ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยทวีความรุนแรงมากขึ้นจากสถานการณ์ โควิด -19 ข้อมูลจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า เด็กเกือบ 2 ล้านคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ปี 2564 นักเรียนยากจนพิเศษมากถึง 1.3 ล้านคน แม้ชั้นรอยต่อจะพบว่าเด็กกลับมาเรียน 82.82% แต่อีก 43,060 คนยังหายจากระบบการศึกษามากที่สุด ผลสำรวจ กสศ.ยังชี้ว่าเด็กยากจนพิเศษ 271,888 คน ใน 29 จังหวัดไม่มีไฟฟ้าและอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์

VOICE TV ชวนมองภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกครั้ง รวมถึงทางออกที่นักวิจัยด้านการศึกษานำเสนอในยุคนี้

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา จาก กสศ. ซึ่งศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีหลายมิติ ตั้งแต่การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ , การต่อระดับชั้นสูงขึ้นไป, ทรัพยากรที่เด็กแต่ละคน โรงเรียนแต่ละแห่งมีไม่เท่ากัน ดังนั้นความเหลื่อมล้ำจึงยิ่งถ่างกว้างใน ‘เด็กยากจน’ มีทรัพยากรน้อยก็ได้ไปเรียนในโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อย มีครูน้อย และมีคุณภาพต่างจากโรงเรียนใหญ่

“คนจนก็ยังจนต่อไป คนที่มีความพร้อมก็ยิ่งไปได้ดี อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งของการศึกษาไทยที่ไม่ได้ช่วยยกระดับวงจรความยากจนมากนัก ตราบใดที่คนจนกับคนรวยยังมีความแตกต่างในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ยิ่งทำให้การหลุดออกจากวงจรความเหลื่อมล้ำเป็นไปได้ยากมากขึ้น” ภูมิศรัณย์ กล่าว

ไทยติด TOP 5 ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA มีการเก็บข้อมูลในปี 2018  เกี่ยวกับทรัพยากรของโรงเรียน การกระจายตัวของนักเรียนเปรียบเทียบกันหลายประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีการกระจายตัวของเด็กที่ฐานะร่ำรวยไปอยู่โรงเรียนทรัพยากรมาก ส่วนเด็กที่ยากจนกระจายไปอยู่ในโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อยอย่างชัดเจน อยู่ในอันดับ 5 ของประเทศที่มีการแบ่งแยกเด็กจน-เด็กรวยในการเข้าถึงการศึกษา

ผศ.ดร. ทรงชัย ทองปาน อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมศิาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังทำงานวิจัยขับเคลื่อนองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา กล่าวว่า ปัจจัยทางภูมิศาสตร์มีผลกระทบถึงอาชีพของผู้ปกครอง และในท้ายที่สุดก็จะส่งผลถึงการศึกษาของเด็กด้วย  

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันภาคเกษตรไทยเป็นรูปแบบของการรับจ้างในที่ดินคนอื่นประสบปัญหาความยากจน กระทบไปถึงปัญหาโภชนาของเด็กทำให้ขาดสารอาหาร หรือมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ทำให้เด็กต้องมีการเคลื่อนย้ายสถานที่เรียน ขาดความต่อเนื่องในการศึกษา รวมถึงอาจจะส่งผลให้หลุดออกจากนอกระบบการศึกษาได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสถานศึกษาที่ห่างไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัย รถขนส่งสาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้

อ.ทรงชัย ทองปาน
  • ผศ.ดร.ทรงชัย ทองปาน

จากการวิจัยของทรงชัยพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่มีชุดฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่ด้อยโอกาส หรือเด็กหลุดออกจากนอกระบบในพื้นที่ตนเอง อทป.จะสนใจแค่เด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดเท่านั้น และงบประมาณการศึกษาส่วนใหญ่ถูกใช้กับไปบุคลากรครู ไม่ได้นำไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่าที่ควร ดังนั้น จึงควรกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น และให้ผู้นำท้องถิ่น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงตัวเด็ก ติดตามสภาพคุณภาพชีวิตเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการของเด็กและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด เพราะแต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน

ทรงชัยเห็นว่า จุดสำคัญของการแก้ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ที่การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างจริงจัง เพราะท้องถิ่นที่มีผู้นำที่ใส่ใจหรือมีนโยบายการศึกษาที่เข้มแข็งจะจัดสรรทุ่มงบประมาณ หรือบุคคลากรอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่าง เมืองพัทยา มีการลงทุนในการศึกษาท้องถิ่นค่อนข้างสูง ปี 2564 ใช้งบประมาณ 4 ล้านบาทในโครงการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าโรงเรียนเมืองพัทยา7 เพื่อนำระบบไฟฟ้าเข้าสู่อาคารเรียนหลังใหม่

“โดยภาพรวมการให้ท้องถิ่น บริหารจัดการศึกษา จะตอบโจทย์หลายอย่าง นอกจากเรื่องของทรัพยากรแล้ว ยังตอบโจทย์ในเรื่องของความเหมาะสมของหลักสูตรการเรียนการสอน จัดการศึกษาที่เหมาะกับความต้องการของพื้นที่ได้ เพราะเขารู้ว่าเด็กในท้องถิ่นเขา อาจไม่จำเป็นต้องเรียนในหลักสูตรของส่วนกลาง อาจเรียนในหลักสูตรอื่นที่จบไปแล้วสามารถเข้าไปทำงานในท้องถิ่นได้ เช่น ภาษาที่สาม วิชาหมวดบริการ อุตสาหกรรม ตามแต่ละบริบทของแต่ละท้องถิ่น” ทรงชัยกล่าว

งบกระจายรายหัวไม่ตอบโจทย์

เรื่องงบประมาณดูเหมือนจะไม่เพียงพอ แต่ปีหนึ่งๆ รัฐบาลจัดสรรให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษาเยอะเป็นอันดับ 1 ภูมิศรัณย์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัญหาอยู่ที่ขาดประสิทธิภาพการใช้งบประมาณมากกว่าจำนวนเงิน เดิมรัฐให้การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส โดยใช้เกณฑ์ให้เงินอุดหนุนต่อหัวตามจำนวนเด็กในโรงเรียน รูปแบบนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ทำให้ได้เงินช่วยเหลือที่จะเอาไปพัฒนาการศึกษาน้อยลงตามไปด้วย เป็นการเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

อ.ภูมิศรัณย์ ทองเลียมนาค
  • ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ภูมิศรัณย์เห็นว่า ต้องมีการพัฒนาการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน เนื่องจากทั้ง 3 ด้าน มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าการศึกษาไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ส่งผลต่อคุณภาพแรงงานทางเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้ประเทศไม่พัฒนา แม้ในด้านการเมือง ถ้าขาดเสถียรภาพความมั่นคง ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางด้านอื่นๆ เช่นกัน

ปัญหาสุขภาพจิตเด็กไทย ‘เรื่องใหญ่’ ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

ภูมิศรัณย์ ยังกล่าวถึง ปัญหาสำคัญที่กำลังก่อตัวเป็นพายุสำหรับวงการการศึกษาไทย นั่นคือ ปัญหาสุขภาพจิต ปัจจุบันมีเยาวชนที่ปัญหาสุขภาพจิตจำนวนมาก และเราขาดแคลนบุคลากรนักจิตวิทยาในโรงเรียนอย่างยิ่ง กลไกในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทางจิตใจโดยเฉพาะโรงเรียนที่ห่างไกล หรือโรงเรียนในชนบท ยิ่งประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยอายุต่ำว่า 20 ปีกว่า 1.8 แสนราย ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563-30 ก.ย.2564 พบว่าวัยรุ่นมีความเครียดสูง 28% เสี่ยงซึมเศร้า 32% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 22% และพวกเขามีแนวโน้มเข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น และพบว่าบางรายทะเลาะกันในครอบครัวนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ทรงชัย เสนอทางออกเบื้องต้นว่า จะต้องพัฒนาความเข้มแข็งของสภาเด็กในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งสภาเด็กเป็นกลไกที่รับฟังปัญหาและให้คำปรึกษากับเด็กในท้องถิ่น และเป็นที่พึ่งหรือที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของเด็กได้


สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ชนิกานต์ เสือเปรียว