หลังพาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าไปสู่รัฐสภาได้เป็นที่เรียบร้อย (แม้ถูกปัดตกไปในภายหลัง) ล่าสุด 'ไอลว์' (iLaw) หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน จัดทำรายงานรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณสถาบันสูงสุดของไทยย้อนหลังถึง 10 ปี เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินภาษีของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2563-2564 ที่ทั้งไทยและโลกกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง
ในรายงานที่ตีพิมพ์เมื่อ 3 ม.ค. 2564 ไอลอว์ จำแนกงบประมาณบางส่วนที่ผ่านการศึกษาออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
'วอยซ์' เรียบเรียงข้อมูลจากงบประมาณส่วนที่หนึ่ง เพื่อชวนคนอ่านทำความเข้าใจถึงเม็ดเงินงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ 3 หน่วยงานของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงอันได้แก่ สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และส่วนราชการในพระองค์
ไอลอว์ระบุว่า นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา มี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย คือ 'สำนักพระราชวัง' ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและถวายงานต่อราชวงศ์ ตลอดจนการจัดพระราชพิธีต่างๆ ขณะที่อีกหน่วยงานหนึ่งคือ 'สำนักราชเลขาธิการ' ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในเชิงเลขานุการต่อราชสำนักไปจนถึงการเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสาธารณชน
อย่างไรก็ดี เมื่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ออกมา ณ วันที่ 28 เม.ย.ของปีเดียวกันหน่วยงานทั้งสองถูกโยกไปอยู่ใต้ 'ส่วนราชการในพระองค์' ซึ่งตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่าส่วนราชการในพระองค์ "ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด"
ทั้งนี้ ไอลอว์ อธิบายเพิ่มว่า "ไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ หมายความว่า ส่วนราชการในพระองค์ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบตามระบบกฎหมายปกครอง อีกทั้งรายได้ของส่วนราชการในพระองค์ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (ถ้าเป็นรายได้แผ่นดินจะนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป) แต่ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการในพระองค์ด้วย"
ด้วยเหตุนี้ การพิจารณางบสถาบันฯ จึงต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1.ระหว่างปี 2554 - 2560 สำหรับงบของ สำนักพระราชวัง และ สำนักราชเลขาธิการ และ 2.นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ภายใต้ส่วนราชการในพระองค์
เมื่อนำตัวเลขระหว่าง 2 หน่วยงานสำคัญรวมกันตลอดตั้งแต่ปี 2554 - 2560 พบว่ามียอดงบประมาณเฉลี่ยในช่วง 4 ปีแรกประมาณ 3,400 ล้านบาท ขณะที่เมื่อนับยอดรวมตั้งแต่ปี 2558 - 2560 พบว่ามียอมรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยสำนักพระราชวังใช้งบประมาณมากกว่าสำนักราชเลขาธิการ
อย่างไรก็ดี งบประมาณของสำนักราชเลขาธิการในปี 2558 กลับเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 50% ของงบประมาณเดิมในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นจากงบรวมราว 552,000 ล้านบาท เป็น 829,503 ล้านบาท ก่อนที่จะทยอยลดลงต่อเนื่องทั้งในปี 2559 และ 2560 ในสัดส่วนราว 22% และ 15% ตามลำดับ
ไอลอว์พบว่า ภายใต้งบประมาณของสำนักราชเลขาธิการนอกเหนือจากการจัดสรรงบบุคลากร งบดำเนินการ และงบเงินอุดหนุน ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับองคมนตรี ตลอดจนงบเงินอุดหนุนพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร
ในเอกสารงบประมาณ ปี 2559 พบว่า มีการตั้งงบประมาณรวม 87.5 ล้านบาท สำหรับรถประจำตำแหน่งประธานองคมนตรีและองคมนตรี (ทดแทนคันเดิม) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รวม 19 คัน
ขณะที่ การจัดสรรงบเงินอุดหนุนพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร ในปีงบประมาณ 2554 ตั้งไว้ที่ 10 ล้านบาท ก่อนขยับขึ้นมาเป็น 15 ล้านบาท ในปี 2555, 2556 และ 2557 และขยับขึ้นมาเป็น 20 ล้านบาท ในปี 2558, 2559 และ 2560
ทั้งนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2561 หลังมีการโยกย้ายสังกัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 งบประมาณของ 'ส่วนราชการในพระองค์' เริ่มต้นปีราว 4,190 ล้านบาท ในปี 2561 ก่อนจะปรับสูงขึ้นราว 62% ในปีต่อมา ส่งให้ตัวเลขงบรวม ณ ปี 2562 ขยับขึ้นมาเป็น 6,800 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณของปี 2563 และ 2564 ปรับขึ้นมาเป็น 7,600 ล้านบาท และ 8,980 ล้านบาท ตามลำดับ
ไอลอว์ ชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา รายละเอียดของการจัดสรรงบประมาณส่วนพระองค์เป็นไปแบบกว้างๆ และไม่ได้มีการระบุลงรายละเอียดมากนัก
อย่างไรก็ดี ในฝั่งการเบิกจ่ายจริงนั้น เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หน้าที่ 125 ระบุผลการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ พบว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 - 28 กันยายน 2561) จากงบประมาณราว 4,190 ล้านบาทที่ตั้งไว้ มีการเบิกจ่ายจริงราว 6,390 ล้านบาท คิดเป็นการเบิกจ่ายสูงกว่าที่ตั้งงบไว้ราว 150%
ขณะที่ตามเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 หน้าที่ 159 ระบุผลการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ พบว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 - 30 กันยายน 2562) จากงบประมาณทั้งสิ้น 6,800 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วจำนวน 6,800 ล้านบาท คิดเป็นการเบิกจ่ายเต็มจำนวนที่ตั้งไว้ในกฎหมาย
อ้างอิง; iLaw