ไม่พบผลการค้นหา
จิตรกรรมในโบสถ์หลังเก่า วัดจันทบุรี อำเภอเสาไห้ โดดเด่นด้วยภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวไทยวน ทั้งภาพเขียนและตัวอาคารเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

จิตรกรรมในโบสถ์หลังเก่า วัดจันทบุรี อำเภอเสาไห้ โดดเด่นด้วยภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวไทยวน ทั้งภาพเขียนและตัวอาคารเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

 

 

วัดจันทบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่มีข้อสันนิษฐานจากชื่อ ว่า มาจากคำว่า "จันทบุรีศรีศัตนาค" ซึ่งเป็นอีกนามหนึ่งของนครเวียงจันทน์ สอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวในเขตเมืองสระบุรี ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3

 

 

ลักษณะของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม บ่งบอกว่า อุโบสถหลังเก่าของวัด สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทยกับจีน เป็นแบบพระราชนิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

 

 

หน้าบันก่ออิฐฉาบปูน ประดับลวดลายปูนปั้น ด้านบนสุดปั้นเป็นรูปดอกไม้ ประดับชามกระเบื้องเคลือบเป็นเกสร รายล้อมด้วยกลีบดอกและลายปูนปั้น ถัดจากปูนปั้นกรอบหน้าบันเข้ามา ประดับลายหน้ากระดานเป็นกรอบสามเหลี่ยมซ้อนกัน 2 ชั้น ลายหน้าบันปั้นปูนประดับลวดลายดอกไม้เต็มทั้งหน้าบัน ขอบด้านล่างของหน้าบันประดับลายหน้ากระดานทางนอน ถัดลงมา ตลอดความยาวของขอบล่างสุดประดับกระจัง

 

 

อุโบสถมีขนาด 7 ห้องเสา หลังคาทรงจั่วตับเดียว มุงกระเบื้องดินเผา โครงสร้างเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก

 

 

ผนังด้านหน้าก่อซุ้มบันแถลงซ้อน 2 ชั้น ใช้สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ประตูทางเข้าอุโบสถมี 2 ตำแหน่ง ขนาบทั้งสองข้างของซุ้มบันแถลง 

 

 

ซุ้มประตูเป็นทรงอย่างเทศ งานปูนปั้นกรอบช่องประตูประดับลายหน้ากระดาน ลายเครือเถาดอกพุดตาน-ใบเทศ ตอนบนของซุ้มบรรจุลวดลายพฤกษชาติ ภายในกรอบทรงสามเหลี่ยมประดับถ้วยชามกระเบื้องเคลือบเป็นเกสรดอกไม้ คล้ายกับลวดลายหน้าบัน บานประตูด้านนอกและด้านในทาสีเข้ม ไม่มีลวดลายประดับ

 

 

ผนังด้านหลัง ก่อเป็นผนังทึบ

 

 

ผนังด้านข้างฉาบเรียบ เจาะเป็นช่องหน้าต่าง ด้านละ 5 ช่อง

 

 

ซุ้มหน้าต่าง ทรงอย่างเทศ ประดับปูนปั้นลวดลายพฤกษชาติ คล้ายซุ้มประตู บานหน้าต่างทั้งด้านนอกด้านในทาสีเข้ม ไม่ประดับลวดลาย เช่นเดียวกับบานประตู

 

 

ภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานปางสมาธิ หน้าพระประธานมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย 2 องค์ กับพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดย่อมอีก 2 องค์

 

 

บนผนังเขียนภาพจิตรกรรม โครงสร้างขื่อทาสีแดงชาด 

 

 

บนเพดานประดับดาวเพดาน ทำเป็นลายฉลุปิดทอง

 

 

ที่ผนังเบื้องหน้าพระประธาน เขียนภาพพุทธประวัติ เหนือช่องประตู เป็นภาพตอนมารผจญ

 

 

ในฉากมารมจญ เมื่อวสวัตตีมาร ผู้เป็นพญามาร เข้าขัดขวางการบำเพ็ญเพียร พระพุทธเจ้าทรงชี้นิ้วลงดิน อ้างพระแม่ธรณีเป็นพยาน ที่พระองค์ได้สั่งสมบุญบารมีในอดีตชาติ 

 

 

พญามารยกทัพเข้าขัดขวางการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า (ภาพทางขวา) พระแม่ธรณีปรากฎกาย บีบมวยผมที่เก็บน้ำที่พระองค์เคยกรวดน้ำในทุกๆชาติ พัดพามวลหมู่มารแตกพ่ายไป (ภาพทางซ้าย)

 

 

กองทัพมารยกรี้พลสกลไกร

 

 

น้ำจากมวยผมของพระแม่ธรณี ท่วมกองทัพมาร ทำให้พวกมารยอมอ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ หลังจากนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญสมาธิ จนกระทั่งตรัสรู้ในเวลารุ่งเช้า

 

 

ที่ผนังระหว่างช่องประตู เขียนตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช)

 

 

ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เข้าประจำที่เท้าของม้ากัณฐกะ ซึ่งเป็นอัศวราชยาน แล้วพาเหาะข้ามกำแพงเมืองด้วยปาฏิหาริย์ มีพระอินทร์นำเสด็จ พระพรหมกางฉัตรถวาย นายฉันนะเกาะหลังม้าตามเสด็จ ขณะที่พญามาร วสวัตตี เข้าห้ามปราม 

 

 

ผนังด้านหลังพระประธาน เขียนภาพม่านลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง แหวกออกเป็นพื้นหลังสีเข้ม พื้นหลังบรรจุภาพดอกไม้ ผลไม้ อย่างเทศ

 

 

ภาพเขียน ลายผ้าม่าน หลังพระประธาน

 

 

ผนังด้านข้างตอนบนเหนือช่องหน้าต่าง เขียนภาพเทพชุมนุมทั้งสองด้าน ผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพเล่าเรื่อง ทางขวาของพระประธานเขียนภาพทศชาติชาดก ทางซ้ายเขียนภาพพุทธประวัติ

 

 

เหล่าอมนุษย์ต่างประนมหัตถ์ นั่งเรียงรายหันหน้าเข้าสักการะพระพุทธเจ้า ระหว่างเทพและยักษ์ คั่นด้วยพุ่มข้าวบิณฑ์ในลักษณะเครื่องบูชา พื้นหลังเขียนลายดอกไม้ร่วง ถัดขึ้นไปเขียนภาพเฟื่องอุบะดอกไม้

 

 

ปลายสุดของจิตรกรรมฝาผนังทั้งสองด้าน เป็นภาพพระพุทธเจ้า ประทับนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ดอกบัว

 

 

ภาพพุทธประวัติ ตอนพระอินทร์และพระพรหมทูลเชิญ ขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรดเหล่าเทวดาบนสวรรค์ ฉากในภาพแสดงอาคารเครื่องก่อแบบจีน

 

 

ภาพพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ชั้นบนสุดของเรือนซ้อนชั้น ชั้นล่างมีเหล่าพระสาวกนั่งอยู่เต็ม ฉากอาคารเป็นทรงเก๋งจีน บันไดทางขึ้นอยู่ภายนอก ด้านข้างเป็นหอระฆัง กำแพง และอาคารแบบจีน

 

 

ความโดดเด่นของจิตรกรรมในอุโบสถ อยู่ที่ฉากบ้านเรือน ผู้คนในท้องถิ่น ทางซ้ายในภาพมีเรือนแบบล้านนา หรือไทยวน เห็นได้จากกาแลเหนือจั่วบ้าน ฝาเรือนผายออก ยกใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด หญิงชาวบ้านห่มผ้าเฉวียงบ่า นุ่งผ้าซิ่นยาว เกล้ามวย บางคนไว้ผมมวยแบบลาว เด็กเปลือยกายไว้ผมจุก ชายไทยวนนุ่งผ้า ห่มผ้าขาวม้าเฉวียงบ่าขณะทำบุญ ไว้ผมทรงฝาละมี คือ โกนรอบศีรษะ เหลือเฉพาะบริเวณกระหม่อม ซึ่งเป็นทรงผมที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

 

ใกล้กับแถวของหญิงชาวบ้าน เป็นภาพบ้านของคหบดีชาวจีน เป็นตึกสองชั้นก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องกาบู ประตูหน้าต่างและหน้าจั่วประดับรูปผลไม้ รั้วบ้านเป็นกำแพงล้อมรอบ ประตูกำแพงเป็นซุ้มโค้งแบบจีน

 

 

ในภาพมหาภิเนษกรมภ์ ทหารรักษาวัง นุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุก มีผ้าคลุมศีรษะ กำลังหลับ ขณะเจ้าชายสิทธัตถะหลบออกจากปราสาทเพื่อออกบวช

 

นับว่าจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถหลังเก่า วัดจันทบุรี ควรค่าแก่การชม น่าเสียดายที่หลายภาพทางขวาของพระประธาน ซึ่งเล่าเรื่องชาดก 5 เรื่อง คือ เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมียราชชาดก และมโหสถชาดก มีสภาพลบเลือนไปมาก.

 

                                                                                      แหล่งข้อมูล


สมาคมการท่องเที่ยวสระบุรี.  วัดจันทบุรี

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ธนบุรี

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ธนบุรี

ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา

 

 

 

 

 

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog