เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอเนื้อหาที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป แสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา
ลองมาเดินสยามยามค่ำ กับ “พี่อุ๋ย - อภิชาติ ชาติวานนท์” เจ้าของร้านปีเตอร์ เคลลี่ (Peter Kelly) ดีไซน์เนอร์ผู้ประกอบการชุดวิวาห์รุ่นบุกเบิกสำหรับย่านสยามสแควร์แห่งนี้
เรียบเรียงโดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
สยามสแควร์ย่านที่มีชีวิตชีวาทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ในยามเศรษฐกิจขาลง ไม่ว่าจะด้วยเพราะสถานการณ์การเมืองหรือเหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม แต่การค้าขายย่านสยามสแควร์ยังไม่หยุดนิ่ง อาจเป็นเพราะมีหลากหลายองค์ประกอบ ทั้งการล้อมรอบไปด้วยห้างใหญ่ ผู้คนเดินทางขวักไขว่ มีสถานีรถไฟฟ้าสถานี “สยาม” เป็นใจกลาง
บรรยากาศความจอแจริมฟุตบาทสยามสแควร์ยามค่ำคืนไม่ใช่เพียงสีสัน แต่สร้างมุมมองได้หลายมุม ไม่ว่าจะเป็นภาพสะท้อนความไม่เป็นระเบียบบนทางเท้าหรือการดิ้นรนของแต่ละชีวิตที่มีเงื่อนไขแตกต่างกัน เป็นการซื้อขายอีกทางเลือกนอกเหนือจากการช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าหรูหรา
ลองมาเดินสยามยามค่ำ กับ “พี่อุ๋ย - อภิชาติ ชาติวานนท์” เจ้าของร้านปีเตอร์ เคลลี่ (Peter Kelly) ดีไซน์เนอร์วัย 52 ปีผู้ประกอบการชุดวิวาห์และชุดราตรีทันสมัยซึ่งอยู่เบื้องหลังความงดงามของเจ้าสาวและความเนี๊ยบของสูทบุรุษตามบุคลิกผู้สวมใส่แต่ละคน นับเป็นผู้ประกอบการรุ่นบุกเบิกอีกคนสำหรับย่านสยามสแควร์แห่งนี้
“พี่อุ๋ย” ใช้ชีวิตเที่ยวเล่นดูหนังในสยามสแควร์ตั้งแต่อายุ 14 ปี ขณะนั้นเรียนที่โรงเรียนเซนคาเบรียลและได้ฉลองครบรอบวันเกิดอายุ 20 ปีในปี 2526 ด้วยการเปิดร้านเสื้อผ้าชื่อ vote' ใต้ถุนโรงหนังลิโด้ แต่ชื่อแรกก็ยังไม่ติดปากลูกค้า เท่ากับชื่อต่อมาคือ Peter Kelly ซึ่งใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน
ลูกค้ากลุ่มแรกที่พี่อุ๋ยเจาะตลาดคือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในยุคนั้น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นรุ่นคุณพ่อคุณแม่ ที่เคยมาตัดชุดวิวาห์ร้าน Peter Kelly เช่นเดียวกัน จนกระทั่งถึงรุ่นลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ยังได้พาลูกกลับมาตัดสูทในงานพรอม(จบการศึกษา)กับร้านพี่อุ๋ยในยุคนี้อีกครั้ง
“ตอนแรกพี่อุ๋ยตัดชุดลีดเดอร์ ชุดไปเที่ยวของวัยรุ่น เสื้อผ้านักศึกษา ซึ่งไม่ใช่สินค้าราคาแพง ฐานลูกค้ามีนิสิตจุฬาฯ นักศึกษาธรรมศาสตร์, เอแบค, รังสิต, หอการค้า ทำชุดนักศึกษาเป็นชุดที่ไม่ผิดระเบียบ ได้กำไรชิ้นละไม่ถึงร้อย ทำเพื่อตั้งฐานการตลาด บางคนเรียนจบมาไปเรียนเมืองนอกก็ตัดชุดไปใช้เมืองนอก บางคนตัดชุดทำงาน เสื้อผ้าก็เริ่มหลากหลาย และมาเริ่มทำชุดเจ้าสาวตอนย้ายร้านจากใต้ถุนโรงหนังลิโด้ มาเปิดร้านที่ซอย3 ลูกค้ากลุ่มเดิมจากวัยเรียนก็เริ่มเข้าสู่วัยทำงานและแต่งงาน ล่าสุดก็เป็นยุครุ่นลูกของลูกค้ากลุ่มแรก”
พี่อุ๋ยบอกว่า ย้อนไปช่วงเริ่มเปิดร้านแรกที่ใต้โรงหนังลิโด้ในปี 2526 เป็นสมัยเดียวกับที่ “เดอะ พาเลซ” ผับดังได้รับความนิยม ทำให้มีเพื่อนดาราจากเดอะ พาเลซมาร่วมเปิดร้านที่สยามสแควร์และด้วยชื่อเสียงของพวกเขา ก็ทำให้ดึงดูดลูกค้าบรรยากาศคึกคัก จากเดิมสยามสแควร์เป็นที่เปลี่ยวไม่มีคนเดิน
“ตอนแรกๆ รอบใต้ถุนโรงหนังมีการเปิดร้านอาหาร 4 ภาค แต่พอผู้ให้เช่าเห็นร้านที่ทำธุรกิจเล็กๆ บูมขึ้น เขาก็มีการปล่อยเช่าล็อคเล็กๆ ราคาค่าเช่า มีตั้งแต่หมื่นกว่าบาทถึงเป็นแสน... ต่อมาพี่เปิดร้านที่ซอย 3 และซอย 4 จากไม่มีร้านเสื้อผ้า ก็มีร้านมาเปิดตาม จนเต็มโรงหนังสยามอีกแห่ง ไม่เพียงที่ลิโด้เท่านั้น ดาราวัยรุ่นในสมัยนั้นที่เที่ยว “พาเลซ” ด้วยกันก็ชักชวนกันมาเปิดร้านผลิตเสื้อผ้าขาย เป็นงานฝีมือ สินค้าตอนนั้นราคาสูง เทียบเท่าปัจจุบันนี้เลย สมัยนั้นพี่อุ๋ยขายพันห้า ทุกวันนี้ ก็ยังพันห้า ช่วงนั้นลูกเศรษฐีมาซื้อของ ลูกคนมีตังค์ มาตัดเสื้อผ้ากับดีไซน์เนอร์ ราคาสูงกว่าปกติ
พี่อุ๋ยย้ายร้านมาเปิดที่ “ซอย 3” 14 ปี และที่ “ซอย 4” 14 ปี ค่าเช่าตึกแถวสยามซอย3 ซอย 4 ตอนนั้น ค่าเช่าเฉลี่ย 3 หมื่นกว่าบาท ราคาขึ้นมาเป็น แสนกว่าบาท ค่าเช่าสูงนับเป็นหลายเท่าทวีคูณ เพื่อตัดวงจรการเช่าช่วง แต่ปรากฏว่า ทุกคนยอมจ่ายเช่าช่วงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำเป็นต้องเช่าพื้นที่ อย่างเช่น ล็อคเล็กๆ 2 เมตรคูณ 3 เมตรครึ่ง ราคา 4-6 หมื่นบาทในทำเลดีๆ หน้าติดถนน บางตึกทำทางทะลุเป็นทางผ่าน เพื่อแบ่งพื้นที่ให้เช่าได้มากขึ้น
หากผู้ค้าเลือกขายสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ก็จะมีลูกค้าวิ่งมาหา มีรายได้สูงจนค่าเช่าเป็นเรื่องเล็ก ส่วนใหญ่อยู่ได้เพราะสินค้าตรงกับความต้องการ แต่บางคนอยู่ 3-4 เดือนแล้วพับกลับบ้าน สินค้าตัวใหม่จะมาเรื่อยๆ การพิสูจน์การอยู่รอดในสยามสแควร์เหมือนนักรบที่ต้องต่อสู้จึงจะอยู่รอด
จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการจัดการพื้นที่สยามสแควร์อีก 1 เหตุการณ์คือ ไฟไหม้โรงหนังลิโด้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว หลังจากไฟไหม้โรงหนัง ผู้ให้เช่าได้ปรับพื้นที่โรงหนังลิโด้ จาก 1 ชั้น เป็น 2 ชั้น ส่วนร้าน Peter Kelly “เช่าช่วง” อยู่ซอย3 ตรงบันไดด้านหลังโรงหนังลิโด้ โดนขึ้นค่าเช่าจาก 14,000 เป็น 30,000 บาท ผ่านไปสักพัก ร้านพี่อุ๋ยจากที่เช่าเพียงครึ่งห้อง ก็ขยายห้องเช่าไปอีกครึ่งห้องเป็นเต็มห้องรวมค่าเช่า 90,000 บาทต่อเดือน
ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงหนังลิโด้ พี่อุ๋ยย้ายร้านจากใต้ถุนโรงหนัง มาอยู่ซอย3 (บันไดด้านหลังโรงหนังลิโด้) เขาได้เปิดเป็นร้านชุดวิวาห์ครั้งแรกที่นี่ สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกค้าจากเดิมเป็นวัยรุ่นวัยเรียน ก็เข้าสู่ช่วงชีวิตที่มีครอบครัว
(ที่ตั้งร้านเดิมเมื่อครั้ง Peter Kelly ตั้งอยู่ซอย 3 )
“วันแรกเปิดหน้าร้านโดยไม่ได้ตกแต่งร้าน มีเพียงการเอาชุดเจ้าสาวของน้องสาวเพื่อนที่เซนต์คาเบรียล ซึ่งเป็นชุดที่พี่อุ๋ยทำเอง เอามาตั้งหน้าร้าน เป็นชุดผ้าไหม ข้างในเป็นแซ็คเกาะอกสั้น ข้างนอกเป็นเสื้อคลุมยาว เปิดหน้าเห็นชายกระโปรงด้านใน ตั้งโชว์หน้าร้านชุดเดียว ในร้านไม่มีชุดอื่น
วันแรกเพียงวันเดียวมีคนมาสั่งชุดแบบนี้ 3 ชุด หลังจากนั้น จึงทำชุดเจ้าสาวเต็มตัวที่ซอย 3 พออยู่ครบ 14 ปี ก็ตัดสินใจย้ายเพราะผู้ให้เช่าช่วงขึ้นราคาจาก 9 หมื่น เป็นแสนกว่าบาท จึงย้ายมาซอย 4 จ่ายค่าเช่า 3 หมื่น ขณะนั้นทั้งซอย 4 ไม่มีร้านเสื้อผ้าเลยสักร้าน มีแต่ออฟฟิศ พอพี่อุ๋ยเริ่มเปิด ก็มีร้านเสื้อผ้ามาเปิดซอยเดียวกันเรื่อยๆ แล้วลามไปที่โรงหนังสยาม โรงหนังสยามก็เริ่มหนาแน่น ทั้งโรงหนังและซอย 4 เพราะมีร้านเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น
(ที่ตั้งร้านเดิมเมื่อครั้ง Peter Kelly ตั้งอยู่ซอย 4 )
ทำสัญญาอยู่ซอย 4 มา 8 ปี พอคนหนาแน่นเยอะขึ้น ก็มีการประเมินค่าเช่าใหม่ สูงเป็นหลายเท่าตัว จากสามหมื่น เป็นหนึ่งแสนสี่หมื่น พี่ได้ส่วนลดเหลือ 9 หมื่นบาทในฐานะรุ่นบุกเบิกฐานของแฟชั่นวัยรุ่นในสยามสแควร์ ทำให้มีการขยายเติบโต ส่วนราคาห้องที่คนเดินผ่านเยอะ ค่าเช่าจะสูงลิ่ว ใครจะออกเดี๋ยวก็มีคนมาอยู่แทน เคยมีร้านเจ้าสาว มาเปิดข้างๆ ร้านพี่อุ๋ย สักพักก็กระเด็นไป”
“สยามสแควร์เป็นที่ปราบเซียน ถ้าเขี้ยวเล็บไม่มีอย่าได้มาอยู่ สยามเป็นที่เริ่มต้นสร้างชื่อเสียง ใครเกิดที่สยามสแควร์ได้ ก็สามารถขยายสาขาได้ เป็นเหมือนตัวจุดระเบิดให้กิจการขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวพี่อยู่แบบพอเพียงรายได้ขึ้นอยู่กับกำลังผลิตและไม่คิดผลิตเพิ่ม ทำให้มีความสุขไปวันๆ ไม่มีวันหยุด เปิดมา 32 ปี หยุดอยู่ 3 วัน ตอนไฟไหม้โรงหนังสยามเมื่อปี 53 ส่วนตอนไหม้โรงหนังลิโด้ พอดับไฟได้ ก็ทำงานต่อ ร้านไม่ถูกไฟไหม้”
หลังจากบุกเบิกสยามสแควร์มากว่า 30 ปี จากใต้โรงหนังลิโด้ มายัง “ซอย 3” 14 ปี “ซอย 4” 14 ปี พี่อุ๋ยก็ต้องย้ายที่ตั้งร้านชุดวิวาห์อีกรอบ หลังไฟไหม้โรงหนังสยามเมื่อปี 2553 เพราะจากนั้น 1 ปี ก็มีการทุบตึกสร้างสยามสแควร์วัน ทำให้ร้านPeter Kelly ย้ายมาอยู่ซอย6 ถึงปัจจุบันนี้
(Peter Kelly ณ ซอย 6 ในปัจจุบัน)
“ซอยนี้เดิมมีร้านสูทขายนักท่องเที่ยวอยู่ 1 ร้าน แล้วต่อมาก็มีร้าน Peter Kelly บรรยากาศในซอยช่างเงียบเหงา จากเดิมมีสวนสาธารณะเล็กๆ หน้าร้านให้คนมานั่งเล่น อยู่ไปไม่ถึงปีก็มีโรงหนังเล็กๆ มาบังปากซอย ล่าสุดโรงหนังเลิกกิจการไปแล้ว อุตส่าห์ดีใจคิดว่าจะจัดให้เป็นที่สวยงามแต่กลับกลายเป็นที่จอดรถมอเตอร์ไซต์ ช่างเข้ากับร้านเราจริงๆ (บ่น) คนที่มาใช้บริการที่จอดรถเป็นพนักงานในห้างสยามพารากอนซึ่งเขามาทำงาน ไม่ใช่คนมาเดินชอปปิ้งสยามสแควร์ ส่วนปากซอยก็เป็นแผงลอย อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าเต็มไปหมด แต่อยู่ไปอยู่มาก็ชิน ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม”
ความเป็นตำนานของร้าน Peter Kelly
ชื่อร้าน Peter Kelly ตั้งตามชื่อศิลปินชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานรูปภาพที่พี่อุ๋ยเอามาแต่งร้านที่ซอย3 ตอนนั้นไปเทคโอเวอร์โปสเตอร์จากแกเลอรี่ของ “เอียน” เพื่อนชาวอังกฤษ ซึ่งเดิมมีแกเลอรี่เป็นห้องแถวติดกับ “โรมคลับ” คลับดังก่อนจะมี “เดอะ พาเลซ” ตอนนั้นโรมกำลังขยายพื้นที่ให้บริการเป็นเวทีโชว์ พี่อุ๋ยเอาโปสเตอร์ ของศิลปินชื่อปีเตอร์เคลลีมาแต่งร้านโดยขายเสื้อผ้าด้วย ขายโปสเตอร์ด้วย น้องสาวของศิลปิน “Peter Kelly” ก็เคยเดินมาที่ร้านด้วย
พี่อุ๋ย บอกว่า สมัยนั้นเริ่มทำชุดเจ้าสาวตั้งแต่ มีดีไซน์เนอร์ที่ทำชุดเจ้าสาวมีไม่กี่คน จนมีหลายร้อยร้านทั่วประเทศแล้ว แต่ Peter Kelly ก็ยังมีลูกค้า ซึ่งมาหาเราโดยบอกกันปากต่อปาก โชคดีที่เราเปิดมาเก่าแก่ จากการที่เราสร้างฐานลูกค้าจากนักเรียนนักศึกษา จนกระทั่งทำงาน ไปเรียนปริญญาโทเมืองนอกกลับมา จนกระทั่งแต่งงาน โดยที่เราไม่ต้องใช้งบโฆษณา แต่เรามีลูกค้ามาจนตลอดทุกวันนี้
“ล่าสุดเริ่มมาตัดสูทงานพรอม(ฉลองจบการศึกษา) ให้กับลูกของลูกค้ารุ่นแรกๆ ที่ตัดชุดวิวาห์กับร้านพี่อุ๋ย และอีกไม่กี่ปี พวกเขาก็จะกลับมาเป็นลูกค้าอีกเจนเนอเรชั่น เหมือนลูกของลูกค้าของแม่พี่อุ๋ย มาเป็น ลูกค้าพี่อุ๋ย ตอนพี่อุ๋ยเปิดร้านจะมีคนพูดว่า แม่ของหนูก็เป็นลูกค้าของแม่พี่อุ๋ยค่ะ”
“ในอนาคต Peter Kelly ก็จะมีหลานๆ มาทำต่อ โดยพี่อุ๋ยควบคุม เราทำงานเพื่ออาชีพ ทุกคนเห็นเราทำก็ทำตามจนเยอะเกร่อ ส่วนตัวพี่อุ๋ยยังยืนหยัดสไตลล์เดิม เหมือนเดิม อะไรไม่อยากทำก็ไม่ทำ ทำเฉพาะที่อยากทำ เคยมีคนเอาแบบมาเสนอให้ก๊อบปี้ก็มี แต่ฝันไปเถอะ พี่อุ๋ยยืนยันว่าจะทำแบบนี้ right body, right time, right place ดูดีๆ วันเวลาผ่านไป ถ้า wrong body, wrong time, wrong place จะไม่กล้ากลับมาดูรูปภาพของตัวเอง
จากประสบการณ์ที่เห็นการจัดงานแต่งงาน เห็นเสื้อผ้างานแต่งงานที่แม่ทำทุกวัน จนกระทั่งเวลานี้เป็นเวลา 50 กว่าปี ซึมซับเข้าไปในฮีโมโกบิลของเม็ดเลือดแล้ว เกิดมาก็เห็นการทำงานของที่บ้านตัดชุดเจ้าสาว ดูสถานที่จัดงานแต่งงานที่แตกต่างกัน ถ้าจัดบนเรือ หรือในโรงแรม ก็ต้องมีหลักการออกแบบที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งรูปร่างของคู่บ่าวสาวที่แตกต่างกัน ก็ต้องออกแบบชุดให้ลงตัวกับแต่ละคู่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเจ้าสาวหัวโตกว่าจะบ่าว หรือ ใบหน้าอายุห่างกันมาก จะตัดชุดอย่างไร”
“ดีไซเนอร์ ต้องจัดระเบียบการแต่งกาย ในโลกของแฟชั่นมี Law of Fashion ประเทศไหนที่มี ก็สร้างเงินได้ ถ้าไม่มี ก็ไม่สามารถสร้างแบรนด์ได้ ประเทศอย่าง ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น มีความเป็นเมืองแฟชั่น แต่ประเทศไทยไม่สามารถเป็นเมืองแฟชั่น ตราบใดที่ไม่วางรูปแบบการแต่งตัวให้ถูกกาละเทศะ ให้เกียรติผู้อื่น right time, right place ได้
อยากให้ทุกคนทำงานด้วยใจรักและเป็นมืออาชีพ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อย่าทำแค่ให้สร้างตัวเองว่ามีเสน่ห์เก๋ มันดูเหมือนมีเสน่ห์ แต่เกิดง่ายตายง่าย สินค้าในเมืองไทย ยิ่งใช้สื่อโฆษณามากเท่าไหร่ วันหนึ่งหยุดใช้สื่อ ผู้บริโภคก็จะคิดว่าสินค้าคุณเจ๊งซะแล้ว ควรจะทำคุณภาพให้สมกับราคา ให้มีลูกค้าปากต่อปาก ก็จะมีอายุการทำงานยาวนานและตลอดไป”
Peter Kelly อยู่คู่สยามสแควร์มายาวนาน เขาเฝ้าสังเกตการณ์มองความเปลี่ยนแปลงของย่านแห่งนี้อย่างใกล้ชิด
“หลายเดือนมานี้ อยากเรียนรู้จึงไปคลุกคลีกับคนที่ขายของริมฟุตบาทสยามสแควร์ มีความสงสัยว่าทำไมมาขายแผงลอย ก็พบว่า ไม่มีใครอยากมา แต่เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนประเภทของการค้าขาย บางคนเคยขายโทรศัพท์มือถือที่ห้างมาบุญครองก็ขายไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน คล้ายๆ กับว่าช่วงที่บูมที่สุดของสินค้าประเภทนี้ได้ผ่านไปแล้ว และค่าเช่ามีราคาสูง ผู้ค้าเดิมอยู่ไม่ได้ มีปัญหาการเช่าช่วงบวกราคาสูงขึ้น เกิดการแข่งขันที่จะให้ราคาสูงขึ้น ผู้ให้เช่าไม่ลดราคา และมีเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง ระเบิด เศรษฐกิจไม่ดี คนที่เคยอยู่ตรงนั้นก็ไม่สามารถอยู่ได้”
“พี่อุ๋ย” บอกว่า ทางออกคือ ผู้ให้เช่าต้องเห็นใจ ลดค่าให้ผู้เช่าบ้าง มิเช่นนั้นผู้ค้าก็คงจะทยอยออก อาจจะเป็นห้างร้าง หลังจากเคยทำกำไรมานาน ถ้าผู้ค้าสามารถอยู่บนห้างหรือศูนย์การค้าได้ เขาคงไม่มาขายแผงลอย ตอนนี้หลายคนเปลี่ยนสินค้าให้เข้ากับสถานที่ เช่น มาตั้งแผงลอยขายอาหาร มีค่าใช้จ่ายแต่ไม่สูงเท่าขายโทรศัพท์มือถือบนห้าง พื้นที่แผงลอยแทบจะเบียดกัน ล่าสุดมีการเซ้งประมูลเช่าช่วง อย่างไรก็ตาม การมีแผงลอยหรือไม่มีแผงลอยก็ไม่กระทบธุรกิจส่วนตัวของ “พี่อุ๋ย” เพราะเป็นธุรกิจคนละแบบมีลูกค้าคนละกลุ่ม เขากล่าวอย่างตรงไปตรงมาและยอมรับว่ามีความรู้สึกหลายอย่างปนกันเมื่อมองธุรกิจแผงลอยย่านสยามสแควร์ที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต
"จริงๆ บรรยากาศ ขายของบนฟุตบาท เริ่มตั้งแต่มีรถไฟฟ้า ตอนแรกๆ มีศิลปิน วัยรุ่นที่ชอบงานศิลปะ ทำของน่ารักมาขายไม่แพง แม้กระทั่งเครื่องประดับ เครื่องเงิน พี่ก็เคยไปซื้อ เพราะเห็นว่าเป็นงานศิลปะ บางคนเอาเซรามิกเล็กๆ มาทำเป็นเรียลลิสติคอาร์ตมาขาย มีเข่งปลาทู ถ้าซื้อมาในร้านบางทีขายได้แพงกว่าซื้ออีก ตอนนั้นเด็กๆ ก็ชวนกันมาขายของแบกับดินดูน่ารัก แต่ปริมาณก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนพี่อยู่ซอย4 ก็เริ่มมีแผงลอยมากขึ้น เดินจากซอย 4 มาแบงก์กรุงเทพใช้เวลามากกว่าปกติก็รู้สึกอึดอัด รู้สึกว่าเขาเอาเปรียบ แต่นั่นก็เป็นโอกาสในการค้าขายของพวกเขา เพราะคนใช้รถไฟฟ้าเยอะ ประกอบกับตอนนั้นเริ่มมีการใช้โซเชียลมีเดีย ก็มีการโพสต์บอกต่อๆ กันว่าซื้อของราคาถูก ทำให้คนมาช้อปปิ้ง เช้าบ่ายเย็น ขายได้มากกว่าคนที่เช่าในสยามสแควร์ด้วย
ต่อมาคนที่ขายของในสยามสแควร์ ไปเอาสินค้ามาจากแหล่งเดียวกันกับร้านแผงลอยมาขาย แต่ลูกค้าแฮปปี้ที่จะซื้อแผงลอยเพราะราคาถูกกว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เมื่อก่อน เป็นงานฝีมือเอามาขาย ขณะที่เดี๋ยวนี้ ไปซื้อมาจากแหล่งเดียวกัน พอผู้ค้าในสยามสแควร์สู้ค่าเช่าไม่ได้ ก็เลยกระโดดออกมาขายข้างนอก งานฝีมือก็หายไปหมด แต่การขาย อาจจะเป็นพรสวรรค์ของพ่อค้าแม่ค้าที่นี่คือ เลือกของได้สวยๆ งามๆ มากกว่าที่อื่นมาขาย จึงได้รับความนิยมมากกว่าที่อื่น จากพื้นที่แห่งโอกาส กลายมาเป็นแย่งกันเป็นพ่อค้าคนกลาง
ทั้งหมดเป็นเรื่องปกติของการดิ้นรนมากกว่า เรามีความรู้สึกทั้งเห็นใจและอึดอัดใจ มีทั้งคนที่เอาเปรียบ และคนที่เสียเปรียบอยู่ในแผงลอยเหล่านี้ สิ่งที่พี่อุ๋ยได้จากการไปนั่งคุย คือ เราอยากรู้กลไกของการตลอด ซึ่ง เราเคยได้เห็น การเกิดตลาดตั้งแต่สมัยพี่อุ๋ยเด็ก ๆ หลายๆ ตลาดเกิดมาจากการจับจองพื้นที่ของแม่ค้า จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงสร้างสิ่งก่อสร้างถาวร”