรคโลหิตจาง และโรคเลือดอื่นๆได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากการรับประทานยา สาเหตุเดียว
ส่วนกรณีการรับประทานกลูตาไธโอน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆก็มิได้มีโอกาสพบอาการ "เลือดชมพู" ได้บ่อยๆ พูดง่ายๆว่า น้อยรายที่พบเชื่อว่า อาจจะมีปัจจัยโรคประตัวอื่นๆมาเกี่ยวข้องหรือ ได้รับยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรค อาหารเสริมต่างๆ เกินขนาดไม่จำเป็นต้องเป็นยาลดความอ้วน หรือดีท็อกซ์ เสมอไป
ทั้งนี้ ยังไม่มีการรายงาน หรืองานวิจัยใดๆที่บอกว่า "สมุนไพร" ต่างๆ ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้โดยตรงและหากตรวจพบ หากเราหาสาเหตุได้ว่า เกิดจากการรับประทานยาจริงๆเมื่อหยุดยา และรักษาตามอาหารแล้ว "เลือดสีชมพู" หรือ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกผู้ป่วยก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้ เมื่อหยุดยาในระยะเวลานานพอส่วนใหญ่ ใช้เวลา 1-3 เดือน ในการตรวจซ้ำ
การรับข่าวสารในโลกออนไลน์ ต้องพิจารณาให้ดีว่าเป็น "ข้อเท็จจริง" หรือ "แค่ความคิดเห็นส่วนตัว"
มิเช่นนั้น ก็จะเกิดความเชื่อที่ผิด เกิดความตระหนกตกใจเกินจริง
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรมีข้อบ่งชี้ ในการรับประทาน อาทิ มีโรคประจำตัวบางอย่างระบบการย่อยอาหารไม่ดี การดูดซึมไม่ดีรับประทานอาหารแบบปกติไม่ได้ ในเด็กเล็กๆที่ขาดอาหาร หรือคนชรา ที่มีปัญหาการกิน สตรีวัยหมดประจำเดือน ฯลฯรวมไปถึง วัยหนุ่มสาว ที่ต้องการสารอาหารบางประเภทเป็นพิเศษนอกเหนือจากการรับประทานอาหาร 5 หมู่ และการดูแลสุขภาพร่างกาย การออกกำลังกาย การพักผ่อนปกติ
ขอขอบคุณภาพจาก : twitter@rainBowMBB