นักวิชาการเห็นแย้ง "การลอยกระทง" เป็นประเพณีที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้น ช่วงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ระบุไว้
กลุ่มนักดนตรี จากวงดนตรีสะบัดลายแบรนด์ บรรเลงเครื่องดนตรี ในทำนองเพลงที่เกี่ยวข้องกับงานประเพณีลอยกระทง ควบคู่ไปกับบทเพลง ที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ เนื่องจากการแสดงดนตรี และสายน้ำ มีความสัมพันธุ์ระหว่างกัน
ในงานเสวนาเรื่อง 'ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก' จัดโดยฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการประวัติศาสตร์ เปิดเผยว่า ประเพณีลอยกระทง ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย และไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ระบุไว้
พร้อมให้เหตุผลว่า งานลอยกระทงที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นประเพณีประดิษฐ์ หรือสร้างขึ้นใหม่ เริ่มมีขึ้นขั้นแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ในช่วงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่งผลให้ประเพณีลอยกระทงถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา
อีกทั้ง สุโขทัยเป็นเมืองน้ำแล้ง ตั้งอยู่บนดอนเชิงเขา จึงต้องขุดตระพังเก็บน้ำ ขณะที่การลอยกระทง มีต้นทางมาจากประเพณีพิธีกรรม ประจำฤดูน้ำหลาก เพื่อขอขมาเจ้าแม่ที่สิงอยู่ในน้ำและดินในธรรมชาติของศาสนาผี
ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีความประสงค์ที่จะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย และมีความลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้ที่รอบด้าน
ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงานเสวนา ที่ต้องการสร้างความตระหนักรู้ว่า ประเพณีแห่เรือ และการลอยกระทง เป็นวัฒธรรมประดิษฐ์ โดยวัฒธรรมการลอยกระทง และประเพณีที่เกี่ยวข้อง มีความหลากหลายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ และเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในพื้นที่เมนแลนด์ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะเป็นวัฒนธรรมน้ำร่วมราก