ไม่พบผลการค้นหา
'จุรินทร์' วอนทุกฝ่ายชักฟืนออกจากไฟ หนุนเร่งแก้รธน.โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นเพิ่มอีก แนะตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง หาทางออกที่เป็นรูปธรรมเพื่อคลี่คลายปัญหาประเทศ ด้าน 'อิสระ' ชี้ มีคนไม่จริงใจ ยึกยักแก้รัฐธรรมนูญ ต้นตอชุมนุมยืดเยื้อ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่ทุกประเทศในโลกประชาธิปไตยเขาทำกัน เพื่อจะได้ให้รัฐสภาเป็นเวทีในการหาทางออกให้กับประเทศ การเปิดประชุมสมัยวิสามัญครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่สร้างเวทีโจมตีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็น และเป็นเวทีในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศอย่างแท้จริง เพื่อพิสูจน์ว่าเราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาได้ เพราะการใช้เวทีอื่นอาจก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นตลอดการพิจารณา 2 วันนี้คือ ต้องการเห็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความจริงใจ และไม่ซ้ำเติมสถานการณ์

จุรินทร์ กล่าวอีกว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดเงื่อนไขที่เป็นปมแห่งความขัดแย้ง ต้องช่วยกันชักฟืนออกจากกองไฟ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ทันทีที่สามารถทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจนสังคมเข้าใจว่าเป็นการยื้อเวลา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ทำประชามติหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติเพิ่มเติมก่อนรับหลักการในวาระที่ 1 จนสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องการยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตนขอเสนอให้วิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา หาคำตอบร่วมกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจะพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุในวาระไปก่อน หรือรอร่างของไอลอว์ที่ได้ชื่อว่าร่างของประชาชน อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุวาระไปก่อนอาจถูกกล่าวหาได้ว่าต้องการทิ้งร่างของประชาชนหรือไม่ แต่ถ้ารอร่างของไอลอว์บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมก่อน ก็ต้องรออย่างน้อยหลังวันที่12 พ.ย. เพราะต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งอาจถูกครหาว่ารอเพื่อซื้อเวลาหรือไม่ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่วิป 3 ฝ่ายควรหาทางร่วมกัน เพื่อทำให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น

จุรินทร์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาวันนี้ควรมีข้อยุติและมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การหาทางออกของประเทศร่วมกัน อยากเห็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยถือหลัก 3 ข้อคือ 1.องค์ประกอบนั้นต้องมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนของรัฐบาล ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น

2.ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ เน้นรูปแบบการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อาจต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าวเพื่อมุ่งหาคำตอบและทางออกให้กับประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

และ3.ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากทำได้ อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นแสงสว่างแห่งความหวังถูกจุดขึ้นตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประบอบประชาธิปไตยของเรา

'ชุมสาย' ประกาศอย่าแตะสถาบัน หนุน 'ประยุทธ์' อยู่ต่อ 

ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาของกลุ่มผู้ชุมนุมในตอนนี้มีหลัก ๆ อยู่ 3 ข้อ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งความเห็นของตนคือพล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องลาออก ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็กำลังดำเนินการอยู่

“เรื่องสถาบัน ไม่ใช่ปัญหาของประเทศ พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรให้ประชาชนเดือดร้อน เป็นศูนย์รวมของคนไทยทั้งประเทศ อย่าแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 2-3 วันที่ผ่านนี้ พี่น้องคนไทยพร้อมใจใส่เสื้อสีเหลืองเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ให้ทุกคนได้เห็น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นใครกลุ่มใด อย่าแตะต้องและล่วงเกินสถาบัน” ชุมพล กล่าว

เสก_รัฐสภา_๒๐๑๐๒๖_1.jpg
  • ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์

'อิสระ' ชี้ มีคนไม่จริงใจ ยึกยักแก้รธน.ต้นตอชุมนุมยืดเยื้อ 

อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เราหลีกเลี่ยงความจริงไม่ได้ว่า ต้นตอหนึ่งของปัญหาที่ยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้เกิดจากเรายึกยัก ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ และตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ย้อนเเย้งที่สุดคือการตั้งกมธ.ศึกษาหลักการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลเอง อันไปสร้างความชอบธรรมให้แก่การชุมนุมยืดเยื้อบานปลายจนนำไปสู่การจาบจ้วงสถาบัน และอาจนำไปสู่ความรุนเเรงยากจะหยุดยั้งในวันนี้

ตนตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็น คือ 1.ขอบคุณนายกฯที่เเถลงการณ์วันที่ 21 ต.ค. และมีหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอเปิดอภิปรายตามมาตรา 165 แต่สิ่งที่มีความชอบธรรมที่สุด อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับถูกละเลย ในคำแถลงการณ์ เเละในหนังสือญัตติที่ส่งมา จริงๆเป็นเรื่องแปลกน่าจะที่สุดในโลก ที่มาถกเถียงกันในเรื่องเป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นึกถึงอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่จริงใจ วิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ง่ายมาก แค่ขยับปากให้ตรงกับใจ ถ้าใครไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญแล้วก็บอกมาให้ชัด ควรถอยมากกว่า 1 ก้าว ระวังน้ำผึ้งหยดเดียวถึงทางตัน

อิสระ กล่าวว่า 2. จริงอยู่ว่าการเรียกร้องของผู้ชุมนุม เป็นการผูกรวมสถาบันเข้ากับการเมือง เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่จะต้องไม่ผูกรวมเรื่องนี้ให้เเน่นยิ่งขึ้นไปอีก ควรต้องยกสถาบันออกจากความขัดเเย้งทางการเมืองให้ได้ ถ้ารัฐบาลยิ่งไม่ชัดเจนเรื่องรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน 3. ขอประนามการใช้ความรุนเเรง ทั้งทางร่างกายและวาจา ไม่ว่าจะฝ่ายไหน โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำหยาบคายกับสิ่งที่เป็นที่เคารพของพวกเรา เหมือนกับเช่นว่าเราคงไม่ชอบให้ใครมาว่าพ่อเเม่ของเรา การใช้ความรุนเเรงไม่นำไปสู่ทางเลือก แต่หลายครั้งนำไปสู่เหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว ที่นำไปสู่ทางตัน และ4.ตนเพิ่งลงพื้นที่กลับจากต่างจังหวัดผู้ประกอบการเดือดร้อน ต่างชาติอาจมองว่า ความเห็นต่างทางการเมือง เป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย แต่อยากให้หยุดคิดแล้วถามกลับไปว่า ถ้ายังทะเลาะกันเเบบนี้เขาจะมาเที่ยว มาลงทุนเมืองไทยหรือไม่ ทุกท่านมีคำตอบในใจเเล้วดังนั้น ถ้าถอยคนละก้าวไม่พอ จะถอยมากกว่าก้าวตนคิดว่าต้องทำ ถ้ารักประเทศและประชาชนอย่างที่ประกาศเอาไว้จริงๆ