ไม่พบผลการค้นหา
นอกเหนือจากวัดกัลยาณมิตร อุโบสถอีกแห่งที่มีพระประธานเป็นปางปาลิไลยก์ คือ วัดบางขุนเทียนใน ความน่าชมของพระอารามแห่งนี้ยังรวมถึงจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย

นอกเหนือจากวัดกัลยาณมิตร อุโบสถอีกแห่งที่มีพระประธานเป็นปางปาลิไลยก์  คือ วัดบางขุนเทียนใน ความน่าชมของพระอารามแห่งนี้ยังรวมถึงจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย

 

วัดบางขุนเทียนในเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ถนนจอมทอง แขวงจอมทอง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อว่า วัดขนุน ไม่ปรากฏประวัติการสร้างแน่ชัด กล่าวกันว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณพ.ศ.2300 เข้าใจว่าปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4

 

ภายในวัดมีสิ่งน่าชมหลายอย่าง เช่น เจดีย์ทรงเครื่อง และซุ้มประตูกำแพงพระอุโบสถ ลักษณะคล้ายกับที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน พระประธานในโบสถ์ ปางปาลิไลยก์ เช่นเดียวกับที่วัดกัลยาณมิตร ผิดกันตรงที่ว่าที่นี่เป็นพระปูนปั้นลงรักปิดทอง และจิตรกรรมฝาผนังแสดงภาพพุทธประวัติและชาดก

 

 

ภายในวัดมีสิ่งน่าชมหลายอย่าง เช่น เจดีย์ทรงเครื่อง และซุ้มประตูกำแพงพระอุโบสถ ลักษณะคล้ายกับที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน พระประธานในโบสถ์ ปางปาลิไลยก์ เช่นเดียวกับที่วัดกัลยาณมิตร ผิดกันตรงที่ว่าที่นี่เป็นพระปูนปั้นลงรักปิดทอง และจิตรกรรมฝาผนังแสดงภาพพุทธประวัติและชาดก

 

 

หอระฆังก่ออิฐถือปูน มีลวดลายปูนปั้นประดับ ส่วนยอดเป็นชั้นรูปดอกบัวตูมลดหลั่นกัน หน้าซุ้มประตูกำแพงแก้วทางด้านข้างของพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงเครื่อง

 

 

ซุ้มประตูทางเข้าสู่อุโบสถเป็นทรงนาฬิกาฝรั่ง ประดับลวดลายปูนปั้นลายไม้แบบตะวันตกที่เพี้ยนออกไปทางจีน ซึ่งนิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 3 กรอบประตูเช่นนี้คล้ายกับที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์

 

 

ซุ้มประตู วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ

 

 

พระอุโบสถเป็นทรงไทย หลังคาลดหนึ่งชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคา 3 ตับ มีเสาพาไลรองรับชายคา เสาพาไลเป็นเสาสี่เหลี่ยมเรียบ ดูค่อนข้างแบบบาง ไม่ประดับบัวหัวเสา เป็นเสาแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

 

 

เจดีย์ราย วัดพระเชตุพนฯ

 

 

กรอบหน้าบันประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันปั้นปูนประดับด้วยกระเบื้องสี เป็นลวดลายพรรณพฤกษา

 

 

ใบเสมาสร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่บนแท่นในซุ้มสี่เหลี่ยมแบบจีน

 

 

ซุ้มประตู (ซ้าย) และซุ้มหน้าต่าง ประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา

 

 

ด้านหน้าอุโบสถ นอกกำแพงแก้ว มีเจดีย์ทรงเครื่อง 2 องค์

 

 

เจดีย์ทรงเครื่องแต่ละองค์ มีเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่

 

 

พระประธานเป็นปางปาลิไลยก์ ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมแบบไทยประเพณี เหนือช่องหน้าต่างเป็นภาพพุทธประวัติ ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องชาดกต่างๆ

 

 

ผนังเบื้องหน้าพระประธาน แสดงเรื่องพุทธประวัติ ตอนมารผจญ : พระพุทธเจ้าประทับเหนือรัตนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ พญามารยกทัพมาทางด้านขวาของพุทธองค์ มารหลายตนมีใบหน้าเหมือนชนชาติต่างๆ ทั้้งฝรั่งตะวันตก จีน อาหรับ ในเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน พระแม่ธรณีบีบน้ำออกจากมวยผม น้ำไหลท่วมเหล่ามารแตกพ่ายไป เหนือภาพมารผจญขึ้นไปเป็นภาพเทวดา ขณะที่ฤาษี วิทยาธร และนักสิทธิ์ เหาะอยู่ตอนบนสุด

 

 

ผนังเบื้องหลังพระประธาน เขียนภาพพุทธประวัติ ตอนแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ : หลังแสดงธรรมครบสามเดือน ในวันเพ็ญเดือน 11 พระพุทธองค์ทรงอำลาพระพุทธมารดา ขณะเส็จกลับลงจากสวรรค์ ทรงบันดาลให้สรรพสัตว์ทั้งสามโลก คือ สววรค์ภูมิ มนุษยภูมิ และนรกภูมิ มองเห็นกันและกัน

 

 

ผนังด้านซ้ายพระประธาน เขียนภาพตอนพิธีอภิเษกสมรส เจ้าชายสุทโธทนะกับเจ้าหญิงสิริมหามายา ด้านบนเป็นตอนพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรส

 

 

ต่อเนื่องกันเป็นภาพพระราชพิธีอภิเษกสมรส เจ้าชายสิทธัตถะกับเจ้าหญิงยโสธราพิมพา

 

 

ถัดมาเป็นภาพตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) : เจ้าชายสิทธัตถะประทับบนราชรถเทียมม้าออกประพาสอุทยาน ชี้นิ้วไปทางเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงสังเวชใจและคิดออกผนวช ภายในปราสาทแสดงภาพพระองค์ทอดพระเนตรโอรส ราหุล กับพระนางพิมพา ก่อนทรงม้ากัณฐกะหนีออกจากเวียงวังไปกับนายฉันนะ

 

 

หลังออกบวช พระสิทธัตถะบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้น : ปัญจวัคคีย์พราหมณ์เฝ้าปรนนิบัติขณะพระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา ขณะบรรทม พระอินทร์ลงมาทำนิมิตพิณสามสาย พิณสายหนึ่งที่ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไปทำให้เกิดเสียงไพเราะ พระสิทธัตถะจึงประจักษ์ถึงทายสายกลางสู่ความหลุดพ้น ทรงรับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวาย จากนั้น ทรงลอยถาด ถาดได้จมลงสู่วังบาดาลของพญานาค พระองค์รับถวายฟ่อนหญ้าคาจากพราหมณ์ผู้หนึ่ง แล้วนำมาปูลาดที่โคนต้นโพธิ์ เพียรฝึกจิตแม้ธิดาพญามารมายั่วยวน

 

 

ผนังด้านขวาพระประธาน เริ่มด้วยตอนพระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขภายหลังการตรัสรู้ในสถานที่ 7 แห่ง แห่งละสัปดาห์ แต่ช่างเขียนได้ย่นย่อเรื่องโดยตัดเหตุการณ์บางสัปดาห์ออก : ในภาพ สัปดาห์ที่หนึ่ง ประทับที่มหาโพธิบัลลังก์ สัปดาห์ที่สอง ประทับยืนลืมพระเนตรพิจารณามหาโพธิบัลลังก์ สัปดาห์ที่สาม ทรงจงกลม มีดอกบัวรองรับพระบาท สัปดาห์ที่สี่ ประทับยืนในเรือนแก้ว สัปดาห์ที่ห้า ประทับนั่งใต้ต้นไทร

 

 

สัปดาห์ที่เจ็ด ประทับใต้ต้นเกด พระอินทร์มาถวายผลสมอโอสถ และคาราวานเกวียนของสองพ่อค้า ตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางมาถวายข้าวตู ถัดไปทางขวาเป็นภาพตอนท้าวสหัสบดีพรหมอาราธนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรม และพระพุทธเจ้าเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรโปรดปัญจวัคคีย์

 

 

ผนังระหว่างช่องหน้าต่างแสดงเรื่องชาดกต่างๆ ในภาพเป็นเรื่องกากราชชาดก พระยากากำลังเทศนาอยู่ในปราสาท ด้านนอกวัง ชาวบ้านกำลังไล่จับกา

 

 

จันทกินนรชาดก : พระเจ้าพรหมทัตยิงศรไปยังจันทกินนร ขณะกลุ่มกินนรกำลังลงเล่นน้ำ ไพร่พลที่ตามเสด็จฯพระเจ้าพรหมทัตกำบังกายหลังแนวไม้

 

 

เช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังในที่อื่นๆ ช่างได้บันทึกบรรยากาศของยุคสมัยไว้ด้วย ในภาพมุมหนึ่งของเรื่อง กุมมาสบิณฑชาดก มีภาพคหบดีภายในอาคารแบบจีน 

 

 

ภาพเล่าเรื่อง มโหสถชาดก

 

 

ภาพเล่าเรื่อง มุทุลักขณชาดก : ตอนบนด้านซ้าย พระโพธิสัตว์เหาะผ่านที่ประทับของนางมุทุลักขณาเทวี ตอนกลาง-ขวา พระเจ้าพาราณสีนำทัพออกจากพระนคร ตอนล่างแสดงวิถีชีวิตชาวบ้าน

 

แหล่งข้อมูล

 

กิตติ ชินเจริญธรรม.  (2548).  การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบางขุนเทียนใน จังหวัดกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษา    เทคนิคและองค์ประกอบภาพพุทธประวัติและภาพชาดก.  การศึกษาโดยเสรี, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.

 

กุณฑลรัตน์ แก้ววิไล.  (2547).  การศึกษาสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่จากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบางขุนเทียนใน แขวง  จอมทอง เขตจอมทอง จังหวัดกรุงเทพมหานคร.  การศึกษาเฉพาะบุคคล, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.  

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ธนบุรี

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ธนบุรี

ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี

ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี

ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ธนบุรี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog