ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านไป 30 ปี การสังหารหมู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมินยังคงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ของจีนที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่การพูดถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยและการสังหารหมู่ครั้งนั้นยังเป็นเรื่องต้องห้าม ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เด็กรุ่นใหม่ของจีนจำนวนมากไม่เคยรู้ว่าเคยมีประวัติศาสตร์ที่มืดดำนี้

ภาพ Tank Man หรือภาพที่ผู้ชายคนหนึ่งยืนขวางไม่ให้รถถังเคลื่อนไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่งของจีน เป็นหนึ่งในภาพที่คนทั่วโลกจดจำได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญและการท้าทายอำนาจรัฐ เรียกร้องให้จีนเปลี่ยนการปกครองจากระบอบคอมมิวนิสต์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นถูกตัดออกจากหนังสือประวัติศาสตร์ภายในจีน รวมถึงอินเทอร์เน็ตภายในประเทศด้วย การสังหารหมู่ครั้งนั้นเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างให้จีนยุคใหม่ เป็นรัฐที่คอยสอดส่องประชาชน หรือ security state ซึ่งทำให้การรวมตัวประท้วงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

เนติวิทย์-เทียนอันเหมิน

อะไรจุดชนวนการประท้วง?

ในปี 1989 ชาวจีนมากกว่า 1 ล้านคน โดยส่วนมากเป็นนักศึกษา ได้รวมตัวกันประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อท้าทายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ขึ้นมาปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1949 โดยการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยได้เริ่มต้นขึ้น หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของหูเย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจจีน และเคยกล่าวว่าระบอบคอมมิวนิสต์ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ และปัญญาชนควรถกเถียงกันเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้อย่างกว้างขวางกว่านี้

หูเย่าปังถือเป็นขวัญใจปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ของจีนในขณะนั้น เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เพียงคนเดียวที่พยายามรับฟังความเห็นต่างและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ จนทำให้เขาถูกลดตำแหน่งและอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ลงอย่างมาก ดังนั้น หลายคนจึงเชื่อว่าที่หูเย่าปังเสียชีวิตกะทันหันจากอาการหัวใจวาย อาจเป็นเพราะเครียดที่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

การประท้วงเริ่มต้นขึ้นจากความโกรธแค้นที่การปฏิรูปประเทศไปสู่การเปิดเสรีและประชาธิปไตยเป็นไปอย่างล่าช้า ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่หลายคนมองว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ จากนั้น การประท้วงก็ลุกลามไปเป็นประเด็นเศรษฐกิจและสังคมอื่น เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยการเคลื่อนไหวนี้ได้ขยายออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมินไปยังสถานที่อื่นทั่วประเทศ เช่น ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

AFP-การชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน 1989-ผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากับตำรวจ.jpg

การประท้วงเปลี่ยนไปเป็นการสังหารหมู่ได้อย่างไร?

ในเดือนพ.ค. นักศึกษาหลายร้อยคนเริ่มอดอาหารประท้วงที่จุตรัสเทียนอันเหมิน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนรู้สึกอับอายอย่างมากในช่วงที่มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำโซเวียต หลังจากที่รัฐบาลล้มเหลวในเจรจาประนีประนอมกับผู้ประท้วงหลายครั้ง รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงปักกิ่ง

วันที่ 2 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงอดีตประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง ตัดสินใจยุติ “การประท้วงต่อต้านการปฏิวัติประเทศ” และสั่งให้กองทัพใช้กำลังสลายการชุมนุมขอคืนพื้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ต่อมาในวันที่ 3-4 มิ.ย. กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้เปิดฉากยิงกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วงที่เป็นพลเรือนไม่มีอาวุธ

สูญเสียกันไปเท่าไหร่?

ไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน มีการคาดการณ์กันตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นราย โดยมีการรายงานตัวเลขที่รัฐบาลประเมินในวันที่ 14 ม.ย.ปี 1989 ว่ามีผู้เสียชีวิต 300 ราย ในจำนวนนี้เป็นทหาร 100 ราย ก่อนที่รัฐบาลจะแก้ไขตัวเลขผู้สียชีวิตรวมเหลือ 200 ราย ด้านสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นัลรายงานตัวเลขจากสภากาชาดจีนว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,600 ราย ขณะที่บันทึกการทูตของเอกอัครราชทูตอังกฤษในจีนประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10,000 ราย

“เหล่าแม่เทียนอันเหมิน” การรวมตัวของครอบครัวของผู้เสียชีวิตในการสังหารที่จัตุรัสหมู่เทียนอันเหมินและเป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการจดจำและบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญครั้งนั้น โดยมีการยื่นจดหมายไปยังสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อเท็จจริง จ่ายค่าชดเชย และแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้

เทียนอันเหมิน.jpg

การสังหารหมู่เทียนอันเหมินเปลี่ยนแปลงสังคมจีนอย่างไร?

การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ปรับเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็น รัฐที่คอยสอดส่องพฤติกรรมของประชาชนตั้งแต่ในบ้าน ในที่สาธารณะ กิจกรรมบนโลกออนไลน์ โดยมีเป้าหมายว่าจะปิดโอกาสให้ไม่มีการรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่อีก สื่อของรัฐคอยใช้วาทกรรมชาตินิยมในการโฆษณาชวนเชื่อว่า รัฐบาลมีความชอบธรรมในการสอดส่องดูแลประชาชน

จีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดในการกำหนดขอบเขตอำนาจอธิปไตยทางไซเบอร์ของตนเอง กีดกันประชาชนเข้าถึงเสิร์ชเอ็นจิ้น โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ของสำนักข่าวของต่างชาติ โดยแอปพลิเคชันและบล็อกภายในประเทศจะถูกจับตาดูอย่างใกล้ชิด การเสิร์ชวันที่ 4 มิ.ย. จะไม่มีการสังหารหมู่ปรากฎขึ้นมา ในวันครบรอบปีก่อนๆ จีนเคยแบนคำว่า "วันนี้" ด้วยซ้ำ ซึ่งการเซ็นเซอร์ไม่ได้มีเพียงช่วงวันครบรอบ อีกทั้งยังมีการเซ็ฯเซอร์การวิพากษ์วิจารร์รัฐบาลจีนโดยทั่วไปๆ ไปจนถึงการแบนคำที่ไม่น่ามีพิษภัยอย่าง "หมีพูห์ ด้วย เพราะเป็นคำที่คนใช้เรียกสีจิ้นผิง

จีนมีระบบสอดส่องประชาชนที่ไฮเทค เช่น ระบบจดจำใบหน้าประชาชน นอกจากนี้ รัฐบาลยังทดลองใช้ระบบ “เครดิตสังคม” ที่รัฐจะคอยหักคะแนนคนที่มีพฤติกรรม “ไม่ดี” ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งเครดิตสังคมนี้จะมีผลกระทบกับความสามารถในการซื้อตั๋วเครื่องบินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นต้น

AP-กล้องวงจรปิด-สอดแนม-CCTV-จับตา

คนจีนรำลึกเหตุการณ์สังการหมู่เทียนอันเหมินอย่างไร?

การรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นสิ่งต้องห้าม เดือนมิถุนายนของทุกปี เจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังอย่างแน่นหนาบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน นักเคลื่อนไหวและญาติผู้เสียชีวิตจะถูกขังอยู่ในบ้านหรือถูกบังคับให้ “ไปเที่ยว” แล้วค่อยกลับไปที่กรุงปักกิ่ง หลังจากวันที่ 4 มิ.ย.ไปแล้ว

เขตปกครองพิเศษฮ่องกงซึ่งยังคงมีเสรีภาพอยู่บ้าง กลายเป็นจุดสำคัญในการรำลึกเหตุสังหารหมู่เทียนอันเหมินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ช่วงหลังมานี้จีนแผ่นดินใหญ่จะเข้าไปควบคุมฮ่องกงมากขึ้น แลันักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยจะถูกดำเนินคดีกันไปแล้วหลายคน แต่ฮ่องกงก็ยังคงจัดงานรำลึกโศกนาฏกรรมครั้งนี้ มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์นี้ อีกทั้งยังมีอนุสาวรีย์รำลึกสังหารหมู่เทียนอันเหินที่มหาวิทยาลัยฮ๋องกงด้วย

ด้านไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวว่า การสังหารหมู่เทียนอันเหมินขัดขวางความต้องการในการลุกขึ้นต่อสู้กับพรรคคคอมมิวนิสต์จีน และเธอได้เดินทางไปพบกับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีสังหารหมู่เทียนอันเหมินด้วย ส่วนศิลปินชาวไต้หวันก็จำลองฉาก “Tank Man” ที่ชายสวมเชิ้ตขาวเดินไปยืนขวางไม่ให้รถถังเดินทางเข้าไปปราบนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ที่มา : Bloomberg, BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: