ไม่พบผลการค้นหา
เที่ยวชมวัดสมุหประดิษฐาราม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ยลศิลปะแบบราชสำนักสยาม ผสมผสานศิลปกรรมแบบจีน อีกทั้งภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวไท-ยวน สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เที่ยวชมวัดสมุหประดิษฐาราม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ยลศิลปะแบบราชสำนักสยาม ผสมผสานศิลปกรรมแบบจีน อีกทั้งภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวไท-ยวน สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

 

 

วัดสมุหประดิษฐ์ เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เรียกชื่อเต็มว่า วัดสมุหประดิษฐาราม ตั้งอยู่ที่ถนนพิชัยรณรงค์สงคราม ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

 

 

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ มหินทรมหากัลยาณมิตร (โต) ที่สมุหนายก  สร้างวัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3  เมื่อสร้างวัดสมุหประดิษฐ์เสร็จแล้ว ได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ผู้เป็นต้นตระกูลกัลยาณมิตรท่านนี้ ยังได้สร้างวัดกัลยาณมิตร ที่ฝั่งธนบุรี ด้วย

 

 

อุโบสถสร้างเสร็จเมื่อประมาณ พ.ศ.2404

 

 

หน้าบันเป็นปูนปั้นรูปตราแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ประดับลวดลายดอกไม้และสิงห์ สัญลักษณ์กระทรวงมหาดไทย

 

 

อิทธิพลศิลปกรรมจีน ที่ซุ้มประตูกำแพงแก้ว ด้านหน้าพระอุโบสถ

 

 

ใบสีมาทางด้านหลังอุโบสถ

 

 

กรอบซุ้มประตูด้านหลังอุโบสถ และลวดลายเซี่ยวกางบนบานประตู เป็นทวารบาลแบบจีน ยืนบนหลังสิงโต 

 

 

พระประธานในอุโบสถ มีนามว่า พระพุทธรัชกัลยาณมิตรประดิษฐาราม เป็นพระปางมารวิชัย หล่อโลหะลงรักปิดทอง อัญเชิญมาจากสุโขทัย ภายในโบสถ์มีจิตกรรมฝาผนัง

 

 

เหนือช่องหน้าต่างทั้งสี่่ด้าน เขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง บนผนังด้านขวาหลังพระประธาน เขียนภาพวิถีชีวิต จิตรกรรมภายในอุโบสถเขียนด้วยฝีมือสกุลช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ในคราวบูรณะวัดทั่วทั้งพระอาราม

 

 

ภาพการละเล่นพื้นบ้าน เช่น ตะกร้อ ขี่ม้าส่งเมือง และการเล่นเพลงของหญิงชาย

 

 

ผนังด้านซ้ายของพระประธาน เขียนเรื่องพระสมุทรโฆษ

 

 

พระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดี บรรทมหลับอยู่ในปราสาท วิทยาธรตนหนึ่งมาขโมยเอาลูกแก้ววิเศษไป

 

 

ผนังด้านหน้าซ้ายของพระประธาน เขียนเรื่องพระสมุทรโฆษ ตอนล่างเป็นภาพงานประเพณีชาวบ้าน คือ แห่กระทงเสียหัว

 

 

ประเพณีแห่กระทงเสียหัว จัดขึ้นเมื่อหมอดูตรวจโชคชะตาของบุคคลใดแล้วทำนายว่าผู้นั้นจะประสบเคราะห์ร้าย จึงต้องจัดกระทงเสียหัวแห่ถวายผีบ้านผีเรือน หรือเทวดาเจ้าป่าเจ้าเขา บนบานขอให้หลุดพ้นจากเคราะห์ แล้วนำไปลอยในแม่น้ำเป็นการปล่อยเคราะห์ไป ในขบวนแห่จะมีคนนำหน้าแถวถือฆ้องโหม่ง ดอกไม้ ขลุ่ยอ้อ ฉัตรซ้อนโปร่งสามชั้น ตามหลังด้วยกลุ่มนักดนตรีพื้นบ้าน

 

 

ผนังด้านหน้าขวาของพระประธาน เขียนภาพงานแห่บั้งไฟ มีชายเป่าแคนร่วมขบวน

 

 

ขบวนนักดนตรีพื้นบ้าน เป็นชายล้วน เดินนำขบวนแห่บั้งไฟ เครื่องดนตรีมีแคน ฆ้องโหม่ง ปี่ ฉาบ และกลองชนะ ต่างร่ายรำในลีลาครึกครื้น

 

 

หญิงชาวบ้านผู้สืบเชื้อสายไท-ยวน พากันมาดูแห่บั้งไฟ ชนชาติไท-ยวนในแถบอำเภอเสาไห้เคลื่อนย้ายมาจากภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

 

 

พวกผู้หญิงและเด็กนั่งชมขบวนบั้งไฟเป็นกลุ่มๆ ตามข้างทางบ้าง บนบ้านเรือนบ้าง

 

 

ผนังด้านขวาพระประธาน เขียนเรื่องหลวิชัย-คาวี

 

 

ลูกเสือกับลูกวัวเดินมาพบฤาษี ฤาษีชุบชีวิตให้ทั้งสองกลายเป็นคน ลูกสื้อได้ชื่อว่า หลวิชัย ลูกวัวได้ชื่อว่า คาวี ร่ำเรียนศิลปวิทยา

 

 

ด้านข้างพระอุโบสถ มีเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีบันได 4 ด้าน นัยว่าเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ผู้สร้างวัด ได้บรรจุอัฐิธาตุของมารดาไว้ พระเจดีย์องค์นี้สร้างพร้อมกับอุโบสถ

 

 

บนหอสวดมนต์ มีตุ๊กตาจีน 2 ตัว เดิมตั้งไว้หน้าอุโบสถ ไม่ทราบว่าได้มาจากที่ใด ใครเป็นผู้ถวายให้วัด

 

 

ตุ๊กตาเป็นหินเขียวแกะสลัก ตั้งไว้ประจำเสา ด้านหน้าพระพุทธรูปบนหอสวดมนต์

 

 

บนหอสวดมนต์ยังมีธรรมาสน์ลายทอง ปรากฏพระปรมาภิไธยย่อ จปร. เป็นสังหาริมวัตถุที่พระราชทานในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

 

พระอุโบสถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอสวดมนต์ ไม่ได้เปิดให้เข้าชมเป็นการทั่วไป ผู้สนใจอาจติดต่อท่านเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์ผู้ดูแล.

 

เอกสารอ้างอิง

 

พระมหาสุทัศน์ ปญญาวโร และคณะ. (2553).  วัดสมุหประดิษฐาราม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี.  กรุงเทพฯ : เอ.เอ็ม เซอร์คิตเพรส.

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ธนบุรี

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ธนบุรี

ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog