ไม่พบผลการค้นหา
พระประธานในอุโบสถวัดกัลยาณมิตร เป็นเพียงองค์เดียวในประเทศไทยที่เป็นพระพุทธรูปหล่อปางป่าเลไลยก์ อีกทั้งจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ยังมีภาพ ‘หมอบรัดเลย์’ และเรือนแพโอสถศาลาของมิชชันนารีผู้นี้

พระประธานในอุโบสถวัดกัลยาณมิตร เป็นเพียงองค์เดียวในประเทศไทยที่เป็นพระพุทธรูปหล่อปางป่าเลไลยก์ อีกทั้งจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารยังมีภาพ ‘หมอบรัดเลย์’ และเรือนแพโอสถศาลาของมิชชันนารีผู้นี้

 

เมื่อเร็วๆนี้ โครงการส่งเสริมความเข้าใจศิลปวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายหน่วยงาน จัดทัศนศึกษา “ย่านสามกุฎี” ในอาณาบริเวณวัดกัลยาณมิตร

 

สามกุฎีที่ผู้ประสานงาน อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเพื่อนคณาจารย์ผู้เป็นวิทยากรร่วมบรรยาย นำพากลุ่มผู้สนใจเดินเท้าไปเยี่ยมชม ประกอบด้วยกุฎีขาวหรือมัสยิดบางหลวง กุฎีฝรั่งหรือวัดซางตาครู้ส และกุฎีจีนซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้ากวนอันเก๋งกับบริเวณวัดกัลยาณมิตร

 

ที่วัดกัลยาณมิตร กลุ่มผู้สนใจได้เข้าชมพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์  ซึ่งนับเป็นอุโบสถเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อที่แสดงปางนี้เป็นพระประธาน พร้อมกันนั้น ยังได้ชมโบราณวัตถุสถานอีกหลายอย่าง

 

 

วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ หันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ครั้งยังเป็นพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ได้อุทิศบ้านเรือนและซื้อที่ดินละแวกบ้านกุฎีจีน สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น

 

 

จุดเด่นของวัดกัลยาณมิตร หรือที่มักออกเสียงกันว่า วัดกัลยาณ์ คือ วิหารหลวง ขนาดสูงใหญ่ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโต หรือที่คนจีนเรียกว่า ซำปอกง

 

 

ด้านหน้าวิหารหลวง มีซุ้มประตูศิลา ที่เรียกว่า ซุ้มโขลนทวาร สลักลวดลายมงคลแบบจีน เช่น มังกร กิเลน และรูปฮก ลก ซิ่ว ในประเทศไทย มีวัดแค่ 2 แห่งเท่านั้นที่มีซุ้มโขลนทวารแบบนี้ อีกแห่่งหนึ่งอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ

 

 

ซุ้มโขลนทวาร หน้าวิหารพระโลกนาถ วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ

 

 

หน้าบันของวิหารหลวง ทำด้วยไม้ แกะสลักลายดอกพุดตาน ปิดทองประดับกระจกสี

 

 

ภายในวิหารหลวง ประดิษฐานพระโต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามว่า พระพุทธไตรรัตนนายก คนจีนมักเรียกว่า ซำปอกง เช่นเดียวกับหลวงพ่อโต ที่วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา

 

 

ขณะที่วิหารหลวงเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี วิหารน้อยมีลักษณะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือ ผสมผสานศิลปกรรมไทย-จีน หลังคาไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เสาเฉลียงเรียบเกลี้ยงไม่มีบัวหัวเสา

 

 

พระประธานในวิหารน้อย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีนามว่า พระพุทธดิลกโลกเชษฐ์ บนผนังรอบวิหารน้อย เขียนจิตรกรรมภาพพระอดีตพุทธเจ้า 

 

 

ภายในวิหารน้อย มีภาพโอสถศาลาที่เป็นเรือนแพของหมอบรัดเลย์ วาดประกอบอยู่ในภาพอดีตพุทธเจ้า บนเรือนแพมีคนไข้กำลังรับการรักษา ภายในบ้านปรากฎภาพหมอบรัดเลย์กับภรรยา เอมิลี รอยซ์ บรัดเลย์ กำลังจูงมือกัน มีบันทึกว่า คณะมิชชันนารีได้มาเช่าบ้านที่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ปลูกให้เช่าที่หน้าวัดประยุรวงศ์ ภาพนี้จึงวาดจากสถานที่จริงริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 

ที่ท่าน้ำข้างเรือนแพโอสถศาลา ปรากฏภาพแฝงอารมณ์ขันของช่างเขียน

 

 

พระอุโบสถ สร้างเมื่อพ.ศ.2370 เช่นเดียวกับวิหารน้อย มีขนาดและรูปทรงทำนองเดียวกับวิหารน้อย

 

 

หน้าบันพระอุโบสถ แบ่งพื้นที่เป็นสามเหลี่ยมรูปเล็กในสามเหลี่ยมรูปใหญ่ ประดับชิ้นกระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน ทำเป็นลายช่อดอกไม้

 

 

พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหล่อปางป่าเลไลยก์ ประทับนั่งบนฐานบัวเหนือก้อนศิลา ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ เป็นรองพระประธาน

 

 

พระประธานมีขนาดใหญ่กว่าคนจริงราวเท่าครึ่ง ห้อยพระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางหงาย เป็นกิริยาทรงรับของถวาย พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำ มีรูปหล่อช้างปาลิไลยก์ชูงวงถือกระบอกน้ำ หมอบที่พื้นข้างขวา และมีลิงถือรวงผึ้งทางด้านซ้ายขององค์พระ

 

 

บนผนังด้านหน้าพระประธานในอุโบสถ มีจิตรกรรมภาพพุทธประวัติ ตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ด้านล่างเป็นฉากท่าน้ำหน้าประตูเมือง

 

 

ที่ท่าน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา เป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา จิตรกรรมฝาผนังส่วนนี้สะท้อนวิถีชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 3

 

 

ในวัดกัลยาณมิตรยังมีหอพระไตรปิฎกอันสวยงามน่าชมด้วย รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น พระราชทานนามว่า หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ

 

 

ตัวอาคารเป็นแบบไทยประเพณี หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีระเบียงล้อมรอบ หน้าบันสลักลายเปลวปิดทองประดับกระจกสี ตรงกลางสลักเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฏ ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า รอบๆสลักเป็นรูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซุ้งประตูหน้าต่างปั้นลายดอกไม้ ตรงกลางปั้นเป็นตราพระมหาพิชัยมงกุฏ.

 

แหล่งข้อมูล

 

วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร.  (2553). e-MoF Magazine. (พฤศจิกายน).

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ธนบุรี

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ธนบุรี

ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี

ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog