ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบตาม ป.ป.ท.เสนอ ตั้งกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุมเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส ลดโอกาสทุจริต ตรวจสอบ พร้อมดำเนินมาตรการทางปกครองวินัย-อาญา ดึงภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมผ่านเว็บไซต์-แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส /การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต/ การตรวจสอบ / การดำเนินมาตรการทางปกครองวินัยและอาญา หวังดึงภาคประชาชน เอกชน เป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสการทุจริต ผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ https://govspending.data.go.th/ หรือ ค้นหาได้ผ่านคำสำคัญว่า "ภาษีไปไหน"

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เสนอให้ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้ง รัฐ สังคม เอกชนและประชาชน เพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ใน 4 ด้าน ดังนี้

การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการต้องเปิดเผยข้อมูลแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ผล สัมฤทธิ์ของโครงการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชน เอกชนร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะการทุจริตทางเว็บไซต์และจุดบริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (ภาษีไปไหน) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตหรือความเดือดร้อนในพื้นที่ที่มีการใช้งบประมาณ เปิดช่องทางรับแจ้งเบาะแส แจ้งการทุจริตของประชาชนเชื่อมโยงระบบรับเรื่องร้องเรียนของทุกหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางหรือทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ  

การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ก่อนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ 

การตรวจสอบ ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ตรวจสอบการดำเนินโครงการ หากมีเหตุสงสัยหรือเรื่องร้องเรียน 

การดำเนินมาตรการทางปกครองวินัยและอาญา โดยหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางปกครอง วินัย และอาญากับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม   

ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานที่เบิกจ่ายงบประมาณ อย่างเข้มงวดและจริงจังสอดคล้องกับแถลงการณ์องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ที่ให้ประเทศสมาชิกระมัดระวังการจ่ายงบประมาณ มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย

สำหรับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มูลค่ารวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้ 

1) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 45,000 ล้านบาท 

2) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 555,000 ล้านบาท

3) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 400,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :