ไม่พบผลการค้นหา
ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เคร่งศาสนา มีแนวโน้มมีพฤติกรรมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นน้อยกว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ไม่เคร่งศาสนาหรือไม่มีศาสนา

ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เคร่งศาสนา มีแนวโน้มมีพฤติกรรมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นน้อยกว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ไม่เคร่งศาสนาหรือไม่มีศาสนา

ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการด้านชีววิทยา Current Biology พบว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เคร่งศาสนา มีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจ รวมถึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นน้อยกว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวไม่เคร่งศาสนาหรือไม่มีศาสนา 

ผลวิจัยนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อความเชื่อทั่วไปอย่างมาก เพราะพ่อแม่ที่เคร่งศาสนามักคิดว่าการให้ลูกมีชีวิตผูกพันกับหลักธรรมทางศาสนา จะทำให้เด็กมีน้ำใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์มากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทียบกันแล้ว เด็กที่มีแนวโน้มจะแบ่งปันผู้อื่นมากที่สุด และมีความอ่อนไหวทางศีลธรรมมากที่สุด ก็คือเด็กที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่มีศาสนาเลย มากกว่าเด็กที่มีศาสนา แต่ไม่เคร่งศาสนาด้วยซ้ำ

จีน ดีซิที ผู้ทำวิจัยนี้ ทำการทดลองกับเด็กอายุ 5-12 ปี จำนวน 1,170 คน จากทั้งแคนาดา สหรัฐฯ จีน อินเดีย จอร์แดน ตุรกี เซาท์แอฟริกา โดยเด็กมาจากครอบครัวคริสต์และมุสลิม รวมถึงไม่มีศาสนาเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนเป็นฮินดูและพุทธ การทดลองทำโดยให้เด็กเล่น "เกมเผด็จการ" ที่จะให้ผู้เล่นเลือกสติกเกอร์ที่ตัวเองชอบ 10 ใบ แล้วแบ่งให้เด็กนักเรียนร่วมโรงเรียนที่พวกเขาไม่รู้จักมาก่อน และไม่มีโอกาสได้ร่วมเล่นเกมเพื่อครอบครองสติกเกอร์ ปรากฏว่าเด็กจากครอบครัวไม่มีศาสนา แบ่งสติกเกอร์ให้เด็กคนอื่นในปริมาณเฉลี่ยมากที่สุด 4.1 ใบ ขณะที่เด็กจากครอบครัวที่เคร่งศาสนา แบ่งสติกเกอร์ให้คนอื่นเฉลี่ยเพียง 3.3 ใบ โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเด็กแต่ละศาสนา นอกจากนี้ยังมีการให้เด็กดูหนังสั้น และให้คะแนนพฤติกรรมของตัวละครต่างๆ ว่าใครเป็นคน "เลว" แค่ไหน และควรถูกลงโทษอย่างไร ซึ่งปรากฏว่าเด็กจากครอบครัวเคร่งศาสนา มองว่าการทำร้ายร่างกายเป็นการกระทำที่เลวร้าย และควรต้องได้รับการลงโทษ มากกว่าเด็กที่ไม่มีศาสนา

ผลวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าศาสนาไม่จำเป็นต่อพัฒนาการด้านศีลธรรมของคน และการทำให้เรื่องของศีลธรรมเป็นเรื่องทางโลกมากกว่าศาสนา ก็ไม่ได้ทำให้มนุษย์ศีลธรรมเสื่อมทรามลง แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าม โดยผู้วิจัยให้เหตุผลว่าผู้ที่เชื่อว่าตนเองเคร่งศาสนา และทำตามหลักศาสนา จะเชื่อมั่นในตนเองสูงว่าเป็น "คนดี" ทำให้คิดว่าตนสามารถทำอะไรผิดหรือเกินขอบเขตศีลธรรมได้หากมีเหตุผลที่จำเป็น

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog