ไม่พบผลการค้นหา
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เผย เดินหน้า พัฒนาแนวทางบริหารจราจร รับมือการเติบโตเที่ยวบินที่ ทสภ.

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)  เผย เดินหน้า พัฒนาแนวทางบริหารจราจร รับมือการเติบโตเที่ยวบินที่ ทสภ.

คุณสาริณี แสงประสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า “จากแนวโน้มการเจริญเติบโตของปริมาณจราจรทางอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตถึง ๑๔% ซึ่งสูงสุดในอาเซียน ปัจจุบันมีปริมาณจราจรทางอากาศสูงถึง ๘๐๐,๐๐๐ เที่ยวบินต่อปี สาเหตุมาจากความต้องการเดินทางโดยเครื่องบินของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมายังประเทศไทยมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น และลง ณ สนามบิน และบินผ่านน่านฟ้าไทย มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ห้วงอากาศมีอยู่จำกัด ในบางช่วงเวลาที่ปริมาณจราจรทางอากาศคับคั่ง ความล่าช้าของเที่ยวบินอาจเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลโดยตรงต่อโอกาสการเติบโตด้านการท่องเที่ยว และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานการบินในประเทศไทยได้มีการร่วมมือกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน พร้อมวางแผนและดำเนินยุทธศาสตร์ ผ่านการจัดทำแผนหลักด้านการเดินอากาศชาติและแผนหลักการพัฒนาระบบสนามบินของประเทศไทยเชิงบูรณาการ รวมถึงแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางอากาศ เพื่อสนับสนุนนโยบายเปิดเสรีการบิน ซึ่ง บวท. เห็นว่าการทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  จะมีส่วนพัฒนาศักยภาพระบบการเดินอากาศไทยอย่างแน่นอน”

คุณสาริณีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานที่มีปริมาณเที่ยวบินเข้า-ออกเฉลี่ยสูงสุดถึง ๒๕,๘๔๙ เที่ยวบินต่อเดือน หรือ ๘๕๔ เที่ยวบินต่อวัน ถึงแม้ว่าขณะนี้       ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังไม่ประสบปัญหาปริมาณเที่ยวบินสูงกว่าความสามารถในการรองรับในกรณีทางวิ่ง ๒ เส้น สามารถใช้งานได้จริง บวท.ในฐานะหน่วยงานให้บริการจราจรทางอากาศ ได้ทำการวิเคราะห์ประเมินความสามารถในการรองรับของทางวิ่ง ๒ เส้น พบว่าค่าความสามารถในการรองรับจริงของทางวิ่งทั้งสองเส้นอยู่ที่ ๖๘ เที่ยวบินต่อชั่วโมง ในขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนเที่ยวบินสูงสุด ๖๓ เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าค่าความสามารถในการรองรับจริงเพียง ๕ เที่ยวบินต่อชั่วโมงเท่านั้น และในบางช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงทางวิ่ง ทางขับ แน่นอนว่าความสามารถในการรองรับจะยิ่งน้อยลง”


บวท. จึงได้เตรียมแนวทางและมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าว เพื่อควบคุม บริหารจัดการปริมาณจราจรทางอากาศในช่วงเวลาที่หนาแน่นไม่ให้เกินขีดความสามารถในการรองรับ เป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น โดยใช้หลักการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศมาใช้  ทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้สามารถวางแผนล่วงหน้าในการปฏิบัติการบินได้ อีกทั้งได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ระบบ Departure Flow Management มาใช้ในการบริหารจัดการสำหรับเที่ยวบินขาออกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งมีการจัดลำดับให้มีการสลับทิศทางการบิน และเส้นทางบิน เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของเที่ยวบิน

ทั้งนี้ บวท. ได้ดำเนินการวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลสถิติการให้บริการจราจรทางอากาศในช่วงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง มีการปรับปรุงทางวิ่ง ทางขับ ที่ผ่านมา พบว่า จากการต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้าย ส่งผลให้สายการบินได้รับผลกระทบความล่าช้าของอากาศยานทั้งในส่วนภาคพื้นและการบินวนรอในภาคอากาศสูงสุดถึง ๔๐ เที่ยวบินต่อชั่วโมง แต่ผลจากการปฏิบัติงานที่เป็นไปตามมาตรการและแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ มีส่วนช่วยลดความล่าช้าได้มากกว่าร้อยละ ๕๐ อีกทั้งยังช่วยลดค่าเฉลี่ยความล่าช้าที่เกิดขึ้น จากเดิมที่ค่าเฉลี่ยความล่าช้าสูงสุด เที่ยวบินละ ๓๐ นาที ลดลงเหลือไม่เกินเที่ยวบินละ ๑๐ นาที เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาความล่าช้าในช่วงวิกฤติให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดในการขอใช้พื้นที่หวงห้ามต่างๆ ของทหาร ในช่วงที่ไม่มีการฝึก การจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ ๆ ที่ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและความหนาแน่นของปริมาณจราจรทางอากาศ การปรับปรุงแนวทางเครื่องบินขาเข้าและขาออกท่าอากาศยาน เป็นต้น ซึ่ง บวท. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบจราจรทางอากาศทั้งในส่วนของห้วงอากาศ เส้นทางบิน และเทคโนโลยีระบบ-อุปกรณ์สนับสนุนการบริการจราจรทางอากาศ ให้สอดคล้องรองรับปริมาณจราจรที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น จึงได้ลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบบ อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสูงในคราวเดียวกันทั่วประเทศ โดยเปลี่ยนแปลงจากการให้บริการแบบ Semi - Automation เป็น Fully Automation โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะมาช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศของประเทศไปได้อีก ๗ – ๑๐ ปีข้างหน้า โดยในปี ๒๕๖๐ ระบบเทคโนโลยีใหม่นี้จะมาช่วยสนับสนุนพัฒนาระบบการจราจรทางอากาศให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางอากาศของประเทศให้แข่งขันได้ วิทยุการบินฯ ให้ความมั่นใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ว่า จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีระบบบริการการเดินอากาศที่มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นไปตามมาตรฐานและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการบินของโลก”

 

ที่มาข้อมูล : กองสื่อสารองค์กร บวท.

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog