ไม่พบผลการค้นหา
ภายในวิหารวัดบางกะพ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีภาพปูนปั้นเขียนสี เล่าตำนานพระพุทธบาท พร้อมภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านเมื่อคราวสร้าง ในราวสมัยรัชกาลที่ 3

ภายในวิหารวัดบางกะพ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีภาพปูนปั้นเขียนสี เล่าตำนานพระพุทธบาท พร้อมภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านเมื่อคราวสร้าง ในราวสมัยรัชกาลที่ 3  

 

วัดบางกะพ้อมสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี มีการปฏิสังขรณ์ซ่อมสร้างมาโดยตลอด สิ่งน่าชมภายในพระอารามแห่งนี้ คือ วิหารประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย กับศาลาการเปรียญไม้สักหลังใหญ่

 

ชัยณรงค์ วิรุฬพัฒน์ (2554) ประมาณอายุการสร้าง ว่า วิหารและภาพปูนปั้นในวิหารสร้างขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

 

วิหารรอยพระพุทธบาทจำลอง หันหน้าออกสู่คลองบางกะพ้อมทางทิศตะวันออก เป็นอาคารทรงโรง ก่ออิฐถือปูน 

 

หลังคาเป็นแบบมีปีกนก มุงกระเบื้องดินเผารูปเกล็ดปลา ตัวอาคารล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว

 

วิหารมีช่องแสงเพียง 4 ช่อง คือ ประตู 2 ช่องด้านหน้ากับด้านหลัง หน้าต่าง 2 ช่องทางด้านข้าง ช่องหน้าต่างเป็นทรงรี 

 

ขอบหน้าต่างด้านนอก ประดับปูนปั้นเขียนสี ลวดลายแบบอิทธิพลจีน

 

หน้าบันทางทิศตะวันออกประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา บนสุดเป็นรูปดอกโบตั๋น ถัดลงมาเป็นลายเฟื่องอุบะ ทำด้วยเครื่องกระเบื้องสีเขียว ตรงกลางหน้าบันเป็นซุ้มทรงเก๋งจีน มีภาพคนแบก แต่งกายคล้ายพระภิกษุ จากนั้นเป็นภาพม้า 3 ตัว ด้านข้างเป็นลายคล้ายเปล ห้อยชายผ้าลงทั้งสองข้าง ในเปลมีผลทับทิมข้างละ 2 ผล มีรูปไก่ตรงมุมล่างด้านขวา

 

หน้าบันด้านหลัง ตอนบนเป็นลายดอกโบตั๋นและเฟื่องอุบะ ตรงกลางเป็นภาพชาวตะวันตก 2 คน คนหนึ่งนั่ง คนหนึ่งกำลังย่างก้าว และมีราวปืน กระเป๋าใส่ดินปืน ลูกกระสุน และราวหอก 

 

ซุ้มประตูเป็นแบบเก๋งจีน กรอบประตูเป็นทรงกลม ที่ประตูวิหารด้านหน้า ประดับรูปสลักหินทหารจีน ดูคล้ายทหารเฝ้าประตู 

 

ประตูด้านทิศตะวันตก ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นทางเข้า มีรูปทหารแต่งกายเหมือนทหารปัจจุบัน เข้าใจว่าเป็นของทำใหม่ทดแทนของเก่าที่ชำรุดไปแล้ว 

 

ประตูทรงกลมของวิหารวัดบางกะพ้อม มีลักษณะคล้ายช่องประตูทั้งสี่ทิศของพระระเบียงรอบพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี 

 

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย ผนังส่วนบนเหนือขอบประตูและหน้าต่างทั้งสี่ด้าน ประดับภาพปูนปั้นเขียนสี เครื่องถ้วยกระเบื้องเคลือบสี ผนังซีกล่างในระดับบานประตู เจาะซุ้มบรรจุพระพุทธรูปอดีตพุทธเจ้าทั้งสี่ด้าน จำนวน 28 องค์

 

ประตูเป็นบานไม้พับ มีห่วงเหล็กสำหรับดึงเมื่อปิด-เปิด

 

พระพุทธรูปองค์หนึ่งในวิหาร เป็นปางปาลิไลยก์ 

 

ผู้ชมสามารถติดตามเรื่องราวบนผนัง โดยเริ่มที่ผนังทิศตะวันออกดังในภาพ จากนั้น เดินวนทางขวาไปยังผนังทิศใต้ ทิศตะวันตก แล้วจบที่ผนังด้านทิศเหนือ เรื่องราวมี 3 ส่วน คือ พุทธประวัติ ธุดงค์วัตร และตำนานพระพุทธบาท

 

เหนือประตูกลมด้านทิศตะวันออกเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส (ภาพนางสุชาดาตกขอบทางซ้าย) กับภาพพระพุทธเจ้าทรงลอยถาดทอง 

 

ถัดขึ้นไปเป็นตอนก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์พร้อมเหล่าสงฆ์บริวารไปถึงชานเมืองกุสินาราในเวลาจวนค่ำ แล้วเข้าไปในอุทยานที่มีต้นสาละขึ้นอยู่เคียงกัน จึงมีชื่อว่า สาลวโนทยาน ในวันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน สุภัททปริพาชกขอเข้าเฝ้า พระอานนท์ห้ามไว้ แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เข้าซักถามปัญหา จากนั้นทรงอนุญาตให้นักบวชนอกศาสนาผู้นี้บวชในคืนนั้น สุภัททปริพาชกนับเป็นสาวกองค์สุดท้าย

 

เลื่อนต่อไปทางขวาเป็นภาพเหล่ามัลลกษัตริย์พร้อมด้วยพระสงฆ์ เข้าเฝ้าในยามราตรี ณ สาลาวโนทยาน พร้อมกับพระราชินี ขุนนาง เหล่าสนมกำนัล โดยนำของถวายไปสักการะพระพุทธองค์ซึ่งกำลังประชวร ภายในสวนนั้นยังปรากฏภาพช้างม้าในขบวนเสด็จฯด้วย

 

บนผนังด้านทิศใต้ เป็นภาพพระบรมศพพระพุทธเจ้า พระมหากัสสปะ ผู้เป็นอรหันตสาวก พร้อมด้วยบรรดาภิกษุกำลังถวายบังคมพระบรมศพ

ตามพุทธประวัติ เหล่ากษัตริย์มัลลราชนำเอาเพลิงเข้าจุดเพื่อถวายพระเพลิง แต่จุดอย่างไรไฟก็ไม่ติด ตราบเมื่อพระมหากัสสปะเข้ากราบพระพุทธบาทซึ่งปาฏิหาริย์ยื่นออกนอกหีบทองจึงจุดเพลิงได้

 

ถัดจากภาพพระมหากัสสปะถวายสักการะพระบรมศพ เป็นภาพเหล่านางฟ้าเทวดามาถวายสักการะ ถัดไปอีกเป็นภาพเล่าเรื่องตอนที่พระมหากัสสปะได้ทราบข่าวการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจากปริพาชกผู้หนึ่ง ซึ่งถือดอกมณฑารพกั้นเป็นร่มบังแดดเดินสวนทางมา กับภาพเหล่าภิกษุที่กำลังนั่งพักเหนื่อยแสดงอาการเศร้าเสียใจเมื่อได้ยินข่าว ถัดไปเป็นภาพขบวนเดินทางของพระมหากัสสปะที่มุ่งไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

จากนั้นเป็นภาพชุดธุดงควัตร อันเป็นวัตรปฏิบัติของสงฆ์ แต่ผู้เขียนไม่ได้เก็บภาพ

 

บนผนังด้านทิศตะวันตก ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นทางเข้าวิหาร เป็นภาพอดีตพุทธเจ้า 3 พระองค์ มีภาพแทรกเป็นภาพพระภิกษุปลงอสุภกรรม คือ พิจารณาศพ กับภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน จำลองจากภาพพระพุทธฉาย

 

กึ่งกลางผนังเป็นภาพอดีตพุทธเจ้า ปางมารวิชัย บนบัลลังก์ องค์พระปิดทองทั้งองค์ ด้านหลังเป็นรัศมีแบบเรือนแก้ว มีฉัตรสามชั้นประดับ ด้านข้างเป็นอัครสาวกซ้ายขวา นั่งคุกเข่าประคองอัญชลี เขียนจีวรเป็นสีแดงชาด

 

ผนังด้านทิศเหนือเล่าเรื่องตำนานพระพุทธบาททั้งห้าแห่ง ในภาพเป็นพระพุทธบาท ณ แม่น้ำนัมทามหานที ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในอินเดียหรือในพม่า (ซ้าย) กับพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏ ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในลังกาทวีป ภาพเรือสำเภาอาจสื่อถึงการเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาของพระพุทธโฆษาจารย์แห่งวัดพุทไธศวรรย์เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ถัดไปเป็นภาพพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพต ซึ่งเชื่อว่าอยู่ที่จังหวัดสระบุรี บริเวณโดยรอบเป็นอาคารบ้านเรือนและชาวบ้าน

 

ทางขวาสุดของผนังเป็นภาพพระพุทธบาท ณ สุวัณณมาลิก ซึ่งเชื่อว่าอยู่ที่เมืองอนุราธปุระในประเทศศรีลังกา 

 

เหนือช่องหน้าต่าง กึ่งกลางผนัง เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน อาจสื่อความหมายถึงปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทบนยอดเขารังรุ้ง ณ เมืองโยนกปุระ ซึ่งน่าจะหมายถึงอาณาจักรล้านนา  

 

ตรงกลางพื้นวิหารประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ทำด้วยไม้มะเกลือฝังมุก สันนิษฐานว่าหมายถึงรอยพระพุทธบาทแห่งที่ห้าตามตำนาน นั่นคือ พระพุทธบาท ณ เมืองโยนกปุระ

 

ปูชีนยวัตถุนี้เป็นพระพุทธบาทสี่รอย อันหมายถึงรอยประทับของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ รวมถึงองค์ปัจจุบัน คือ พระโคตมพุทธเจ้า

 

ชัยณรงค์ วิรุฬพัฒน์ (2554) สันนิษฐานว่า ช่างผู้ปั้นลวดลายในวิหารวัดบางกะพ้อมอาจได้รับอิทธิพลจากภาพผนังปูนปั้น ที่อุโบสถวัดไผ่ล้อม ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

โบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย บนผนังด้านหลังพระประธานแสดงภาพเล่าเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ลังกา 

 

สิ่งน่าชมอีกอย่างภายในวัด คือ ศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้สัก หลังคามีปีกนก มุงกระเบื้อง ไม่มีลวดลายบนหน้าบัน แต่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ติดกันเป็นโรงทาน (ซ้าย)

 

บนศาลามีบุษบกธรรมาสน์ เป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว.

 

เอกสารอ้างอิง

 

ชัยณรงค์ วิรุฬพัฒน์.  (2554).  ภาพปูนปั้นบนฝาผนังในพระวิหารวัดบางกะพ้อม อำเภออัมพวา จังหวัด     สมุทรสาคร.  วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี

ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี

ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี

 

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog