คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุ่มงบประมาณ 25 ล้านบาท ปรับปรุงห้องสมุดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป ที่ไม่ใช่สถานที่เพื่อยืมหนังสือเท่านั้น
นี่คือโฉมใหม่ของห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากการตกแต่งภายในที่ร่วมสมัย เรียบง่าย น่าใช้งาน สิ่งที่สังเกตได้ คือไม่พบชั้นหนังสือ แม้แต่ชั้นเดียว
นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น และดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น จะลบมายาคติความเป็นห้องสมุด ที่หลายคนคุ้นเคยไปด้วย
‘อินเทอร์แอกทีฟ เลิร์นนิง สเปซ’ ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถใช้เสียงได้เต็มที่แต่ยังเป็นห้องประชุมกลุ่มย่อย ที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี เอื้อให้ผู้ใช้งานแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน อันเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างนวัตกรรม
ห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก 6 ห้อง มีเบาะสำหรับนอนรับชมสื่อมัลติมีเดียได้ตามอัธยาศัย มุมนี้ถูกเรียกว่า เดอะ บ็อกซ์ คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งในแต่ละกล่อง สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ที่ต้องการสืบค้นข้อมูลนอกตำราในอินเทอร์เน็ต พร้อมกับการพักผ่อนในตัว เพื่อลดความตึงเครียด
ทีมศึกษาวิจัย บอกว่า การปรับปรุงสภาพแวดล้อมเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญคือตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้งาน เพราะนิสิตส่วนใหญ่ต้องการให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่อ่านหนังสือส่วนตัวและพักผ่อน ตลอดจนใช้ติวหนังสือกับเพื่อน มากกว่าการยืมคืนหนังสือ
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม ใช้เวลาปรับปรุงห้องสมุดเกือบ 1 ปี ด้วยงบประมาณจากกองทุนนวัตกรรม วิศวฯ จุฬาฯ ราว 25 ล้านบาท จากกองทุนนวัตกรรมวิศวฯ จุฬาฯ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า การสร้างห้องสมุดที่มีคุณภาพ คือ การสร้างสังคมอุดมปัญญา ที่ลงทุนมหาศาลแค่ไหน ก็ถือว่าคุ้มค่า