ไม่พบผลการค้นหา
หากย้อนถึงเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากน้ำมือของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ

หากย้อนถึงเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากน้ำมือของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ โดยเหตุการณ์อุกอาจที่เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย เป็นฝีมือของ สมาชิกขบวนการก่อการร้ายปาเลสไตน์ เดอะ แบล็ค เซ็ปเท็มเบอร์ ออร์กาไนซ์เซชั่น เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2515 ซึ่งมีผู้ก่อการร้าย 4 คน ได้บุกยึดสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่บนถนนหลังสวน กรุงเทพฯ คนร้ายได้จับคนในสถานทูตเป็นตัวประกัน 6 คน และยื่นข้อต่อรองกับทางการอิสราเอล 3 ข้อ เพื่อให้ฝ่ายไทยจัดเครื่องบินพิเศษพร้อมเจ้าหน้าที่คุ้มกันไปส่งที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เหตุการณ์จบลงโดยไม่เกิดเหตุรุนแรง

 

ต่อมาอีก 4 ปี วันที่ 7 เม.ย.2519 ผู้ก่อการร้าย 3 คน ซึ่งเป็นชาวมุสลิมสมาชิกขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติโมโรแห่งมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ปล้นเครื่องบินโดยสารของฟิลิปปินส์ ในเมืองคากายัน เดอ โอโร  พร้อมจับลูกเรือ 70 คน เป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับรัฐบาลแต่ไม่สำเร็จ ผู้ก่อการร้ายจึงบังคับให้เครื่องบินบินออกนอกประเทศ ตามเส้นทางโกตาคิ นะบาลู รัฐซาบาร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และมาลงที่สนามบินดอนเมืองในวันที่ 9 เม.ย.2519 โดยไทยได้ตัวกลางเจรจาระหว่างผู้ก่อการร้ายกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในที่สุดวันที่ 13 เม.ย.2519 ผู้ก่อการร้ายได้นำเครื่องบินเดินทางไปลิเบียต่อ

 

อีก 5 ปี เหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งที่ 3 ที่สร้างความสูญเสียก็เกิดขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.2524 โดยผู้ก่อการร้าย 5 คน จากกลุ่มคอมมานโดญิฮาด ได้ยึดเครื่องบินการูด้า สายการบินภายในของอินโดนีเซีย ขณะบินขึ้นจากสนามบินปาเล็มบัง ไปเมืองเมดาน และเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซีย ปล่อยนักโทษการเมือง และได้บังคับให้นำเครื่องบินลงจอดเติมน้ำมันและขอเสบียงที่สนามบินปีนัง มาเลเซีย และเดินทางต่อมาจอดที่สนามบินดอนเมือง ต่อมาไทยและอินโดนีเซียได้เจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้ายจนถึงวันที่ 30 มี.ค. จึงใช้กำลังแย่งชิงตัวประกัน โดยไทยเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการ อินโดนีเซียใช้หน่วยจู่โจมเข้าแย่งชิงตัวประกันเมื่อวันที่ 31 มี.ค.เวลา 02.35 น. ผลปฏิบัติการ ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 1 คน หน่วยจู่โจมเสียชีวิต 1 คน นักบินที่ 1 เสียชีวิต ผู้โดยสาร 43 คนปลอดภัย

 

เพียงปีเดียว เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นราวกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็เกิดขึ้นอีก โดยในวันที่ 2 ธ.ค.2525 ผู้ก่อการร้ายได้นำกระเป๋าเอกสารบรรจุระเบิดซีโฟร์ น้ำหนักราว 10 ปอนด์ไปทิ้งไว้ในสำนักงาน บจก. เอ.อี.นานา เลขที่ 27-29 ถนนอนุวงศ์  เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์อิรัก/กรุงเทพฯ และเกิดระเบิดขึ้นเมื่อเวลา 16.27 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแผนกวัตถุระเบิด กองพลาธิการ กรมตำรวจ พยายามนำกระเป๋าออกมาจากตัวอาคาร ส่งผลให้อาคารบริษัทซึ่งเป็นตึก 2 ชั้น 2 คูหาพังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิต 1 นาย คือ พ.ต.ท.สุรัตน์ สุมานัส หัวหน้าแผนกวัตถุระเบิด ตำรวจบาดเจ็บ 4 คน ประชาชนบาดเจ็บ 13 คน ต่อมาในวันที่ 3 ธ.ค. ผู้ก่อการร้ายขบวนการอิสลามแห่งอิรัก ได้โทรศัพท์แจ้งไปยังสำนักข่าวเอเอฟพีในกรุงปารีส อ้างความรับผิดชอบกรณีระเบิดดังกล่าว

 

จนกระทั้งปี 11 มีนาคม 2537 ตำรวจสามารถจับชาวอิหร่านที่กำลังขับรถบรรทุกระเบิดไปถล่มสถานทูตอิสราเอล แต่เกิดอุบัติเหตุขึ้นก่อนแถวถนนชิดลม แผนจึงแตก จึงสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ ซึ่งศาลได้สั่งประหารชีวิต แต่มีการเจรจา ไทยจึงต้องปล่อยตัวผู้ต้องหากลับไป

 

และล่าสุด ในวันที่ 14 ก.พ.2555 ผู้ก่อการร้าย 3 คน ได้ก่อเหตุระเบิด 3 จุด ย่านสุขุมวิท 71 โดยผู้ก่อการร้ายบาดเจ็บ 1 คน คือ นายซาอิฟ โมราบิ ชาวอิหร่าน จากการทิ้งระเบิดใส่รถเท็กซี่และถูกขาตนเองขาด ผู้ต้องหาอีกรายคือ นายโมฮัมหมัด ฮาไซเป็นชาวอิหร่าน ถูกจับได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิระหว่างพยายามหลบหนีไปมาเลเซีย ส่วนผู้ก่อการร้ายอีกราย คือ นายซีดา การ์ดซาเดค มะห์ซุส เหตุระเบิดดังกล่าวทำให้คนไทยบาดเจ็บ 4 คน ต่อมาในวันที่ 15 ก.พ.55 สภาความมั่นคงแห่งชาติได้ออกมาระบุว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นการก่อวินาศกรรมเป็นการมุ่งทำร้ายบุคคลเนื่องจากผู้ก่อการร้ายชาวอิหร่านทั้ง 3 ไม่มีความเชื่อมโยงกับ นายอาทริส ฮุสเซน สมาชิกกลุ่มก่อการร้าย ‘ฮิซบอลเลาะห์’ ชาวสวีเดน เชื้อสายเลบานอน ที่ถูกจับกุมได้ในเดือนมกราคม2555

(Source : AFP (Image))

ทันทีหลังเกิดเหตุระเบิดประเทศต่างๆ 10 ชาติ  ได้ออกคำเตือนพลเมืองที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยให้ระวังตัว ขณะที่อิหร่านออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่าเป็นฝีมือของขบวนการยิวไซออนิสน์ ของอิสราเอล ขณะที่อิสราเอลและสหรัฐเชื่อว่า อิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในไทย และคล้ายกับเหตุระเบิดในอินเดีย

 

เหตุระเบิด 3จุด กลางกรุงย่านสุขุมวิท 71 รับวาเลนไทน์ในปีนี้ แม้ว่าประเทศไทยไม่ใช่คู่อริกับชาติใดชาติหนึ่ง แต่การที่เราถูกเลือกให้เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงไม่เป็นประโยชน์อันใดที่ดี เหตุการระเบิดครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเอง และอันตรายรอบตัวที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกขณะที่ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เป็นสยามเมืองยิ้ม ที่ใครๆ รู้จัก ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ ล้วนบั่นทอนรอยยิ้มและความสบายใจต่อการมาพักผ่อนหย่อนใจ ของเหล่านักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘คนไทย’... คำถามก็คือ จะทำอย่างไรให้ ‘ไทย’ มีความสงบสุขและปลอดภัยมากขึ้น

 

Produced by VoiceTV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog