ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจำนวนมากถูกบังคับสูญหายระหว่างเดินทางออกนอกประเทศและเมื่อถึงประเทศปลายทางแล้ว แต่ปัญหานี้กลับถูกพูดถึงไม่มากนักในประเทศต่างๆ

กรณีที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยถูกอุ้มหายอย่างอุกอาจในกรุงพนมเปญของกัมพูชา เป็นกรณีล่าสุดของเหตุการณ์การหายตัวไปของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้คนหันมาสนใจเรื่องการอุ้มหรือการบังคับสูญหายกันมากขึ้น แต่การบังคับสูญหายผู้อพยพและผู้ลี้ภัยไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น

คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติเคยออกรายงานเมื่อปี 2560 เพื่อเตือนว่า ผู้อพยพเผชิญความเสี่ยงสูงต่อการถูกบังคับสูญหาย แม้จะมีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการบังคับสูญหายกับการอพยพลี้ภัย แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ และนานาชาติก็ยังไม่สนใจประเด็นนี้กันนัก และเลือกที่จะทำเป็นมองไม่เห็น โยนความผิดไปที่ประเทศอื่นหรือกลุ่มอาชญากร

รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า มีหลายคนที่ตัดสินใจอพยพ เพราะมีภัยคุกคาม หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับสูญหายในประเทศของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลอื่นๆ รวมถึงการบังคับสูญหายระหว่างการเดินทางอพยพ หรือแม้แต่ในประเทศปลายทาง ในกระบวนการกักตัว ระหว่างรอส่งกลับประเทศ หรืออาจเป็นผลมาจากการค้ามนุษย์

คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ “เพิ่มมาตรการป้องกันและต่อสู้ (การบังคับสูญหายผู้อพยพ) ในระดับประเทศอย่างจริงจังและเร่งด่วน” และต้องเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมเตือนว่า นโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้อพยพถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการบังคับสูญหายด้วย

คณะทำงานฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ รวบรวมข้อมูลของคนหายภายในประเทศและระหว่างการเดินทางข้ามประเทศ แล้วจัดให้เป็นระบบ รวมถึงใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดในการค้นหาและระบุตำแหน่งของผู้อพยพที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรด้านการสืบสวนสอบสวนทางกฎหมาย การคว่ำบาตรกลุ่มอาชญากรที่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อพยพ โดยเฉพาะกลุ่มค้ามนุษย์ และควรมีการสอบสวนข้อความกล่าวหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมเหล่านี้

OHCHR รายงานเกี่ยวกับเรื่องราวของมารีอา เอเลนา ลาริโอส ชาวเอลซัลวาดอร์ที่ตามหาลูกชายที่หายไประหว่างการอพยพไปประเทศอื่นเมื่อปี 2553 กล่าวว่าเธอตามหาลูกชายของเธอตามเรือนจำ โรงพยาบาล หรือแม้แต่บ่อขยะ เมื่อไปแจ้งความก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากนี้ เธอยังเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ตามเส้นทางการอพยพของลูกชาย

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ เขียนในรายงานว่า ความสนใจของญาติต่อกรณีที่ตามหาคนหายถือเป็นปัจจัยสำคัญให้มีความคืบหน้าในกลไกการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำ ความห่างไกลหรือไม่ค่อยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของประเทศที่คนๆ นั้นหายตัวไปเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ครอบครัวเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การสืบสวนสอบสวนได้ยากขึ้น ซึ่งนอกจากจะกระทบสิทธิของญาติคนหายตัว ยังกระทบต่อประสิทธิภาพในการค้นหาคนหายอีกด้วย