ภารกิจกู้ระเบิดบริเวณหน้าโรงเรียนเกษมพิทยา ซอยปรีดีพนมยงค์ 31 หรือในบ้านเช่าที่แก๊งค์ระเบิดชาวอิหร่านไปเช่าอยู่นั้น เป็นงานหินๆอีกครั้งของหน่วยEOD
ภารกิจกู้ระเบิดทุกครั้ง เราจะได้พบกับ “ชายชุดเขียว” ในชุด “บอมบ์สูท” กับเครื่องแบบที่คล้ายชุดของมนุษย์อวกาศ หรือมองไปคล้ายมนุษย์กบ แต่เครื่องแบบชุดนี้ ไม่ได้เป็นที่พึงประสงค์ของบุคคลทั่วไป แต่จะพบได้ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์พบระเบิดที่มีการนำมาวางเอาไว้ เราก็จะได้เจอชุดปฏิบัติการในลักษณะนี้ เพราะนั่นเป็นเครื่องแบบของหน่วย EOD หรือ หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ หน่วยทำลายวัตถุระเบิด
คำว่า EOD ย่อมาจาก EXPLOSIVE ORDNDNCE DISPOSAL หรือ เจ้าหน้าที่ทำลายวัตถุระเบิด ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ในสังกัดของเหล่าทัพ อาทิ กองทัพบก จะมีหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด (หน่วย ทลร.) ที่ทหารหาญจะเข้าทำหน้าที่นี้ ต้องผ่านโรงเรียนทหารสรรพาวุธ ในหลักสูตรทำลายวัตถุระเบิด กองทัพเรือ และกองทัพอากาศก็มีด้วย รวมทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่อยู่ใน กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ
สำหรับภาพของ EOD หลายท่านคงได้เคยผ่านตาในภาพยนต์เรื่อง HURT LOCKER ที่กล่าวถึงการปฏิบัติงานของหน่วยทำลายล้างและเก็บกู้วัตถุระบเด ของกองทัพสหรัฐฯ ในประเทศอิรัก ซึ่งมีบางสิ่งที่แตกต่างไปจากหลักการปฏิบัติงานของ กองทัพบกไทย คือ ในการปฏิบัติงานแต่ละครั้งมักจะใช้ชุดละ 6 นาย แต่ในหนังใช้เพียง 3 นาย โดยแต่ละนายจะต้องปฏิบัติหน้าที่เป็น หัวหน้าชุด, พลขับ, จนท.ทำลาย, ผช.จนท.ทำลาย, จนท.อิเลคทรอนิกส์ และ จนท.สื่อสาร/ซักถามพยาน
งานแบบนี้ ที่ดูเหมือนเท่ห์ แต่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน บอกตรงกันแทบทุกรายว่า “งานนี้เสี่ยงตายได้ทุกวินาที ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของตำรวจ หรือเหล่าทัพ ทุกคนถือว่าเสี่ยงหมด” .... ยืนยันคำตอบนี้โดย พ.ต.ท.กำธร อุ่ยเจริญ รองผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้ฯ ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้และพิสูจน์ระเบิด โดยเฉพาะระเบิดกลางเมืองกรุงฯ และคนนี้ก็จัดว่า เป็นมือหนึ่งในเมืองไทย ในงานเก็บกู้ระเบิดเช่นกัน จากทหารอากาศในบทบาทครูผู้สอน สู่การโอนย้ายมาเป็นตำรวจในหน่วยเก็บกู้ระเบิด ที่เน้นงานด้านปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่
“...หน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่หน่วยนี้ ต้องตรวจ ความเรียบร้อยของพื้นที่ เป็นงานป้องกัน ค้นหาวัตถุระเบิดหรือเครื่องกระสุนปืนทุกชนิดเมื่อได้รับแจ้ง เก็บกู้ระเบิดหรือทำลายวัตถุระเบิด เน้นพื้นที่กรุงเทพฯเป็นหลัก ต่างจังหวัดเป็นหน้าที่ของตำรวจตระเวนชายแดน เว้นแต่จะขอกำลังเสริมจากเรา
เจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดไม่ว่าทหารบก เรือ อากาศ หรือตำรวจ ทุกคนต้องผ่านหลักสูตร “เอ็กซ์โพลซีฟ ออร์ดแนนซ์ ดิสโปซัล” หรือ “อีโอดี” (Explosive Ordnance Disposal - EOD) เป็นหลักสูตรของสหรัฐที่เราเอามาปรับใช้ในไทย ใช้เวลาเรียน 3 เดือนครึ่ง อาจารย์ที่สอนเป็นอาจารย์ของเหล่าทัพ อย่างตำรวจก็มีผมเป็นหลัก ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็ต้องสอบแข่งขันเข้ามาเรียนหลักสูตรอีโอดีเหมือนกัน ซึ่งจะสอนเกี่ยวกับวัตถุระเบิดทั้งหมดทั่วโลก เป็นหมื่นๆ ลูก ทุกอย่างต้องอยู่ในหัว จะมามัวเปิดตำราไม่ได้
ผมเจอลูกระเบิดหรือ กระสุนปืนลูกเดียว ผมบอกได้เลยว่ามีส่วนประกอบอะไร จะเก็บกู้ยังไงหรือทำลายยังไง คือกว่าจะถึงขั้นนี้ได้ต้องสั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ”
นั่นเป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ของ พ.ต.ท.กำธร อุ่ยเจริญ เมื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา
นอกจากนี้ พ.ต.ท.กำธร ที่บัดนี้ผันตัวมาเป็นครูของนักกู้ระเบิดรุ่นหลัง เริ่มงานเก็บกู้ระ���บิดมาตั้งแต่ปี 2537 เผยปรัชญา 4 ข้อที่เป็นหัวใจของนักเก็บกู้ระเบิด ว่า
1. ชีวิต ต้องปลอดภัยทั้งชีวิตผู้เก็บกู้ระเบิด และชีวิตของประชาชน
2. ทรัพย์สิน ต้องไม่เสียหาย
3. วัตถุพยาน ต้องสมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีคนร้ายได้
4. ชุมชน ต้องดำเนินชีวิตเป็นปกติ
สถานการณ์ที่นักเก็บกู้ระเบิดต้องเผชิญมี 4 สถานการณ์หลัก คือ
- ระเบิดที่ต้องเก็บกู้ด้วยมือ หรือ Hand Entry เพราะมีบุคคลสำคัญในที่เกิดเหตุ หรือสถานที่พิเศษ เช่นโรงพยาบาล
- ระเบิดภายในอาคาร
- ระเบิดภายนอกอาคาร
- ระเบิดกลางแจ้ง
ทั้ง 3 ประเภทหลังนักเก็บกู้บอกว่า ไม่ต้องรีบร้อนเก็บกู้ หรือทำลายระเบิด แต่ต้องกันพื้นที่เกิดเหตุ และอพยพคนให้ออกจากรัศมีการทำลายล้างของระเบิดเป็นลำดับแรก
ส่วนการแบ่งแยก “ระเบิด” หาก แบ่งตามคุณลักษณะเป็น 2 ประเภท คือ
1.ระเบิดมาตรฐาน ที่ใช้ในกองทัพ เช่น ระเบิดประเภท เอ็ม…ชนิดต่าง ๆ อาทิ M-26 Mk-2 เป็นต้น
2. ระเบิดแสวงเครื่อง เป็นระเบิดที่ประกอบขึ้นเองแล้วบรรจุในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ท่อพีวีซี รถจักรยานยนต์ รถยนต์ วิธีการจุดชนวนระเบิด มีวิธีการหลัก เช่น จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ วิทยุสื่อสาร รีโมทคอนโทรล และนาฬิกา
“ระเบิดแสวงเครื่องที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เป็นเครื่องมือหลักของกลุ่มการร้ายทั่วโลก ส่วนระเบิดที่พบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 95 เปอร์เซน เป็นระเบิดทำเอง หรือระเบิดแสวงเครื่อง”
ทั้งนี้ ระเบิดถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสถานการณ์ ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ระเบิดการเมืองที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงปี 2553 มีจำนวน 130 เหตุการณ์ ส่วนสถิติการลอบวางระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 1,964 เหตุการณ์ หรือเฉลี่ยปีละ 280 เหตุการณ์
นักเก็บกู้วัตถุระเบิด ยังฝากถึงประชาชนทั่วไปสามารถระวังภัยจากเหตุระเบิดได้ โดยมีหลัก 4 ข้อ
1.ไม่เคยเห็น
2.ไม่เป็นของใคร
3.ไม่ใช่ที่อยู่
4.ดูไม่เรียบร้อย
เมื่อประสบเหตุต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือโทร.แจ้ง191
ติดตามชมการสัมภาษณ์การทำงานของหน่วย EOD อีกครั้งได้ในรายการ Intelligence / เจาะภารกิจหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด…รับมือระเบิดป่วนเมือง (ออกอาศไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554)
http://shows.voicetv.co.th/intelligence/2957.html?page=6