ไม่พบผลการค้นหา
'พล.อ.ประยุทธ์' ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมในเวที COP21 ย้ำจุดยืนจะร่วมผลักดันให้การเจรจาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

'พล.อ.ประยุทธ์' ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมในเวที COP21 ย้ำจุดยืนจะร่วมผลักดันให้การเจรจาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

พิธีเปิดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 (COP21) เมื่อวานนี้ (30 พ.ย. 58) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้นำกว่า 150 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมและผลัดกันขึ้นแถลงวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขึ้นกล่าวคำแถลงโดยแสดงจุดยืนว่า จะร่วมผลักดันให้การเจรจาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน อีกทั้งยังได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และเป็นปัญหาต่อเกษตรกร

พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ประเทศกำลังพัฒนาอาจเกิดปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น นั่นก็คือสงครามแย่งชิงน้ำ พร้อมกันนี้ ยังเสนอแนะว่าต้องทำให้อุตสาหกรรมสีเขียวเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและยังเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้ประเทศพัฒนาแล้วถ่ายทอดความรู้ ร่วมวิจัยพัฒนาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซที่ 20-25% ภายในปี 2030 โดยจะมีมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ ลดการขนส่งทางถนน เพิ่มการขนส่งระบบราง ขจัดการบุกรุกป่า ทำแผนจัดการน้ำ และทำโรดแมปลดหมอกควัน รวมไปถึงจะมีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดการพัฒนารูปแบบประชารัฐ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

ด้าน นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า การประชุม COP21 จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และเสนอให้ข้อตกลงใหม่ ซึ่งต้องมีเนื้อหาที่นำไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคืนสภาพภูมิอากาศ โดยยังได้เสนอแนวทางการเจรจาข้อตกลง 4 ข้อ ได้แก่

1.ข้อตกลงต้องคงอยู่ยาวนาน มีวิสัยทัศน์ในระยะยาวเพื่อจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และสามารถส่งสัญญาณชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ข้อตกลงต้องสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจโลก โดยที่ไม่ต้องมีการเจรจาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซซ้ำแล้วซ้ำอีก สามารถสร้างความสมดุลระหว่างประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาในด้านขีดความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3. ข้อตกลงต้องคำนึงถึงกลุ่มคนยากจนและเปราะบาง มีมาตรการสนับสนุนการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบในประเทศกำลังพัฒนา

4. ข้อตกลงต้องน่าเชื่อถือ มีมาตการดูแลเรื่องความโปร่งใส การติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ นายบัน คีมูน ได้เรียกร้องให้ใช้มาตรการลดก๊าซในทุกภาคเศรษฐกิจอีกด้วย สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เรียกร้องให้มีการเจรจาข้อตกลงที่มีความหมาย และมีความตั้งใจในการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงใจ


ที่มา: Greennews

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog